IOD คัดชื่อ CPALL ทิ้ง เหตุสอบตกธรรมาภิบาล
IOD คัดชื่อ CPALL ทิ้ง เหตุสอบตกธรรมาภิบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) สนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผยผลสำรวจคะแนน CGR ประจำปี 2559 ของบจ.ไทย 601 บริษัท โดยพบว่าบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน CGR ประจำปี 2559 เนื่องจากไม่พบชื่อ CPALL ปรากฎอยู่ในรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์, นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล, นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล, นายอธึก อัศวานันท์, นายสมศักดิ์ เจียรวิสิฐกุล และนางสาวอารียา อัศวานันท์ ได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ในช่วงช่วงปี 58 จนทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับผู้บริหารและพรรคพวกจำนวน 6 ราย วงเงินรวมกว่า 34 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ถือว่าผิดกฎเกณฑ์ของการบรรษัทภิบาล (Corporate Governance : CG) และขัดแย้งกับข้อประกาศอย่างชัดเจน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ CPALL ผ่านการประเมิน CGR ของ IOD ด้วยคะแนน 3 ดาว ในการประเมินของปี 2558 โดยล่าสุด ไม่พบชื่อ CPALL ดังรายชื่อบริษัทที่ได้ผลคะแนนระดับดี-ดีเลิศ และ Top Quartile แต่ละกลุ่ม ประจำปี 2559 ดังนี้ คลิ๊กอ่านรายชื่อ
โดย ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยในงานสัมมนานำเสนอผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2559 (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2016) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ว่า ในปีนี้ บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มีพัฒนาการทางด้าน CG ที่ดีขึ้น โดยยังคงได้รับคะแนนการประเมินทางด้าน CG ในระดับที่ดี จากการสำรวจ บจ. ทั้งหมด 601 บริษัท มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าปี 2558 (588 บริษัท) ที่มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายหมวดของผลสำรวจในปี 2559 จะพบว่า ปีนี้ บจ. ได้รับคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยหมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มี 4 หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสและการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 92, 92, 82 และ 74 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่วนหมวดที่มีคะแนนเฉลี่ยในระดับ 60 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 68 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบจำนวนบริษัทตามผลการสำรวจที่ได้รับในแต่ละระดับ ซึ่งมีการประกาศผลตามจำนวนสัญลักษณ์ของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน 455 บริษัทที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป หรือระดับดีขึ้นไป ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ได้รับคะแนน 90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปหรือระดับดีเลิศ 80 บริษัท (ร้อยละ 13) มีบริษัทที่ได้รับคะแนน 80-89 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับดีมาก 195 บริษัท (ร้อยละ 33) และบริษัทที่ได้รับคะแนน 70-79 เปอร์เซ็นต์ หรือระดับดี 180 บริษัท (ร้อยละ 30)
“ผลสำรวจในปีนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียนไทยในการพัฒนามาตรฐาน CG อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็ก นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า บริษัทจดทะเบียนไทยเริ่มให้ความสำคัญการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน และการปรับบทบาทและภาวะผู้นำของคณะกรรมการในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ในด้านวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการดูแลเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศล้วนให้ความสำคัญ” ดร. บัณฑิต นิจถาวร กล่าว
อนึ่ง สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) มีมติปรับคุณสมบัติของบริษัทที่ทำการประเมินและเหตุแห่งการไม่ประกาศผลของโครงการ CGR โดยให้มีผลตั้งแต่การประเมินประจำปี 2559 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
คุณสมบัติของบริษัทที่ทำการประเมินในโครงการ CGR
– บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับการประเมินตามโครงการ CGR ยกเว้น
– บริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
– บริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน
– บริษัทที่ไม่มีการจัดการประชุมผู้ถือหุ้นในปีที่ทำการสำรวจ
– บริษัทหรือกรรมการบริษัทใดที่สำนักงาน ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับ หรือกล่าวโทษ ในเรื่องดังต่อไปนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ของปีก่อนปีที่ทำการสำรวจจนถึงวันที่ประกาศผลของปีที่ทำการสำรวจ จะไม่ได้รับการประเมินในโครงการ CGR เป็นเวลา 2 ปี
(1) กระทำการ หรือละเว้นกระทำการโดยไม่สุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการทำธุรกรรมของบริษัทหรือบริษัทย่อย และเป็นเหตุให้บริษัทหรือ ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายหรือเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์โดยมิชอบ หรือ
(2) เปิดเผย หรือเผยแพร่ข้อมูล หรือข้อความเกี่ยวกับบริษัท หรือบริษัทย่อยอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือโดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ
(3) มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า