SSI ฝันที่ต้องรอเป็นจริงแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
บทวิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันชี้ขาดของศาลล้มละลายกลาง วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ในข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ ของบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ล้วนออกมาในเชิงหวานแหวว เพราะคาดว่าแผนฟื้นฟูกิจการผ่านฉลุยแน่นอน
บทวิเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันชี้ขาดของศาลล้มละลายกลาง วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ในข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ ของบริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ล้วนออกมาในเชิงหวานแหวว เพราะคาดว่าแผนฟื้นฟูกิจการผ่านฉลุยแน่นอน
บทวิเคราะห์อันเลิศหรูบอกว่า การปรับโครงสร้างหนี้จากเงินต้นในรูปสัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินบาท จำนวน 23,900 ล้านบาท และสัญญาเงินกู้ระยะยาวและเงินทุนหมุนเวียนในรูปเงินดอลลาร์ จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นฝันร้ายของบรรดาเจ้าหนี้ ประมาณ 8 ราย จะราบรื่นกว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบผสมกลีบดอกบัว เพราะงานนี้บรรดาเจ้าหนี้รายใหญ่ 3 รายคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทิสโก้ (TISCO) ต่างยินยอมสิโรราบ “มอบตัวโดยไม่มีเงื่อนไข” ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า …ไม่มีความสามารถหาตัวแทนมาบริหารหนี้ก้อนมหึมาหลายหมื่นล้านบาทนี้ได้ดีกว่าเสี่ยวิน วิริยะประไพกิจ คนที่ทำให้การเทกโอเวอร์โรงเหล็กเก่าคร่ำคร่าในอังกฤษกลายเป็นหายนะ เจ๊งภายใน 3 ปี เป็นสถิติเจ๊งเร็วที่สุดในโลก…ทั้งที่ว่าไปแล้ว บริษัทบริหารแผนมืออาชีพที่เป็น “บุคคลที่สาม” มีเกลื่อนโลกยามนี้
ปฏิบัติการสมยอมจากเจ้าหนี้รายใหญ่ ระบุว่า หากแผนปรับโครงสร้างตามสูตร “คนทำเจ๊งฟื้นฟูกิจการเอง” จะทำให้เรื่องง่ายขึ้นเพราะ ตัวเลขหนี้ NPLs หลายหมื่นล้าน ที่ถูกแบงก์ชาติไทยสั่งให้ตั้งสำรองทั้งหมด 100% จะฟื้นกลับมาเป็นหนี้ปกติ
ผลของการปลดหนี้ SSI จากหนี้ NPLs แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดกำไรโดยตรงกับงบธนาคารเจ้าหนี้ เพราะจะไม่มีการนำกลับมาบันทึกเป็นรายได้ แต่จะบันทึกในรูปเงินตั้งสำรองหรือcoverage ratio แต่ก็ส่งผลทางอ้อมอยู่ดี เพราะ1) เมื่อสำรองเพิ่มขึ้น การตั้งสำรองใหม่ก็ไม่จำเป็น ทำให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโดยปริยายในไตรมาสถัดไป 2) เมื่อวงเงินตั้งสำรองเพิ่มโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่จะพุ่งกระฉูดเพราะมีข้อจำกัดน้อยลง กลายเป็นโอกาสสร้างกำไรในอนาคตที่…เลิศสะแมนแตน…ตามไปด้วย
ในกรณี SCB มีวาดฝันเลิศว่า หากนำสินเชื่อของ SSI UK ที่ Write-off ไปในช่วงไตรมาส 2/58 กลับมาบันทึกใหม่ในงบแสดงฐานะการเงินของ SCB จะส่งผลให้ค่าเผื่อสำรองหนี้สูญ (LLR) และสินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวนที่เท่ากันราว 11,000 ล้านบาท
ผลบวก 2 เด้งหากแผนฟื้นฟู (ที่ทำกันรวดเร็วเหลือเชื่อแค่ 5 เดือน ทั้งที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่รองลงมาจากกรณี TPI ของเสี่ยประชัย เลี่ยวไพรัตน์) เช่นนี้ ทำให้คำชี้แนะ “ซื้อหุ้น” 3 เจ้าหนี้รายใหญ่เกิดขึ้นอย่างกระหึ่ม…ลืมคิดถึงด้านมืดของแผนว่า งานนี้เสี่ยวิน มีแต้มต่อเยอะเกิน แต่เจ้าหนี้ เป็นข้อตกลงที่เจ้าหนี้เสียถ่ายเดียว ลูกหนี้ได้ถ่ายเดียว
สาระสำคัญของดีลฟื้นฟู “สมยอม” ของเจ้าหนี้ 3 รายใหญ่กับ SSI ที่แย้มมาหยาบๆ ประกอบด้วย
1) ยืดอายุชำระหนี้ไปนาน 12 ปี
2) ดอกเบี้ยจ่ายเหลือปีละ 1%
3) หากหลัง 12 ปี ยังไม่สามารถชำระหนี้และดอกเบี้ยได้ ให้เจรจาเงื่อนไขกันใหม่ โดยให้ SSI บริหารแผนต่อ
ฝันกลางวันของเสี่ยวิน และ เจ้าหนี้ธนาคารใหญ่ 3 ราย สะดุดค้างกลางคันในศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน…ไม่ใช่เพราะเกิดอาการ “ล่มปากอ่าว” หรือเพราะ “ฟ้ามีตา” อะไรทำนองนั้น…แต่เพราะเจ้าหนี้ 5 ราย เป็นสถาบันการเงิน 4 รายนำโดย ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และราชการไทยอีก 1 คือ กรมสรรพากร
วงเงินรวมของเจ้าหนี้ทั้ง 5 ราย…ทุกราย ไม่หลักทรัพย์ค้ำประกัน…เฉียดหมื่นล้านนิดหน่อย จะบอกว่าน้อย จนไม่มีนัยสำคัญจนศาลเพิกเฉย คงไม่ได้
เสี่ยวินออกมาแถลงสั้นๆ ผ่านเอกสารบริษัทว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทยื่นแถลงปิดคดีเป็นหนังสือต่อศาลฯ ภายใน 15 วัน และนัดฟังคำสั่งวันที่ 15 ธันวาคม
สรุปง่ายๆ…SSI ยังไม่ถึงกับสิ้นหวัง เพราะนี่แค่โรคเลื่อน…เพราะถ้าจะโหวตกันจริงจัง เจ้าหนี้ใหญ่ 3 ราย ที่เป็นแบ็กอัพ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ยังไงก็สยบยอมทุกกรณี ไม่มีเงื่อนไข
ต่อให้เจ้าหนี้รายย่อยและหน่วยราชการคัดค้านแค่ไหน…ไม่น่าจะเอาอยู่
งานนี้เสี่ยวิน ยังมีอำนาจต่อรองเหนือกว่า…เจ้าหนี้รายย่อยหลายขุม
ดังนั้น วันชี้ขาดตรงกับ 15 ธันวาคม 2559 คือวันตัดสินชะตากรรมของเจ้าหนี้…และของเสี่ยวิน
วันนั้น จะเป็นวันที่ความจริง จะเหนือกว่าความความฝัน
ไม้ซีก หรือ จะงัดไม้ซุง…ไม่ว่าฟ้าจะมีตาจริงหรือไม่
“อิ อิ อิ”