หนีไม่พ้นวงจรอุบาทว์พลวัต 2016

หนึ่งในสาระสำคัญเบื้องหลังการรัฐประหารเมืองไทยทุกครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดปี 2557 อยู่ที่ว่าบรรดาคนใน "พรรคข้าราชการ" มีความเกลียดชังนักการเมืองจากการเลือกตั้งอย่างเข้ากระดูกดำ ดังนั้น มาตรการทำลายล้างเพื่อทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ปลอดการเมือง" อย่างถึงที่สุด


วิษณุ โชลิตกุล

 

หนึ่งในสาระสำคัญเบื้องหลังการรัฐประหารเมืองไทยทุกครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดปี 2557 อยู่ที่ว่าบรรดาคนใน “พรรคข้าราชการ” มีความเกลียดชังนักการเมืองจากการเลือกตั้งอย่างเข้ากระดูกดำ ดังนั้น มาตรการทำลายล้างเพื่อทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ปลอดการเมือง” อย่างถึงที่สุด

เพียงแต่เจตนาของการครองอำนาจนำเหนือสังคมของพรรคข้าราชการเบ็ดเสร็จนั้น มันพูดและคิด ง่ายกว่าทำยิ่งนัก

มาตรการพยุงราคาข้าวเปลือกที่เกิดขึ้นโดย คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) วานนี้ ที่เรียกสวยหรูในชื่อใหม่ว่า “มาตรการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี” (ซึ่งเปลี่ยนชื่อให้ไกลจากคำว่า “โครงการรับจำนำข้าวเปลือก” ที่รัฐบาลชุดนี้ อาศัยมาตรา 44 เรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปหมาดๆ 3.5 หมื่นล้านบาท)

คนที่พยายามหนีห่างจากการเมือง แต่อยากมีอำนาจ ยิ่งต้องถูกดึงให้เข้าสู่วังวนทางการเมืองอย่างถลำลึก

ตามคำแถลงของ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ชาวนาจะได้รับสินเชื่อโดยผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แบ่งเป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% จะได้รับสินเชื่อรวมตันละ 11,525 บาท ส่วนรายละเอียดสินเชื่ออื่นๆ สำหรับข้าวเปลือกธรรมดาทั่วไปนั้น ประกอบด้วย

1.ค่าข้าวเปลือกตันละ 8,730 บาท หรือ 90% ของราคาตลาดที่ตันละ 9,700 บาท 

2.เงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงข้าวไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 10 ไร่ 

3.เงินช่วยเหลือค่าเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉางตัวเองไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกินครอบครัวละ 10 ไร่ ซึ่งจะได้รับส่วนแรก 1,000 บาทก่อน เมื่อไถ่ถอนจะได้รับเพิ่มเติมอีกไร่ละ 500 บาท 

4.กรณีชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางของตัวเองจะหักค่าเก็บรักษาข้าวไร่ละ 1,500 บาทออกไป

การแก้ปัญหาแบบ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” นี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดข่าวแพร่กระจายถึงวิกฤตราคาข้าวเปลือกชาวนาภาคเหนือตอนล่าง และอีสานที่เก็บเกี่ยวบางส่วน มีราคาตกต่ำรุนแรงจนถึงขั้นที่รัฐบาลไม่อาจนิ่งเฉยทำทองไม่รู้ร้อนต่อไปได้

ความพยายามโบ้ยส่งของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ที่ว่า ถ้าราคาข้าวถูกก็ให้ชาวนาไปขายปุ๋ยแทน หรือคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โยนบาปว่า เกิดจากนักการเมืองกับโรงสีร่วมสมคบคิดกดราคาข้าวลง ไม่มีสาระสำคัญอะไร นอกจากการฆ่าตัวตายทางการเมืองอีกครั้งเท่านั้น

แม้นางอภิรดีจะพยายามแก้ตัวว่า วิกฤตราคาข้าวล่าสุดนี้ มาจากปัญหาผลผลิตข้าวทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.4% ขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวทั่วโลกลดลง 1.5% ทำให้มีปริมาณข้าวเกินสต๊อกราว 4.3% โดยที่ผลผลิตข้าวหอมมะลิของไทย เกินกว่าปีก่อนมาก คาดว่าสูงถึง 10 ล้านตัน สูงกว่าคาดการณ์ไว้เดิม 8-9 ล้านตัน แต่ข้อมูลดังกล่าว ก็เป็นแค่ “คำแก้ตัว” หลังจากปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว 

ที่สำคัญ ข้อมูลของ นบข.ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะหากพิจารณาภาพรวมแล้ว วิกฤตราคาข้าวครั้งล่าสุดนี้ มีความผิดปกติอย่างมากเริ่มตั้งแต่

– วิกฤตราคาข้าวครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ 1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว (ราคาข้าวเปลือกที่ตลาดชิคาโก จะเห็นว่าไม่ได้ร่วงเลวร้าย) 2) ผลผลิตข้าวในประเทศลดลงอย่างมากเพราะนโยบายรัฐห้ามทำนาปรังต่อเนื่อง 2 ปีติดกัน 3) ตัวเลขระบายข้าวของรัฐที่ตกค้างผ่านกระทรวงพาณิชย์มีต่อเนื่องมากถึง 9 ล้านตัน (ขัดแย้งกับข้อมูลนายกรัฐมนตรีที่บอกว่ารัฐบาลก่อนมีสต๊อกตกค้างมหาศาล)

– เวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญของข้าวไทยในตลาดโลก เพิ่งประกาศปรับลดตัวเลขส่งออกปีนี้ลง 27% เพราะถูกข้าวไทยที่รัฐระบายสต๊อกทิ้ง ถูกผู้ส่งออกไทยที่ซื้อข้าวมาถูกๆ ถล่มตลาดมาตลอด แย่งส่วนแบ่งตลาดที่กำลังซบเซาไปมาก

– ผลผลิตข้าวทั่วโลกทรงตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยในอินเดีย (ชาติส่งออกอันดับหนึ่งปีก่อน) ปีนี้ลดลงเล็กน้อย แต่ชาตินำเข้าอย่างฟิลิปปินส์และจีนผลิตเพิ่มขึ้น (อาจนำเข้าลดลง) กดดันราคาข้าวในตลาดโลกไม่ให้ขึ้น แต่ยังไปร่วงหนักเพราะเหตุผลตามข้อ 1) ข้างต้น

– ข่าววงในกลุ่มผู้ค้าทั่วโลกระบุชัดว่า ผู้ส่งออกไทยรายใหญ่ทำการขายชอร์ตล่วงหน้าสำหรับข้าวฤดูใหม่ในตลาดปลายทางต่างประเทศกันเอาไว้จำนวนมาก ทั้งที่ควรจะหยุดการขายล่วงหน้าจากปริมาณผลผลิตในประเทศที่ลดลง และคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ออกมาให้ข่าวก่อนใครว่า ราคาข้าวฤดูเก็บเกี่ยวปีนี้จะแย่ สวนทางกับข้อเท็จจริงในตลาดโลก ที่ผลผลิตข้าวทรงตัว

– ราคาข้าวเปลือกในประเทศที่เริ่มเก็บเกี่ยวบางพื้นที่ที่ร่วงหนัก โดยเฉพาะภาคอีสาน และเหนือตอนล่าง น่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์จากคนบางกลุ่ม (ผู้ส่งออก โรงสี และ/หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มที่เคยมีส่วนในการแทรกแซงตลาด) เพื่อให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณเข้าแทรกแซงในฐานะสินค้าการเมือง หาประโยชน์จากการแทรกแซงด้วยวิธีการเดิมอันคุ้นเคย

การที่รัฐบาลประยุทธ์ จำต้องตัดสินใจอย่างไม่มีทางเลือก ด้วยการกลืนน้ำลายที่ถ่มออกมาแล้วกลับเข้าคออีกครั้ง ด้วยการรื้อฟื้นโครงการรับจำนำข้าว (ในชื่อใหม่) ออกมาเพื่อแก้สถานการณ์ จึงเป็น “การเมือง” ที่สมบูรณ์ แบบเดียวกันกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลไทยอื่นในอดีต กระทำมาตลอด นั่นคือการแทรกแซงบิดเบือนกลไกตลาด ในนามของการช่วยเหลือชาวนา

หากย้อนหลังมองกลับไปจะเห็นได้ชัดเจนว่า นโยบายแทรกแซงตลาดข้าวของรัฐบาลสยามและไทยในอดีตนั้น ไม่เคยสร้างประโยชน์ให้กับชาวนาอย่างแท้จริง เป็นแค่มายากลทางการเมืองชั่วครั้งชั่วคราว และทุกครั้งที่มีการแทรกแซง วงจรอุบาทว์ของการคอร์รัปชั่นจะเกิดขึ้นเป็นผลพวงตามมาเสมอ จากปฏิบัติการ “เก็บค่าเช่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ” ที่มีเงินนับร้อยล้าน-พันล้าน หกหล่นเข้ากระเป๋าคนที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ท่องบ่นเกลียดชังคอร์รัปชั่นแบบย้ำคิดย้ำทำมาตลอด ก็ไม่เคยเว้น

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรรวมทั้งข้าวทุกครั้ง ล้วนเป็นบทเรียนที่ไม่เคยจดจำ และส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการสร้างสถานการณ์โดยจงใจให้เกิดขึ้นโดยความช่ำชองของ “ม้าแก่ชำนาญทาง” ที่อยู่ในกลไก “พรรคข้าราชการ” นั่นเอง

ไม่เชื่อ ก็คอยดู เพราะเมื่อข้าวเป็นสินค้าการเมืองเสียแล้ว ประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องแทรกแซงตลาดข้าว ก็ไม่เคยปราศจากความฉ้อฉล

อมพระมาพูด ยิ่งไม่น่าเชื่อ

 

Back to top button