“ทรัมป์” เข้าวินเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ จับตา “เฟด” ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า
จากกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ มีความเห็นว่าเฟดอาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลีกัน และ นางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต โดยมีคำถามดังต่อไปนี้
เมื่อคุณ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะมีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจของเฟดในการประชุมรอบเดือนธันวาคม
“เวลาเฟดเขามองเศรษฐกิจเขามองไปข้างหน้า ผมคิดว่าถึงแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจอเมริกาช่วงหลังจะดูค่อยๆฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวรอบนี้เป็นการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะไม่ว่าอเมริกาเจอวิกฤตครั้งใด เขามักจะมีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งกว่านี้ ซึ่งรอบนี้เท่ากับว่ามีความอ่อนแอหลายด้านยกตัวอย่างเช่น ด้านการจ้างงาน ซึ่งงานที่จ้างมาเพิ่มขึ้นมันเป็นงานชั่วคราว ไม่ใช่งานที่มีความถาวร ซึ่งตรงนี้รายได้ต่อหัวอาจจะไม่ได้มีการฟื้นตัวที่ดีอย่างจริงจังนัก
ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะดูเหมือนดีขึ้น แต่ว่าก็ยังไม่ค่อยได้เป้าตามที่ธนาคารกลางอเมริกาคาดการณ์ไว้ ซึ่งตอนนั้นได้ทำ QE ขยายไปถึง 18% ส่วนเงินเฟ้อจริงๆ แล้วแทบจะยังไม่ถึง 2% ที่เขาคาดการณ์ ผมว่าถึงแม้เงินเฟ้อจะมาบ้างแต่ก็ต้องระมัดระวัง ในการที่ทรัมป์ชนะ เพราะโดยส่วนตัวผมมองว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ มันไม่สำคัญเท่ากับโทนครั้งต่อไป เพราะว่าต่อให้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมได้มันก็เป็นอะไรที่ตลาดจะให้โอกาสเขาขึ้นแล้ว เพราะตัวเลขระดับนี้มันพอที่เฟดจะขึ้น 0.25% ในเดือนธันวาคมได้ แต่ถ้าทรัมป์มา การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะล่าช้าขึ้น และจะมีการถดถอยลงในการคาดการณ์ที่จะขึ้นครั้งต่อๆ ไป ซึ่งโดยปกติแล้วอาจจะขึ้นไตรมาส 1-2/60 อาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่อาจจะไปขึ้นในไตรมาส 3-4/60 มากกว่า”
เมื่อคุณ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ โอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะชะลอออกไปอีกใช่ไหม
“ครับ เราต้องอย่าลืมว่า คุณ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่ค่อยชอบคุณเจเน็ต เยลเลน เท่าไหร่ แล้วเขามีการพูดจาโจมตีในช่วงหาเสียงอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดีเขาอาจะมีโอกาสปลดประธานของเฟด ซึ่งก็คือ เจเน็ต เยลเลน ได้ เพราะอาจจะมีการพูดถึงการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งประเด็นนี้ผมคิดว่าทำให้เฟดต้องระมัดระวังว่าอาจจะมีการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงได้เมื่อคุณ ทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดี”
บ้านเราจะได้รับผลกระทบในแง่ของการค้ามากน้อยแค่ไหนเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะ
“ผมคิดว่าเรื่องการค้ามีคนออกมาพูดมากจนคนกลัวมากเกินไป ต้องยอมรับว่าตอนแรกดีลที่จะกระทบบ้านเรามากที่สุดคือดีล TPP (Trans-Pacific Partnership การเจรจาเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ซึ่งเป็นดีลที่คุณโอบามา พยายามจะทำให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นดีลที่จะทำให้อเมริกาดูเหมือนจะมีพลังในเอเชียอาเซียนมากขึ้น ซึ่งเขากีดกันจีนออกไป แต่ความเป็นจริงคือดีล TPP มันจะทำให้คนในอเมริกาจ้างงานชาวอเมริกากันเองน้อยลงพอสมควร
โดยมีบทวิเคราะห์จากทางฝั่งUnited Nations ซึ่งวิเคราะห์ออกมาชัดเจนว่างานของคนอเมริกาจะหายไปเกือบ 5-7% จากดีลนี้ ถึงแม้ว่าจะไปเปิดตลาดใหม่ในการที่จะส่งออกสินค้ากันได้ โดยตัวนี้อาจจะทำให้อเมริกามีคนตกงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า หากทรัมป์เข้าชนะ ดีลที่เกี่ยวกับบ้านเราเขาจะไม่มายุ่งเหมือนที่โอบามาทำ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าน่าจะเป็นอันนึงที่จริงๆแล้วดีเกินคาด แต่แน่นอนครับมันไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้านเขาในกลุ่ม NAFTA หรือ Mexico
ซึ่งเคยค้าขายเยอะมาก แต่วันนี้อเมริกาอาจจะมีโอกาสลดอะไรบางอย่างที่ซื้อขายกันน้อยลง หรือไปสร้างกำแพงทางการค้า และการเดินทางจะมีปัญหากระทบความสัมพันธ์ไหม ผมว่าอันนี้น่ากลัวมากกว่า และทรัมป์ก็พูดทำนองว่าเขาสนิทกับรัสเซียจะเป็นเพื่อนกับรัสเซีย อันนี้ก็น่าสนใจ เพราะว่าปกติถ้าเป็นเดโมแครตคงไม่สนิทสนมกับรัสเซียขนาดนั้น”
หากมีการดึง รีซอร์สหรือทรัพยากรกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น จะส่งผลทำให้กำลังซื้อของทางสหรัฐอเมริกามีเพิ่มมากขึ้นด้วย และจะส่งผลดีต่อประเทศที่ส่งออกเป็นหลักด้วยไหม
“จริงๆ แล้วนโยบายของทรัมป์ ถ้าเจาะลึกลงไปแล้วนโยบายทางการเงินหรือทางกระทรวงคลัง ซึ่งถูกแนะนำโดยอดีตนักลงทุน ชื่อดังระดับโลก ค่อนข้างจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการที่จะลดภาษีอย่างจริงจัง จะมีการกระตุ้นการใช้จ่ายทางการคลัง หรืออะไรหลายๆอย่าง และจะยกเลิกโอบามาแคร์ ปรับปรุงเรื่องสวัสดิการของประชากรทั่วไปเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพดีขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรหลายๆ อย่างที่น่าจะดีมากกว่าคุณคลินตันด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้นส่วนนึงก็จะเป็นไปได้ว่าในระยะกลางหรือระยะยาวเศรษฐกิจอเมริกาภายในประเทศกำลังซื้ออาจจะฟื้นตัว แต่ช่วงแรกอาจจะอ่อนตัวเพราะว่าไม่มีใครรู้จริงว่าสิ่งที่คุณทรัมป์พูดมาเขาจะทำจริงๆกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะคนๆนี้ไม่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน จากประวัติศาสตร์อเมริกาถ้าผมจำไม่ผิด คือไม่เคยมีใครที่ไม่ได้เป็นนักการเมืองมาก่อนเลย โดยคนนี้อาจจะเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นความไม่แน่นอนอันนี้มันทำให้เราไม่รู้จริงๆว่า เมื่อนักธุรกิจอย่างทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งพูดจากลับไปกลับมา ไม่รู้ว่าพูดจริงหรือพูดเล่น และผมคิดว่า ครม.หรือทีมของเขาเมื่อเขาได้เป็นแล้วประธานาธิบดีแล้วเขาจะตั้งคนที่ดีกว่าที่คาดไว้”
จากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ บ้านเราจะมีการรับมืออย่างไรบ้าง
“ผมคิดว่าทางบ้านเราต้องทำภูมิคุ้มกันตัวเองให้แข็งแกร่งไว้ก่อน อีกอย่างที่ผมเชื่อว่าหลายๆ สิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำในการยกระดับประเด็นปัญหาการศึกษาของเรา คือประเด็นปัจจัยที่เกี่ยวกับเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาบ้านเราครับ ต้องเริ่มหาเครื่องจักรเครื่องยนต์ในการเติบโตรอบใหม่ของเรา เพราะใน 10-20 ปี ที่ผ่านมาเราได้อานิสงส์จากนโนบายของรัฐบาลชุดเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ที่มีผู้แนะนำเก่งๆ ของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อาจารย์เสนาะ อูนากูล ซึ่งแต่ละท่านแนะนำให้มีทั้งเปิดแหลมฉะบัง ท่าเรือน้ำลึก มีปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของเราที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆเหล่านี้ เพราะฉะนั้นในอีก 10-20 ปี จังหวะที่ประชากรเราจะมีวัยสูงอายุมากขึ้น เราต้องคิดแล้วว่ารายได้ต่อหัวที่จะโตขึ้นก็ต้องมาจากอุตสาหกรรมที่น่าจะต่อยอดจากอุตสาหรกรรมที่ของเรามีดีอยู่แล้ว เช่นการท่องเที่ยว, เกษตร, วัฒนธรรม และนวัตกรรมบางอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วคนไทยเราไม่เป็นสองรองใคร
แต่สิ่งที่เราขาดคือคนที่เขียนโปรแกรมซอร์ฟแวร์เก่งๆ ซึ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้ดีขึ้น ซึ่งจะต้องสร้างนักรบธุรกิจรุ่นใหม่ที่อาจจะมีความรู้ ความสามารถไม่เหมือนกับนักรบธุรกิจรุ่นก่อนๆที่เก่งเรื่องวิศวะ หรือ เรื่องหมอ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเรื่องการศึกษาสำคัญมาก รัฐบาลไทยคงต้องทำตรงนี้ให้ดี และผมคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะโฟกัสการทำดีลในอาเซียน เพราะเรามีดีลในการค้าที่ดีอยู่แล้ว
แต่จะทำอย่างไรให้ค้าขายกันมากขึ้นหรือลงทุนกันมากขึ้น ตอนนี้ในอาเซียนค้าขายกันเองแค่ 25% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับ NAFTA ของที่อเมริกาค้าขายอยู่ 73% เพราะฉะนั้นเราต้องทำยังไงให้เราค้าขายกันมากขึ้นในอาเซียน และทำความสัมพันธ์ให้กลุ่มอาเซียนให้แข็งแกร่งขึ้นดึงธุรกิจใหม่ๆเข้ามาในไทยบ้าง ผมคิดว่ารัฐบาลเริ่มเดินเกมส์มาถูกทางแล้วเพียงแต่ว่าการที่จะทำนโยบายให้เป็นรูปธรรมมันต้องมีความชัดเจนและเร็วขึ้นในแง่ของกฎหมาย องค์กรของภาครัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย, ก.ล.ต หรือกระทรวงการคลัง ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ธุรกิจใหม่ๆ ให้บ้านเรา ไม่ใช่เป็นผู้คุมกฎ”