สหรัฐ กับ อัตราเสี่ยงหุ้นพลวัต 2016
ใน 3 สัปดาห์มานี้ พอมีแนวโน้มว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ราคาหุ้นจะถูกถล่มขายทั่วโลก พร้อมคำอธิบายสารพัด แต่ในทางกลับกัน ราคาหุ้นก็มีแรงซื้อดันราคาพุ่งกระฉูด
วิษณุ โชลิตกุล
ใน 3 สัปดาห์มานี้ พอมีแนวโน้มว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ราคาหุ้นจะถูกถล่มขายทั่วโลก พร้อมคำอธิบายสารพัด แต่ในทางกลับกัน ราคาหุ้นก็มีแรงซื้อดันราคาพุ่งกระฉูด
นักลงทุนในตลาดหุ้นทำไมเกลียดนายทรัมป์มากมายขนาดนี้ ทั้งที่นักวิเคราะห์ทางการเมืองและหุ้นจำนวนไม่น้อย แสดงความชื่นชอบนายทรัมป์ชนิดออกหน้าออกตา ในข้ออ้างเป็น “ของแปลกใหม่”
คำตอบคงขึ้นกับอคติส่วนตัวไป แต่อย่าได้สรุปง่ายว่าเป็นเพราะนักลงทุนในตาดหุ้นทั่วโลกนั้น เต็มไปด้วย
สัญชาตญาณกระต่ายตื่นตูม หรือ herd instinct กันไปหมด
ว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว แรงเหวี่ยงจากการชื่นชอบหรือเกลียดชังนักการเมืองที่ส่งผลต่อตลาดเก็งกำไรนั้น เชื่อมโยงเข้ากับประเด็นเรื่องของการประเมินความเสี่ยงเป็นสำคัญ
ในตลาดหุ้นนั้น ปัญหาของความเสี่ยงถูกถือกันว่า มีความสำคัญเสมือนหนึ่งด้านตรงข้ามของผลตอบแทนในการลงทุน
โดยหลักการทางการเงินแล้ว ความเสี่ยงเป็นสัดส่วนตรงกับผลตอบแทน ยิ่งความเสี่ยงยิ่งสูง ผลตอบแทนก็ยิ่งสูง ยิ่งความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ยิ่งต่ำ การป้องกันความเสี่ยง ก็เลยกลายเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเรียนรู้กันต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ทางตรงและลัด
เรื่องของการเมือง ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อตลาดหุ้น ดังนั้น เวลาพูดถึงความเสี่ยงของประเทศ จะต้องพิจารณาย้อนกลับไปดูถึง องค์ประกอบสำคัญที่นำมาใช้วัดหาปัจจัยเสี่ยง ที่สรุปออกมาเป็นระดับของความเสี่ยงแต่ละห้วงเวลานั้น จะมีองค์ประกอบเป็นเสาหลัก 3 เสาคือ ความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงทางการเงิน และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุม และจำแนกออกได้เป็น ปัจจัยเสี่ยง (Risk Component) สารพัด
ตัวแปรย่อยทั้งหมดมากกว่า 20 รูปแบบ มีค่าสัมประสิทธิ์ที่ต่างกัน ดังนั้น เมื่อนำมาถ่วงน้ำหนักแล้ว จะได้ออกมาเป็นสัดส่วนหยาบๆ คือ ความเสี่ยงทางการเมืองส่งผลในอัตรา 50% ส่วนความเสี่ยงทางการเงิน และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ก็มีน้ำหนักอย่างละ 25% เท่ากัน
ในประเทศเผด็จการที่มีสังคมอนารยะสูง ความเสี่ยงทางการเมืองจะมีน้ำหนักยิ่งสูงมากขึ้น ส่วนในประเทศประชาธิปไตยและมีสังคมอารยะเข้มข้น จะมีความเสี่ยงทางการเมืองต่ำ
มิติของความเสี่ยงทางการเมือง หากพิจารณาจากระดับของปัญหา มีสองระดับหลักคือ ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมือง เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น มีสงคราม หรือมีการกระทบกระทั่งกันตามพรมแดน หรือนโยบายระหว่างประเทศ กับความเสี่ยงทางการเมืองภายใน อันเกิดจาก 2 ทางคือ เปลี่ยนแปลงตัวผู้นำหรือรัฐบาลกะทันหัน และความไร้เสถียรภาพของระบบการเมืองและสังคม
หากพิจารณาจากชนิดของความเสี่ยงทางการเมือง สามารถแยกออกเป็น ความเสี่ยงมหภาคและความเสี่ยงจุลภาค โดยความเสี่ยงมหภาค หมายถึงการกระทำไม่พึงประสงค์ที่จะส่งผลกระทบโดยรวมทั้งหมด เช่น การเวนคืนที่ดินหรือกิจการ หรือการจลาจล หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมาไม่แน่นอน ส่วนความเสี่ยงจุลภาค หมายถึงการกระทำไม่พึงประสงค์ เช่น การทุจริตของหน่วยงานรัฐ และการกระทำในกระบวนการที่เป็นผลร้ายต่อบรรยากาศการทำธุรกิจ
ในกรณีของสหรัฐ ซึ่งอำนาจรัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โครงสร้างทางสังคมถ่วงดุลกันเองได้ภายใต้หลักนิติธรรม และความเหลื่อมล้ำทางสังคมสามารถพบข้อยุติด้วยกระบวนการยุติรรมที่ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เปิดช่องให้คนส่วนใหญ่ของสังคม สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศและต่างประเทศและมีอิสระในการพูดคุยเหล่านี้ต่อสาธารณะ ความเสี่ยงทางการเมืองจะต่ำ
ในทางทฤษฎี การขึ้นหรือลงของดัชนีหรือราคาหุ้นตลาดในระยะยาว ไม่ได้มีสหสัมพันธ์ในเชิงสถิติกับการขึ้นลงของอำนาจทางการเมืองของบุคคลหรือพรรคการเมืองใดๆ หากว่า ไม่ใช่การรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สุดขั้ว เช่น เกิดความรุนแรง หรือการลอบสังหารผู้นำคนล่าสุด เพราะโดยข้อสรุปสุดท้าย ผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือตัวชี้ขาดทิศทางของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แม้อาจจะมีความหวือหวาในระยะสั้นบ้างจากปัจจัยภายนอก
เพียงแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ ซึ่งมีกติกากำหนดเอาไว้ชัดเจน และที่ผ่านมาก็เป็นไปอย่างอารยะ ไม่มีใครมากล่าวอ้างว่าตนแพ้หรือชนะเพราะ “อัตลักษณ์เฉพาะสังคม” อะไรเพราะไม่มีใครเชื่อถือ บังเอิญเกิดขึ้นในบริบทที่ว่า บทบาทและอิทธิพลของสหรัฐนั้น แพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจในฐานะมหาอำนาจเดี่ยวมานานนับสิบกว่าปีแล้ว นับแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ทำให้การเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีและผู้นำทางการเมืองมีความน่าสนใจมากกว่าระดับปกติ
นักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมาก จึงเพ่งความสนใจไปว่านโยบายหรือมาตรการของผู้นำในอนาคตทางการเมืองที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญและช่วงเวลา เปรียบเสมือน “มือที่มองเห็น” ในฐานะที่จะเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจหรือโครงสร้างของตลาดหุ้นหรือราคาหุ้นในรายการที่สำคัญต่อตลาดสูง
แม้นักลงทุนโดยทั่วไปหรือกระทั่งนักวิเคราะห์หุ้น จะถูกถือว่า เป็นวิญญูชนที่มีสติปัญญา และมีกลไกตลาดเสรีที่สามารถยึดมั่นกับ “มือที่มองไม่เห็น” ได้ ก็อดจะหวั่นไหวไปกับการเลี่ยนแปลงตัวผู้นำคนสำคัญทางการเมืองไม่ได้ และต้องหมกมุ่นในการทำความเข้าใจให้ชัดว่า วงวันของการต่อสู้ทางการเมืองในลักษณะใด จะส่งผลลัพธ์ในเชิงบวกหรือลบ
ระดับความเสี่ยงโดยเปรียบเทียบ และเงื่อนเวลา ที่จะนำมาซึ่งโฉมหน้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่จะรู้ผลในเช้าวันนี้ จึงมีอิทธิพลต่ออารมณ์และจิตใจของนักลงทุนในตลาดอย่างเลี่ยงไม่พ้น ส่วนจะแสดงออกมาในรูปของ “ความฉลาดของฝูงชน” หรือสัญชาตญาณของกระต่ายตื่นตูม ก็คงขึ้นกับคุณภาพของนักลงทุนในแต่ละตลาดเป็นสำคัญ
สายวันนี้ เราคงได้รู้กันชัดเจนเสียทีว่า โฉมหน้าของสหรัฐจะขับเคลื่อนตลาดหุ้น ตลาดเงิน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งในนิวยอร์กและโลกไปทางใด แล้วทางที่จะบ่ายหน้าไปนั้น มีความเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน อะไรบ้าง