ฮิลลารี คลินตัน และ CFRพลวัต 2016

แล้วทุกอย่างก็เริ่มจะเป็นไปตามที่คาด เพราะในที่สุด โอกาสของนางฮิลลารี คลินตัน เด็กปั้นของกลุ่มทุนอเมริกันที่หนุนหลังทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐก็ใกล้คว้าชัยในการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสร้างประวัติสาสตร์ เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ และเป็นคนที่ทำให้พรรคเดโมแครตยึดครองอำนาจเหนือทำเนียบขาวนานกว่า 8 ปีได้สำเร็จ


วิษณ โชลิตกุล

 

แล้วทุกอย่างก็เริ่มจะเป็นไปตามที่คาด เพราะในที่สุด โอกาสของนางฮิลลารี คลินตัน เด็กปั้นของกลุ่มทุนอเมริกันที่หนุนหลังทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐก็ใกล้คว้าชัยในการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เพื่อสร้างประวัติสาสตร์ เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ และเป็นคนที่ทำให้พรรคเดโมแครตยึดครองอำนาจเหนือทำเนียบขาวนานกว่า 8 ปีได้สำเร็จ

โพลล์สำรวจทางการเมืองล่าสุดของ CNBC All-America Economic Survey พบว่า นางฮิลลารีมีคะแนนนิยมทิ้งห่างนายทรัมป์ถึง 9 จุด โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากผลสำรวจก่อนหน้านี้ ทิ้งห่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน

ชัยชนะตั้งแต่ยังไม่เข้าคูหาของนางฮิลลารีนั้น ไม่ได้เกิดจากความเหนือกว่าทางการเมืองในด้านนโยบายของนางฮิลลารีเอง จุดอ่อน 2 จุด คือเป็นสตรีเพศคนแรกที่เข้ามาสู่เรดาร์ทางการเมืองระดับสูงสุดของสหรัฐ  และมีนโยบายที่ไม่ดึงดูดใจมากเพียงพอสำหรับคนที่ต้องการความแปลกใหม่

ความเหนือกว่าของนางฮิลลารี เกิดจากการสะดุดขาตัวเองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำเสนอประเด็นที่ ”สะใจ” กลุ่มคนอเมริกันขวาจัดบางกลุ่มที่โหยหาคนในแบบเดียวกับโรนัลต์ เรแกนในอดีต มาเติมความฝันแบบคาวบอยอเมริกันที่มีความโดดเด่นในบุคลิกภาพส่วนตัว ที่แอบแฝงไว้ด้วยความสุ่มเสี่ยงแบบ มาเวอริก” ไว้ด้วย

นายทรัมป์ ทำการเปิดจุดอ่อนในช่วงสุดท้ายของการแข่งขันออกมาหลายด้านมากเกินไป อาทิ 1) เรื่องการหลบเลี่ยงภาษีธุรกิจ ที่ยังไม่สามารถชี้แจงได้อย่างตรงไปตรงมา 2) การควบคุมตัวเองในการดีเบต 3 ครั้งที่ทำให้คนลดความน่าเชื่อถือลงไปเพราะบุคลิกภาพที่ออกอาการลนลานและไม่ให้เกียรติผู้อื่น 3) เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการแสดงออกในอดีตเกี่ยวกับทัศนคติทางเพศและสตรี และต่อคนผิวสีอื่น 4) การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากว่าตนเองเป็นฝ่ายแพ้เลือกตั้ง สะท้อนนิสัยขี้แพ้ชวนตีที่ล่อนจ้อน

ทั้งหมดนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะไม่มากนัก เพราะทราบกันดีว่า หลังจากได้ขึ้นครองอำนาจในทำเนียบขาวแล้ว ประธานาธิบดีไม่ว่าจะมาจากพรรคไหน ก็ล้วนแล้วแต่ถูกกลไกของอำนาจรัฐและผลประโยชน์ของรัฐกำหนดให้มีกรอบในการเดินไปข้างหน้า

นางฮิลลารีนั้น เป็นนักการเมืองอาชีพมายาวนานหลายทศวรรษ มีประวัติคร่ำหวอดในพรรคเดโมแครตตั้งแต่เริ่มต้น แต่ที่สำคัญเธอมีความสัมพันธ์ในลักษณะของ ”เด็กปั้น” ของกลุ่มทุนและชนชั้นนำ ที่เรียกชื่อย่อว่า CFR (จากชื่อเต็มว่า The Council for Foreign Relations) ซึ่งเริ่มก่อตั้งใน ค.ศ.1921 ที่นิวยอร์ก หลังสงครามโลกครั้งแรก

การก่อตั้ง CFR เกิดจากกลุ่มนายทุนการเงินและนักอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เจ พี มอร์แกน จอห์น ดี ร็อคกี้เฟลเลอร์ พอล วอร์เบิร์ก ออตโต คาห์น และ เจค็อบ ชิฟฟ์ (ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่มีส่วนผลักดันก่อตั้งธนาคารกลางของสหรัฐ หรือ เฟด) ด้วยเล็งเห็นว่าเป็นความจำเป็นต้องจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องระบบทุนนิยมในระยะยาว

CFR เชื่อมั่นแบบเดียวกับกลุ่มทุนต้นแบบในอังกฤษ ได้แก่ Royal Institute of International Affairs หรือ ที่รู้จักกันในฉายา Chatham House ว่า ถ้าหากสามารถควบคุมกระแสเงินของประเทศได้ ใครจะเป็นรัฐบาล หรือออกกฎหมาย ก็ไม่สำคัญ

CFR มีส่วนผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลกลางอเมริกัน หันเหจากลัทธิมอนโรที่เคยจำกัดตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการของชาติอื่นนอกทวีปอเมริกาเหนือและใต้ มาสู่การมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบใหม่ของโลกหลังสงครามโลกครั้งแรก ด้วยปรัชญาพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจที่ดีที่สุดคือการเมืองพร้อมกับความเชื่อว่า หากทำให้ธุรกิจอเมริกันแปลงสภาพเป็นธุรกิจข้ามชาติได้แล้ว การผูกขาดในประเทศ ก็กลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นอีกต่อไป

ยุทธศาสตร์ของ CFR ระบุว่า สิ่งที่บริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ต้องการคือ ระบบโลก ที่มี ”รัฐบาลโลก” ทำหน้าที่ควบคุมอยู่หลังฉากธุรกิจ  ทำให้การลดบทบาทของรัฐบาลกลางสหรัฐ ในการคุมเศรษฐกิจในประเทศโดยตรง แต่เพิ่มบทบาทไปยุ่งเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐเข้มข้น ถือว่าการกำกับดูแลโลก ในนามของสินค้าสาธารณะ และผลประโยชน์สาธารณะ คือการสร้างเสถียรภาพและสันติภาพที่ยั่งยืน

บทบาทของ CFR จึงเป็นมากกว่ากลุ่มนักคิด (Think Tank) ธรรมดา แต่หลังฉากคือ สมาคมลับของกลุ่มทุนและชนชั้นนำอเมริกันเพื่อสร้างอำนาจนำเหนือโลกผ่านการประชุมลับที่ไม่เคยเปิดเผย

นักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า CFR คือรัฐบาลเงาของอเมริกาเลยทีเดียวเพราะประธานาธิบดี และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐหลังยุคแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ เป็นต้นมา จากทุกพรรค ล้วนเป็นสมาชิกหรือ“เด็กฝาก” ของ CFR ทั้งสิ้น

มีคนกล่าวหาว่า CFR นี่แหละคือ แกนนำกลุ่มทุนใน CFR เป็นคนรู้สัญญาณก่อนใครว่า ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะพังในทศวรรษ 1920  และพวกเขาขายหุ้นไปได้ทั้งหมดก่อนตลาดพังเพื่อให้พวกเขากลับมาซื้อซากบริษัทที่มีอนาคตกลับคืนในราคาถูกมากเข้ากำมือ รวยขึ้นกว่าเดิม แล้วส่งแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ สมาชิกของกลุ่ม เข้าเป็นประธานาธิบดีในฐานะ ”วีรบุรุษของคนยาก” พร้อมกับนโยบายฟื้นเศรษฐกิจ New Deal โดยไม่ถือว่า นั่นคือการสมคบคิด

นอกจากนั้น ยังมีการเปิดโปงโดยมีหลักฐานคลุมเครือว่า ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน  หรือ  Washington Consensus ซึ่งขับเคลื่อนแนวคิดลัทธิเสรีนิยมใหม่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงผ่านธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็เป็นผลงานของ CFR เช่นกัน

คณะรัฐบาลในทำเนียบขาวหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงปัจจุบัน ไม่เคยขาดสมาชิกของ CFR เข้าไปนั่งร่วมด้วยสมัยละ 3-5 คน ขณะที่ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทุกคนไม่ว่าพรรคไหน ล้วนต้องผ่านการเป็นสมาชิก CFR และผู้ว่าการธนาคารกลาง ผู้อำนวยการ เอฟ บี ไอ และ ซี ไอ เอ ทุกคน ก็มาจาก CFR ทั้งสิ้น

นางฮิลลารี คลินตัน จึงต้องขึ้นเป็นประธานาธิบดีของคนอเมริกันในสมัยต่อไป ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้แล้วโดย CFR ในขณะที่คาวบอยไร้หัวอย่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ คงไม่จบฉากนาฏกรรมของเขาอย่างสวยงามหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะบาดแผลที่ติดตัวเขามานั้น จะตามหลอกหลอนอย่างถึงที่สุด

Back to top button