พาราสาวะถี อรชุน
เลื่อนไปจากกำหนดเดิมกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เดิมที มีชัย ฤชุพันธุ์ และชาวคณะกรธ.ส่งสัญญาณว่าจะส่งอวดสายตาต่อสาธารณะได้ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริง ยังไม่เรียบร้อยจึงต้องขยับออกมาอีกเป็นภายในสัปดาห์นี้ เราทั้งหลายจึงจะได้เห็นหน้าตาของกฎหมายลูกฉบับนี้ว่าหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร
เลื่อนไปจากกำหนดเดิมกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่เดิมที มีชัย ฤชุพันธุ์ และชาวคณะกรธ.ส่งสัญญาณว่าจะส่งอวดสายตาต่อสาธารณะได้ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริง ยังไม่เรียบร้อยจึงต้องขยับออกมาอีกเป็นภายในสัปดาห์นี้ เราทั้งหลายจึงจะได้เห็นหน้าตาของกฎหมายลูกฉบับนี้ว่าหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร
เมื่อเจอโรคเลื่อนและดูทีท่าว่าร่างกฎหมายออกมา น่าจะเป็นไปในทิศทางที่สร้างความยุ่งยากลำบากให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองเสียมากกว่า ด้วยเหตุเช่นนี้จึงทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันอึงมี่จากบรรดาคนการเมืองทั้งหลาย จากที่เคยอยู่ขั้วตรงข้ามมองทุกเรื่องต่างกัน แต่หนนี้เราจะเห็นได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์และคนของพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เห็นตรงกัน
นั่นเป็นเพราะร่างรัฐธรรมนูญจนมาถึงร่างกฎหมายลูก ล้วนแล้วแต่มี “ธง” หรือ “ใบสั่ง” ไว้ล่วงหน้า จะต้องรูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน เรียกได้ว่าเป็นโคลนนิ่งของแป๊ะตรงเป๊ะเลยทีเดียว จะบิดเบี้ยว ไม่ตรงและตามใจต้นฉบับไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเสียงทักท้วงหรือข้อเสนอแนะทั้งมวลไม่ว่าจะจัดขึ้นกี่เวทีและเป็นเวทีซึ่งเป็นความสมัครใจหรือเกณฑ์กันมาก็สุดแท้แต่ นั่นมันแค่พิธีกรรม
ด้วยเหตุนี้ อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย จึงมองว่าเหตุที่ทำให้เนื้อหาของกฎหมายลูกผิดเพี้ยนไปจากหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่ระบุเจตนารมณ์ส่งเสริมให้บุคคลมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น เพราะผู้ที่มีหน้าที่เสนอความคิดเห็นในร่างกฎหมายลูกทั้งกกต.หรือกรธ.เอง ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือทำพรรคการเมืองมาก่อน เป็นมุมมองของนักวิชาการและข้าราชการประจำเท่านั้น ที่สำคัญยังมีหลายกรณีที่ชี้ชัดว่า ไม่รับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของนักการเมือง
หลายประเด็นในร่างกฎหมายพรรคการเมือง สะท้อนให้เห็นว่า มีความพยายามบั่นทอนให้พรรคและการเมืองไทยอ่อนแอ สร้างข้อจำกัด วางกฎระเบียบจำนวนมากที่เต็มไปด้วยอคติต่อฝ่ายการเมือง ซึ่งเชื่อว่าหากดื้อดึงออกมาในลักษณะที่ว่านี้จะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นก่อนถึงการเลือกตั้ง เพราะมีการควบคุมพรรคการเมือง มากกว่าส่งเสริมให้พรรคสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
ด้าน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ก็เปรียบเทียบได้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า ร่างรัฐธรรมนูญเหมือนหัวใจใหม่ที่เพิ่งจะผ่าตัดเปลี่ยนไปพร้อมที่จะทำงาน สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนเรา ขณะที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ก็เปรียบเหมือนอวัยวะต่างๆ ที่จะทำให้ร่างกายคนเราดูสมบูรณ์ ดูดี ไม่พิกล พิการ ทุพพลภาพ เดินเหินได้ เช่น แขนขา มือไม้ ตับ ไต ไส้ พุง ฯลฯ
ดังนั้น อยากจะขอให้กรธ.ทำกฎหมายลูกออกมาให้ดี ไม่ใช่ เอาแขนขาเทียมที่ทำขึ้นมาจากวัสดุที่ด้อยคุณภาพ ราคาถูกมาทำเป็นอวัยวะ แล้วในที่สุดก็ต้องมานั่งซ่อมแซม เปลี่ยนอวัยวะเทียมเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ซ่อมมาเท่าไหร่ก็ไม่ดี เพราะช่างซ่อมแต่ละทีมนั้นไม่มีฝีมือ ยิ่งเจอทีมช่างที่ขี้โกงเอาของไม่ดีมาทำเป็นอะไหล่ มาหลอกใช้ในการซ่อมแซมก็ยิ่งแย่กันไปใหญ่
หรือไม่ช่างทำออกมาไม่ดี ใส่เข้าไปแล้วดูแข็งกระด้าง เทอะทะ ไม่ยืดหยุ่น ไม่เข้ากับร่างกาย ดูกระโดกกระเดก ไม่อ่อนโอนไปตามสภาพของร่างกายและสภาวะแวดล้อมรอบข้างที่เปลี่ยนไป ดังนั้น จึงขอกรธ. พิจารณาจัดทำกันให้ดี คิดกันให้รอบคอบ ประเทศเป็นของชาวไทยทุกคน ขอให้การยกร่างกฎหมายประกอบต่างๆ อย่าให้มีบทบัญญัติที่เป็นการบีบบังคับ แข็งกร้าว บีบรัด เอาเปรียบ ทำอะไรกันแทบไม่ได้ จนดูเกินงาม
เช่นเดียวกับกรณีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องคิดกันให้หนัก อย่าให้ประเทศถึงทางตัน อีกทั้งอย่าให้คนเขานั่งด่าหรือสาปแช่งไล่หลัง เปรียบเปรยได้ว่า ไปเอาทีมช่างไร้ฝีมือมาจากที่ไหน มาทำอวัยวะเทียมกันแบบนี้ได้อย่างไร ทำให้คนดีๆ ดูอัปลักษณ์หรืออาจทำให้คนเขาถึงตายได้ เพราะอวัยวะทำงานได้ไม่ดี หกล้ม หัวคะมำศีรษะฟาดพื้น เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
แม้จะดูเป็นการกระทบกระแทก แต่ก็ถือว่าตรงไปตรงมา ฉายภาพให้เห็นการซุกซ่อนเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมทำให้อนาคตของบ้านเมืองที่จะก้าวไปข้างหน้ามีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่ฟังคำชี้แจงของผู้ยกร่างผ่าน อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.แล้ว สัญญาณที่ออกมามันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนและมีอะไรแอบแฝงได้อย่างเด่นชัด
การที่บอกว่าจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบว่า เมื่อเขียนแล้วในทางปฏิบัติสามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องที่กรธ.คิดนั้นพยายามเขียนไม่ให้มากไปหรือน้อยไป พยายามคิดทั้งในเชิงบวกและลบ แต่โดยภาพรวมเท่าที่ปรากฏเป็นข่าว จะเห็นได้ว่ามันเป็นไปในเชิงลบเสียมากกว่า การเขียนกฎหมายโดยคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์และจะสร้างปัญหา นั่นน่าจะเป็นบทพิสูจน์ว่า สิ่งที่คิดและทำกันนั้นมันชอบธรรมหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่โฆษกกรธ.รายนี้ยืนยัน หลายคนคงงุนงงสงสัยว่า มันจะเป็นไปอย่างไร กับการที่บอกว่า ต้องการเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้รับทราบเนื้อหาและร่วมแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หรือสามารถซักถามในประเด็นที่สงสัยได้ หลังจากที่กรธ.ได้เปิดเผยร่างกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมืองไปแล้ว
ก่อนจะออกตัวว่า การจัดทำกฎหมายลูกขั้นตอนไม่ได้จบที่กรธ.แต่ไปจบที่สนช. ดังนั้น ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อทำแบบนี้แล้วสนช.ก็คงจะเป็นฝ่ายเก็บข้อมูลแล้วนำกลับไปพิจารณาต่อว่าอะไรเหมาะอะไรควรบ้าง ถ้าเช่นนั้นก็ต้องถามต่อไปว่าแล้วสนช.จะรับฟังความเห็นของใครบ้าง เพราะสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า กระบวนการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาไม่ว่าขององค์กรใดก็ไร้ประโยชน์
นั่นก็คือคำยืนยันของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่บอกว่ากระบวนการรับฟังความเห็นเป็นแค่พิธีกรรม เพราะท้ายที่สุดกรธ.ก็ไม่ฟังเสียงท้วงติงใดๆ เช่นเดียวกันกับท่าทีของสนช.ที่พอจะเห็นได้ว่างานถนัดนอกจากชื่นชมท่านผู้นำแล้ว ไม่เห็นมีข้อเสนอแนะหรือท้วงติงใดๆ อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและใส่ใจต่อปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงกล้ายืนยันว่าสิ่งที่คนดีทั้งหลายทำกันมาและอ้างว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ สุดท้ายแล้ววังเวงสิ้นดี