จากจีนถึงญี่ปุ่นพลวัต 2016
ระหว่างที่ธุรกิจทั่วโลกจับตารอคอยการแถลงต่อรัฐสภาของนางเจเน็ต เยลเลน การประชุมนอกรอบสุดสัปดาห์นี้ของกลุ่มโอเปก ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรก็พากันหวั่นไหวไปกับการคาดเดาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ที่ตลาดหุ้นโตเกียว และตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้สถานการณ์แตกต่างออกไป เพราะดูเหมือนทุกอย่างจะผันผวนอย่างรวดเร็วเกินคาด
ระหว่างที่ธุรกิจทั่วโลกจับตารอคอยการแถลงต่อรัฐสภาของนางเจเน็ต เยลเลน การประชุมนอกรอบสุดสัปดาห์นี้ของกลุ่มโอเปก ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรก็พากันหวั่นไหวไปกับการคาดเดาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ที่ตลาดหุ้นโตเกียว และตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้สถานการณ์แตกต่างออกไป เพราะดูเหมือนทุกอย่างจะผันผวนอย่างรวดเร็วเกินคาด
ค่าเงินเยน และหยวน ต่างแปรปรวนรวดเร็วทั้งระหว่างวัน และข้ามวัน ชนิดที่ไม่อาจคลาดสายตาได้ เพราะถูกแรงกดดันจากค่าดอลลาร์ที่ถูกกระแสคาดเดาว่าจะแข็งค่ามากขึ้น ทำให้แกว่งไกวอย่างมาก
ค่าเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับแต่ทราบผลของการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ จนกระทั่งล่าสุดค่าเงินหยวนทำสถิติอ่อนค่าลงติดต่อกัน 10 วันทำการ ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ อ่อนสุดในรอบ 8 ปีไปเรียบร้อยแล้ว
เงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลหลายด้านพร้อมกันคือ นักลงทุนต่างชาติ พากันขายหุ้นทิ้งในตลาดเซี่ยงไฮ้ กดดันให้ดัชนีปรับตัวลง เพื่อนำเงินไปถือดอลลาร์สหรัฐแทน โดยเฉพาะหลังจากที่ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการเก็งกำไรว่า แรงสนับสนุนให้เฟดทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ระบุเมื่อวานซืนว่า หากเฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้า ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาด พร้อมระบุว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดปรับตัวสู่ระดับเป็นกลาง
นายบูลลาร์ด ยังกล่าวว่า เหตุผลเดียวที่จะทำให้เฟดระงับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. อยู่ที่ตลาดการเงินโลกผันผวนรุนแรง หรือสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่มากกะทันหัน
ยุคของดอลลาร์อ่อน และดอกเบี้ยในสหรัฐต่ำ ที่เปิดทางให้กับการทำกำไรจาก ดอลลาร์ แครี่ เทรด ในหลายปีมานี้ ได้จบสิ้นลงอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วเรียบร้อย สิ่งที่จะต้องทำคือ กลับไปถือดอลลาร์เพื่อความปลอดภัยก่อน
เมื่อวานนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 109.35 เยน จากระดับ 109.13 เยนเมื่อวันก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับหยวน โดยเช้าวานนี้ China Foreign Exchange Trading System (CFETS) รายงานว่า เงินหยวนอ่อนค่าลง 1.00% แตะที่ 6.8692 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นท่าทีใหม่ เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง ทางการจีนโดยธนาคารกลาง ได้ทุ่มเงินจำนวนหนึ่งเข้าแทรกแซงตลาดแบบ ”หักดิบ” เพื่อให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นในคืนวันพุธที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนสามารถทำให้ค่าหยวนที่อ่อนค่าไปเกือบทะลุ 6.9218 หยวนต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมาปิดตลาดที่ระดับ 6.7900 หยวนต่อดอลลาร์
การกลับมาอ่อนค่าภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง (แม้จะข้ามวัน) ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ “เอาไม่อยู่” ของทางการจีนในการพยายามประคองให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพ เพราะเกรงว่านอกเหนือจากทุนเก็งกำไรต่างชาติที่ถอนตัวออกจากจีนแล้ว อาจจะมีทุนในจีนที่อาศัยลูกมั่วผสมโรงไหลออกจากประเทศไปหาที่ปลอดภัยในตลาดอื่นๆ แทน ที่อาจจะทำให้ค่าเงินหยวนเลวร้ายลงมากขึ้น เพราะปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
นักวิเคราะห์ที่มีอิทธิพลต่อตลาดจีนและฮ่องกง หลายสำนัก ระบุคล้ายกันว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนอาจถือโอกาสปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ในช่วงที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เพราะแม้เงินหยวนอาจจะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงต้นเดือนม.ค. ที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทั้งสกุลเงินดอลลาร์ และตะกร้าเงิน
นอกจากนั้น ยังมีการพยากรณ์เพิ่มเติมว่า ในภายหน้าเงินหยวนอาจอยู่ภายใต้แรงกดดันในระยะสั้น แต่มีโอกาสไม่มากที่เงินหยวนจะอ่อนค่าในระยะกลางและในระยะยาว โดยยังคงคาดการณ์ว่าค่าเงินหยวนในปีหน้าไว้ที่ระดับ 6.9800 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
การอ่อนค่าของเงินหยวนในช่วงนี้ ถือเป็นปริศนาสำคัญที่ยังไม่มีใครถอดรหัสออกมา เพราะดูสวนทางกับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เนื่องจากตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจหลายรายการได้เริ่มกระเตื้องมากขึ้นแล้ว เมื่อวานนี้ ยังมีตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีการขยายตัวได้ดีในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 4.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน คิดเป็นจำนวนเงินมากถึงระดับ 6.663 แสนล้านหยวน (9.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ตลาดภาคบริการของจีน ยังคงดึงดูดเม็ดเงิน FDI มูลค่ามหาศาลในช่วงเดือนม.ค.-ต.ค. โดย FDI ในภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70.7% ของ FDI โดยรวมนั้น ขยายตัว 9.1% โดยเม็ดเงิน FDI จากสหรัฐ ทะยานขึ้น 79.8% และ FDI จากสหภาพยุโรป พุ่งขึ้น 41.5%
ตัวเลขดังกล่าว ขัดแย้งหรือสวนทางกับการวิเคราะห์ของบรรดาคนที่อ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนทั้งหลายที่คาดเดาว่า ในยุคของนายทรัมป์นั้น สหรัฐกับจีนจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นจากแนวทางที่ประนีประนอมลดลง
การอ่อนค่าของหยวนเทียบกับดอลลาร์ ที่จีนอ้างว่าจำต้องถือเป็นเรื่องกังวล เพราะความจำเป็นในการป้องกันปัญหาเรื่องทุนไหลออกจากประเทศ จึงมีเงื่อนงำไม่ปกติธรรมดา ว่ามีเจตนาที่ซ่อนเร้นอะไรบางอย่างของการเมืองระหว่างประเทศ แต่คำตอบก็ยังไม่ชัดเจน
ระหว่างนี้ค่าหยวนจีนและดอลลาร์สหรัฐ จึงเกิดแรงเหวี่ยงที่ทำให้นักลงทุนขวัญผวาเป็นสำคัญ ในขณะที่ตัวการที่ทำให้ค่าเงินแปรปรวนนั้น ไม่ได้ถือเป็นเรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด
นั่นยิ่งทำให้นักลงทุนในตลาดเก็งกำไร ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดมากกว่าระดับปกติ เพราะในความแปรปรวนนี้ มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงปะปนอยู่ด้วยทุกระดับและทุกขั้นตอนที่ก้าวย่างไป