SUPER สวรรค์ และนรกอยู่ที่จอมทรัพย์
วันที่ 31 มีนาคม 2560 เป็นวันที่กำนดครบอายุแปลงสิทธิ SUPER-W3 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ รุ่นที่ 3) จำนวน 2,014.78 ล้านหน่วย ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิทั้งสิ้น 5 ครั้งในวันทำการสุดท้ายของเดือน ก.พ.59, พ.ค.59, ส.ค.59 และ 30 พ.ย.59 ซึ่งผ่านมาแล้ว และไม่มีคนแปลงสิทธิเป็นหุ้นสามัญเลย
แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
วันที่ 31 มีนาคม 2560 เป็นวันที่กำนดครบอายุแปลงสิทธิ SUPER-W3 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ รุ่นที่ 3) จำนวน 2,014.78 ล้านหน่วย ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิทั้งสิ้น 5 ครั้งในวันทำการสุดท้ายของเดือน ก.พ.59, พ.ค.59, ส.ค.59 และ 30 พ.ย.59 ซึ่งผ่านมาแล้ว และไม่มีคนแปลงสิทธิเป็นหุ้นสามัญเลย
เหตุผลของการไม่แปลงสิทธิเพราะว่ามีเงื่อนไขที่ระบุว่า “…อัตราการใช้สิทธิที่ใบสำคัญแสดงสิทธิ 1 หน่วย สามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ 1 หุ้น ในราคาหุ้นละ 4 บาท..”
โถ…ก็ราคาหุ้นสามัญหรือ หุ้นแม่ ยังต่ำเตี้ยที่ระดับ 1.50 บาทเศษ แล้วใครหน้าไหนจะบ้าไปแปลงสิทธิเพื่อเสียเงินเพิ่มอีก 4.00 บาท…แค่นี้ก็ขาดทุนจะแย่อยู่แล้ว
ตอนนี้ เหลือให้ลุ้นการแปลงสิทธิ SUPER-W3 อีก 1 ครั้งเท่านั้น คือ 31 มี.ค.60 …แต่เนื่องจากวันดังลก่าวเป็นวันเสาร์ ดังนั้นวันสุดท้ายในการแปลงสิทธิที่ถูกต้องคือ 30 มี.ค. …หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความหวังที่ SUPER จะมีเงินสดเข้ามาในส่วนผู้ถือหุ้นอีก 8 พันล้านบาทเศษ ก็จะไม่เกิดขึ้น…
หากทำไม่ได้ ความฝันของผู้บริหารของ SUPER นำโดยนายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานกรรมการบริษัท ในอนาคตที่วาดเอาไว้สวยงามในฐานะผู้นำพลังงานทางเลือกของไทย จะอันตรธานไปอย่างง่ายดาย หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนในธุรกิจดังลก่าวไปแล้วมากถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาทและเริ่มทยอยผลิตดอกออกผลนับแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมาอย่างช้าๆ
ผลประกอบการสิ้นสุดไตรมาสสามของ SUPER (30 ก.ย.59) บริษัทมีกำไรสุทธิ 312.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 448.82 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 328.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 136.68 ล้านบาท และมีรายได้รวม 1,215.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,126.08 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,262.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 89.22 ล้านบาท จากการที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วประมาณ 675.90 เมกะวัตต์ จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อยู่ประมาณ 770 เมกะวัตต์
การกลับมาทำกำไรสวยอย่างนี้ ทำให้ SUPER เข้าข่าย…ทองแท้ที่แม้จะถูกหลอมละลาย มูลค่ายังอยู่ครบ และมีแต่จะงอกเงยมากขึ้น ถือเป็นช่วงเวลาการเทิร์นอะราวด์อย่างแท้จริงของ SUPER แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงจะพลาดเป้า ไม่สามารถทำได้ตามความหวังที่ว่าจะสามารถมี COD ได้ภายในปีนี้ 1,000 เมกะวัตต์ แต่จะทำได้เพียงแค่เกือบ 900 เมกะวัตต์
การที่ไม่สามารถทำได้ครบตามที่ประกาศเอาไว้นี่แหละ ทำให้เกิดปัญหาเพราะราคาหุ้นไม่สามารถทะยานขึ้นไปเหนือ 2.00 บาทได้ เพราะพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยให้ราคาทะยานได้ และทำให้เดิมพันแปลงสิทธิ SUPER-W3 ยุ่งยากมากขึ้น และอาจจะทำลายฝันในอนาคตจากการที่มีแผนธุรกิจที่จะเตรียมความพร้อมรองรับการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ในอนาคต ทดแทนรายได้จากในประเทศที่เริ่มลดน้อยลง
แผนรุกเข้าไปในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ 1-2 แห่งในประเทศญี่ปุ่นและจีน รวมทั้งการเตรียมขยายการลงทุนในพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ซึ่งนายจอมทรัพย์ระบุว่า ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
ทางเลือกของ SUPER ในการฝ่าข้ามเพื่อบรรลุความฝันอันเลิศหรู มี 4 ทางในเวลาอีก 3 เดือนข้างหน้าคือ
1) ต้องดันราคาหุ้นสามัญ SUPER ให้แพงกว่า 4.00 บาท ภายในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะโรค “เร่งไม่ขึ้น”
2) ไม่มีการแปลงเกิดขึ้นเลย และไม่ทำอะไรทั้งสิ้น
3) ตั้งกองทุน IFF ซึ่งนายจอมทรัพย์ระบุว่า จะเอาโรงไฟฟ้าในกลุ่มตั้งแป็นบริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ ขายทรัพย์สินเข้ากองทุน 12-.2-1.8 หมื่นล้านบาท
4) แยกกิจการไฟฟ้า ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ เข้าจดทะเบียนในตลาด ปล่อยให้แม่ทำอย่างอื่น กลายเป็นโฮลดิ้งไทย
โจทย์ท้าทายคือ จะทัน 30 มีนาคม 2560 ไหม
นายจอมทรัพย์ ดูจะมองหาทางหนีทีไล่เอาไว้ล่วงหน้าพอสมควร โดยเขาออกมายืนยันว่า ไม่ถึงกับอับจน เพราะเตรียมเอาไว้ 2 ทางแล้วคือ ทางเลือกที่ 3 และ 4
นายจอมทรัพย์ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท โดยใช้รายได้ในอนาคตของโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 100-200 เมกะวัตต์ (MW) เป็นทรัพย์สินในการระดมทุน และจะนำบริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SSE) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงปี 2560 ในเวลาไล่เลี่ยกัน
แผนตั้งกองทุน ผู้บริหารของ SUPER ได้หารือร่วมกับ BBL ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้กู้หลักของบริษัทมาต้งแต่ต้นในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าหากระดมทุนจากกองทุนในวงเงิน 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เพียงพอที่จะหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ได้ราว 800 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะขยายกองทุนให้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาด้วย
การตั้งกองทุน และการนำบริษัทลูกเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกราย ทำให้สอดคล้องกับนโยบายของ SUPER ที่ไม่ต้องการเพิ่มทุนใหม่อีก เพราะปัจจุบันยังสามารก่อหนี้ได้เพิ่มจากดี/อี ปัจจุบันต่ำกว่า 2 เท่า
คำถามก็คือ การตั้งกองทุน และระดมทุนบริษัทลูก จะทันกับวันที่ 30 มีนาคม 2560 หรือไม่ เป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่ง
เพราะหากไม่ทัน ก็คงไม่ต้องพูดถึงอนาคตอื่นใด เนื่องจากจะขาดสภาพคล่องทางการเงินในทันที
เกมนี้ ไม่สำคัญเฉพาะแค่ความอยู่รอดของกิจการ SUPER แต่ยังรวมถึงโอกาสของการขายหุ้นทิ้งหรือถือต่อของผู้ถือหุ้นทั่วไปของ SUPER ด้วย
หากตั้งกองทุนสำเร็จก่อนเดือนมีนาคม โอกาสที่ราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไป จนกระทั่งจูงใจให้คนที่ถือ SUPER-W3 อยู่ในมือ ยอมแปลงสิทธิตามเงื่อนไขได้โดยไม่มีข้อแม้ได้ นั่นหมายความว่า การระดมทุนของบริษัทลูกอย่าง SEE อาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้ และที่สำคัญ ค่า ดี/อี จะลดฮวบทันที
สวรรค์ และนรกของ SUPER จึงอยู่ที่ความสำเร็จของการตั้งกองทุนเป็นตัวชี้ขาดสำคัญยิ่ง
ทำได้ก็ขึ้นสวรรค์
ทำไม่ได้ก็ลงนรก
ท่านประธาน จอมทรัพย์…ทราบแล้วเปลี่ยน
“อิ อิ อิ”