AOT ได้เวลาแหกจารีตแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
นานมาแล้ว มีคำถามว่าเหตุใดราคาพาร์ของหุ้นบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยู่ที่ 10 บาท ..ยกเว้น PTTEP ที่มีราคาพาร์ 1 บาท ตั้งแตปี 2549 ในยุคของนายกรัฐมนตรีไทยชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
นานมาแล้ว มีคำถามว่าเหตุใดราคาพาร์ของหุ้นบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงอยู่ที่ 10 บาท ..ยกเว้น PTTEP ที่มีราคาพาร์ 1 บาท ตั้งแตปี 2549 ในยุคของนายกรัฐมนตรีไทยชื่อ ทักษิณ ชินวัตร
คำตอบมักจะได้แบบทื่อมะลื่อว่า เป็นกติกาที่ไม่ได้ประกาศ…. หุ้นรัฐวิสาหกิจนั้นถือเป็นหุ้นตัวแทน “หน้าตา” ของรัฐบาลในฐานะที่เป็นหุ้น “บลูชิพ” …ดังนั้น จะต้องไม่ทำขายขี้หน้าให้ราคาพาร์ต่ำกว่า 10 บาทเป็นอันขาด
ถามว่ากติกานี้มาจากไหน…คำตอบอ้อมๆ แอ้มๆ (แบบ “เขาบอกว่า”…โดยไม่ยอมบอกว่า “เขา”นั้นคือใคร) คือ..บ่ฮู้ บ่หัน
หลักเกณฑ์ที่ไร้สาระดังกล่าว ได้ถูกทำลายลงไปอีกครั้ง โดยมติของคณะกรรมการบริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT
การประชุมคณะกรรมการ AOT สัปดาห์นี้ มีมติดังกล่าวออกมาเมื่อ นางสาวชนาลัย ฉายากุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานกฎหมายและเลขานุการบริษัท) ของ AOT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 มีมติเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) ของบริษัทเป็นหุ้นละ 1 บาท จากเดิมหุ้นละ 10 บาท โดยกำหนดเปิดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 เพื่อขอผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันที่ 27 ม.ค. 2560
การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้เป็นหุ้นละ 1 บาท จะส่งผลให้มีจำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 14,285,700,000 หุ้น จากเดิมมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ 10 บาท มีจำนวนหุ้นรวม 1,428,570,000 หุ้น…เพิ่มขึ้น 10 เท่าตัวในทันทีเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติรับรอง
การแตกพาร์ (เรียกให้ถูกต้องคือ Share Split) หลังจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จะไม่ส่งผลให้ทุนจดทะเบียน AOT เปลี่ยนไปจากเดิม ยังคงมีทุนจดทะเบียน 14,285,700,000 บาท และมีทุนชำระแล้ว 14,285,700,000 บาท แต่จะทำให้มาร์เก็ตแคปของ AOT เพิ่มขึ้น จากการที่ราคาหุ้นไม่ลดลงไป 10 เท่าตามจำนวนหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น
ในทางทฤษฎี การแตกพาร์ หรือ Stock Split คือ การที่บริษัทแตกหุ้นจดทะเบียนที่มีอยู่ออกตามสัดส่วนที่ต้องการ ส่งผลให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น แต่มาร์เก็ตแคปยังคงเท่าเดิม หุ้นที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้ทำให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น แต่จะไปลดมูลค่าหุ้นเดิมตามสัดส่วนที่แตกออกมาแทน ยกตัวอย่างง่ายๆ คือเหมือนกับการแตกเหรียญ 10 เป็น 5 บาทสองเหรียญ หรือเป็นเหรียญบาท 10 เหรียญ จำนวนเหรียญมากขึ้นแต่มูลค่ายังคงเท่าเดิม แต่ในทางปฏิบัติ โอกาสที่มาร์เก็ตแคปจะเพิ่มขึ้น เป็นไปได้มาก หากว่าบริษัทยังมีกำไรต่อเนื่อง
กลยุทธ์การแตกพาร์ ของ AOT ไม่ใช่เรื่องแรก และไม่ใช่กรณีสุดท้าย เพราะในตลาดทุนทั่วโลก มีการปฏิบัติมายาวนาน โดยที่ผู้บริหารและกรรมการ ต้องการให้หุ้นมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นจากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น หรือหุ้นซื้อขายเปลี่ยนมือกันง่ายขึ้นจากราคาหุ้นที่ลดลงจนสามารถซื้อขายได้สะดวก ไม่ใช่สำหรับรายใหญ่จำนวนน้อย
ในทางกลับกัน กลยุทธ์แตกพาร์เพื่อสร้างราคาหุ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็น อาจใช้การแตกพาร์เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างราคาหุ้นให้สูงเกินพื้นฐานความเป็นจริง หรือ (ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้บริหารบางคน รู้ข่าววงในก่อน อาจจะแอบซื้อเก็บหุ้นไว้ตอนราคาถูก แล้วจับไปยัดใส่มือรายย่อยในราคาแพงหลังประกาศแตกพาร์
ในกรณีของ AOT ที่มีกำไรเติบโตตามธุรกิจการบินและการเดินทางของผู้คนทางอากาศที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีสนามบินให้บริหารเพียง 5 แห่งทั่วประเทศ แต่ก็ล้วนเป็นสนามบินขนาดใหญ่ทั้งสิ้น…จะเรียกว่า ธุรกิจ “เสือนอนกิน” ก็คงไม่ผิด แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด
ปริมาณการเดินทางทางอากาศที่เติบโตทุกปี โดยปี 2559 AOT มีผู้โดยสารรวม 119.92 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.30% แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 68.06 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ 51.86 ล้านคน มีปริมาณเที่ยวบินรวม 776,922 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.83%
นอกจากนั้น AOT ยังมีความสามารถในการหารายได้ที่เกี่ยวกับกิจการบิน (Aero) โดดเด่นและเพิ่มขึ้นทุกปี โดยล่าสุดรายได้ส่วนนี้มีมากถึง 29,187.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.15% รวมทั้ง รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการบิน (Non aero) อยู่ที่ 21,774.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.34% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ 1,888.88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.10%
ความสามารถในการทำกำไรที่ต่อเนื่อง แม้จะมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลง (ในบางช่วง) ทำให้ราคาหุ้นของ AOT ที่มีราคาพาร์ 10 บาท พุ่งขึ้นต่อเนื่องนับแต่แรกเข้าตลาดเมื่อปี 2547 ที่ระดับราคา 49 บาท แล้วลดต่ำลงมาในช่วงวิกฤตซับไพร์มของสหรัฐฯในปี 2551 ที่ระดับ 17.00 บาท มาจนถึงระดับเหนือ 360 บาทในปัจจุบัน ก็ถือว่า ทำให้หุ้น AOT ราคาสูงเกินกว่านักลงทุนรายย่อยจะให้ความสนใจ
การแตกพาร์ จึงเป็นการย้อนกลับมาทำให้ AOT มีฐานะเป็น “หุ้นมหาชน” ตามเจตนาแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่แรกเริ่มที่ชัดเจน
ใครก็คงไม่เถียง…และคงไม่มีใครหาว่า “ขายสมบัติชาติ” อีก…
“อิ อิ อิ”