พาราสาวะถี อรชุน

ชะตากรรมของ 5 เสือกกต.ในเงื้อมมือกรธ. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเซตซีโร่หรือไม่ หากแต่เป็นการอ้างอิงไปยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีผลให้บางคนขาดคุณสมบัติ มีอันต้องพลัดตกเก้าอี้ไป จากนั้นกระบวนการที่เหลือก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา ดำเนินการหากกต.เติมเข้าไปขั้นต่ำเบื้องต้นคือ 2 คนเพื่อให้ครบ 7 คนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ดูท่าว่าน่าจะมากกว่านั้น


ชะตากรรมของ 5 เสือกกต.ในเงื้อมมือกรธ. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเซตซีโร่หรือไม่ หากแต่เป็นการอ้างอิงไปยังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีผลให้บางคนขาดคุณสมบัติ มีอันต้องพลัดตกเก้าอี้ไป จากนั้นกระบวนการที่เหลือก็จะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา ดำเนินการหากกต.เติมเข้าไปขั้นต่ำเบื้องต้นคือ 2 คนเพื่อให้ครบ 7 คนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ดูท่าว่าน่าจะมากกว่านั้น

ฟัง มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าใครที่คุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามร่างรัฐธรรมนูญต้องยอมรับสภาพ วันนี้ 5 เสือย่อมรู้อยู่แล้วว่าใครจะอยู่ใครจะไป เพียงแต่ว่าจะเลือกไขก๊อกก่อนถูกอัปเปหิเพื่อความสง่างามหรือไม่ก็เท่านั้นเอง เนื่องจากหลังที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.มีผลบังคับใช้ จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาการคงอยู่และสรรหากกต.เพิ่มเติม

โดยเบื้องต้นในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.นั้น พบว่าในส่วนบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสถานะของกกต.ปัจจุบันนั้น กรธ.มีแนวคิดว่า ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 203 ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น พิจารณาและวินิจฉัยว่าประธานและกรรมการกกต. ผู้ใดซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งตามพ.ร.ป.กกต.

โดยให้แล้วเสร็จนับแต่วันภายใน 15 วันนับแต่วันที่พ.ร.ป.กกต.นี้ใช้บังคับ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด จากนั้นให้มีการดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกเพื่อให้ได้มาซึ่งกกต. ตามพ.ร.ป.กกต.นี้ให้ครบ 7 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการสรรหามีคำวินิจฉัย และในระหว่างนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้ามีกกต.ที่เหลืออยู่ไม่ถึงสี่คนให้กระทำได้เฉพาะการที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ในเรื่องดังกล่าว สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. ได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ แต่ไม่ใช่เรื่องของความเห็น หากแต่เป็นประเด็นที่ยึดตามตัวบทกฎหมายล้วนๆ เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้บังคับแล้ว และในบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. ไม่มีการยกเว้นกกต.ที่คุณสมบัติไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นไปโดยทันที ไม่มีอะไรที่โต้แย้งได้

ขณะที่มีกกต.บางคนเคยดักคอไว้ก่อนหน้านี้ว่า หากกกต.ชุดเก่าต้องมีอันเป็นไป จะทำให้การทำงานในการจัดการเลือกตั้งมีปัญหานั้น สดศรีชี้ว่า แม้จะทำให้กกต.บางคนต้องพ้นไปและมีการสรรหาใหม่เข้ามาเพิ่ม การทำงานร่วมกันระหว่างคนเก่ากับคนใหม่ก็คงไม่มีปัญหา เพราะการทำงานของกกต.เหมือนราชการ มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเป็นกำลังหลัก ก็ทำงานต่อไปได้

สิ่งที่น่าจะโดนใจคนส่วนใหญ่ที่ติดตามการทำงานของกกต.คณะนี้มาโดยตลอดนั่นก็คือ คิดว่ากรธ.หรือแม้แต่ในกรรมการกกต.ด้วยกันเอง และพนักงานกกต. ก็อาจจะมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะการทำงานของกกต.ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพ กรรมการบางคนอาจจะวันแมนโชว์ ดังนั้น ถ้ามีการสรรหาคนใหม่เข้ามาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

คำถามที่น่าคิดอีกประการคงหนีไม่พ้น แล้วตำแหน่งประธานกกต.ที่เคยตกปากรับคำกันเป็นสัญญาสุภาพบุรุษก่อนหน้านั้นจะทำอย่างไร หากคนที่เรียกร้องไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและยังเป็นกกต.ต่อไปได้ สดศรีก็มองและเชื่อว่าในข้อกฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดนั่นก็คือ ตำแหน่งประธานต้องพูดคุยกันใหม่เพราะตามกฎหมายใหม่แล้วผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานต้องได้รับความเห็นชอบจากกกต.ที่เหลืออีก 6 คน

อย่างไรก็ดี มีชัยเคยให้ความเป็นไปก่อนหน้านี้แล้ว กรณีตำแหน่งประธานกกต.นั้นหากคนที่เป็นอยู่ปัจจุบันคือ ศุภชัย สมเจริญ ลาออก ณ วันนี้ยังสามารถที่จะเป็นกกต.ต่อไปได้ แต่หากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ คนที่ลาออกจากเก้าอี้ประธานก็จะมีอันต้องพ้นสภาพความเป็นกกต.ไปด้วย ตรงนี้ถ้าเจ้าตัวไม่ขาดคุณสมบัติแล้วอยู่ต่อ อาจจะมีปัญหาในแง่ของการตีความกันอยู่เหมือนกัน

แต่แม้จะเห็นดีต่อกรณีดังกล่าว สดศรีก็ยังมีข้อเรียกร้องต่อว่า หากกรธ.จะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับกกต. ก็ต้องใช้กับกรรมการองค์กรอิสระอื่น ๆ เหมือนกันหมด เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการไม่ยุติธรรมกับกกต. เนื่องจากคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 50 มาก และเห็นว่า หากกรธ.ผ่อนปรนเรื่องคุณสมบัติให้กับ ป.ป.ช.ก็จะเกิดคำครหาตามมา

ข้อครหาที่ว่าในมุมของสดศรี และน่าขีดเส้นใต้เป็นอย่างยิ่งนั่นก็คือ หากใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับกกต.แต่ยกเว้นป.ป.ช. เพราะวันข้างหน้าจะมีการเลือกตั้งจึงต้องการให้คนของใครเข้ามาดูแลหรือเปล่า และที่ป.ป.ช.ไม่โดนก็เพราะกรรมการป.ป.ช.เป็นคนของใครหรือเปล่า ซึ่งกรธ.ไม่ควรทำให้เกิดคำถามลักษณะนี้ขึ้นกับสังคม เพราะไม่เป็นผลดีกับกรธ.และรัฐบาลเอง

เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป แต่ในส่วนของกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับกกต.นั้น ยังมีอีกประเด็นที่ต้องติดตามกันเรื่องกกต.จังหวัด เพราะกรธ.ยืนยันแล้วว่าจะยังคงมีต่อไป แต่ในกรณีการจัดการเลือกตั้งจะมีคณะผู้ตรวจการการเลือกตั้งแทน ทว่าสดศรีเสนอให้ยกเลิกกกต.จังหวัดไปเลย ด้วยเหตุผลที่ผ่านมา การเลือกบุคคลมาเป็นกกต.จังหวัดและการทำงานของกกต.จังหวัดเป็นปัญหามาก

โดยในการคัดเลือกก็จะมีเรื่องอิทธิพลของนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถูกมองว่าเป็นคนของนักการเมือง ขณะที่การทำงานกกต.จังหวัดหลายแห่งพบว่าเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของพนักงานประจำ ที่พบบ่อยคือมีการเปิดเผยข้อมูลการพิจารณาสำนวนทุจริต เช่น บอกว่ากกต.จังหวัดมีความเห็นเสนอกกต.กลางให้ใบเหลือง ใบแดง ในสำนวนนี้ ทั้งที่สำนวนดังกล่าวกกต.กลางยังไม่ได้มีการพิจารณา

แม้จะเป็นเสียงสะท้อนของกกต.เพียงคนเดียว แต่เชื่อว่าอดีตกกต.อีก 2 รายที่ไปนั่งในกรธ.อย่าง อภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธานและ ประพันธ์ นัยโกวิท ก็น่าที่จะเห็นปัญหาไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่า ปมที่เจอมานั้น จะนำไปเขียนกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ หรือแค่ตีกันบางคนบางพรรคการเมือง เรื่องนี้ต้องรอพิสูจน์จากเนื้อหากฎหมายที่สำเร็จรูปแล้ว แต่เท่าที่ดูอาการของคนบางคนในกรธ.แล้วน่าห่วงว่า กฎหมายที่ออกมามันจะถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นธรรมเสียมากกว่า

Back to top button