พาราสาวะถี อรชุน
เช้าวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลและวันต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทย แน่นอนว่าด้วยการถือธงนำที่จัดการเรื่องนี้ให้เด็ดขาด โดยยุครัฐบาลคสช.จะต้องไม่ให้มีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้น ท่านผู้นำคงมีวาทกรรมที่ฟังแล้วรื่นหูไปฝากผู้ร่วมงานแน่นอน
เช้าวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากลและวันต่อต้านคอร์รัปชั่นของประเทศไทย แน่นอนว่าด้วยการถือธงนำที่จัดการเรื่องนี้ให้เด็ดขาด โดยยุครัฐบาลคสช.จะต้องไม่ให้มีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้น ท่านผู้นำคงมีวาทกรรมที่ฟังแล้วรื่นหูไปฝากผู้ร่วมงานแน่นอน
แต่คำถามคือว่า ในยุคข้าราชการเป็นใหญ่หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐข้าราชการ บ้านเมืองปลอดจากคอร์รัปชั่นจริงหรือไม่ ผลสำรวจความเห็นประชาชนของโพลหลายสำนัก ชาวบ้านยังรู้สึกตรงกันว่าข้าราชการในยุคนี้ยังมีการทุจริตไม่ได้ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐนาวาของนักการเมืองแต่ประการใด
เพียงแต่ว่าผลโพลเหล่านั้นไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดว่า เรียกรับสินบนกันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เท่าที่รู้มา ประเภทที่เคยตราหน้าว่านักการเมืองในบางยุคค่าหัวคิวถูกหักกันสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ วันนี้ก็ไม่ได้ต่างกันสักเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าท่านผู้นำคงไม่ต้องเรียกถามหาใบเสร็จ เพราะขึ้นชื่อว่า “โกง” แล้ว คนชั่วคงไม่ทิ้งหลักฐานให้จับได้
หากไม่มีจริงคงไร้คำสั่งตามมาตรา 44 ในการจัดการกับข้าราชการจำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุผลว่าถูกร้องเรียนและต้องตรวจสอบ เพียงแต่ว่าผลของการตรวจสอบเป็นอย่างไรนั้น ไม่เคยมีการชี้แจงบอกกล่าวกับสังคม เลยไม่มีใครรู้ได้ว่า ตกลงแล้วยุครัฐบาลคสช. ได้กำจัดหรือจัดการข้าราชการขี้ฉ้อไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ และมีบทลงโทษหนักหน่วงรุนแรงอย่างไร
มากไปกว่านั้น หากเป็นความรู้สึกของนักการเมืองก็อาจมองได้ว่านั่นเป็นอคติ แต่นี่เป็นเสียงของประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียภาษี ที่ยังรู้สึกว่าข้าราชการทุจริตอยู่เหมือนเดิม ย่อมเป็นภาพสะท้อนว่าการเข้มงวด เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ของรัฐบาลล้มเหลว ขณะเดียวกันหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ยังมีข้อกังขาให้ค้างคาใจอยู่
นับตั้งแต่ไมค์ทองคำที่มีบทสรุปว่าแค่ส่วนต่างมากเกินไปไม่ใช่ทุจริต จนมาถึงกรณีอุทยานราชภักดิ์แม้จะมีบทสรุปจากทุกภาคส่วนว่าไร้การคอร์รัปชั่น แต่ที่มีการยอมรับว่ามีคนเรียกรับสินบนแต่ได้สั่งให้นำไปบริจาคแล้ว คนก็ยังสงสัยว่าทำแบบนั้นได้ด้วยหรือ เหล่านี้ท่านผู้นำและลิ่วล้ออาจมองว่ามันไม่ใช่สาระ แต่การปล่อยปละหรือให้เวลาลืมเหตุการณ์เหล่านี้ไปเอง มันกลับเป็นแผลที่คอยสะกิดใจตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ยังเคยกล่าวบทเวทีปาฐกถาแห่งหนึ่งถึงเรื่องของการโกงว่า แม้เราจะพยายามดำเนินการอย่างเข้มแข็ง แต่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นก็ยังคงอยู่ และลุกลามไปเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย กัดกร่อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมา
ทำให้ประเทศเรายากจนและถูกดูหมิ่น ดูถูกว่าประเทศไทยขี้โกง คนไทยขี้โกง ซึ่งทำให้ประเทศขายหน้า เป็นเรื่องที่น่าละอายใจ ทั้งนี้ แม้ปัญหาการทุจริตจะดีขึ้นแต่ตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตกลับมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท ดังนั้น เราจะต้องไม่ยอมให้คนไม่ดีมานั่งปล้นชาติเราทุกวัน คำพูดเช่นนี้ย่อมแฝงนัยที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
เป็นธรรมดาของรัฐบาลในยามที่มีอำนาจและยิ่งเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยแล้ว เสียงวิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อกรณีเหล่านี้ย่อมแผ่วเบาไปตามสภาพ แต่ต้องไม่ลืมว่าโดยธรรมชาติของการเมืองแล้ว ยิ่งอยู่นานยิ่งบริหารประเทศไม่เห็นผลงานเป็นที่ปรากฏ จะนำมาซึ่งความเบื่อหน่ายสุดท้ายจะจบลงด้วยเรื่องที่คาดไม่ถึง ซึ่งหลายคนเอาใจช่วยว่ารัฐนาวาของบิ๊กตู่จะไม่มีจุดจบเช่นนั้น เพราะทุกคนมุ่งหวังอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมของคนดี ไม่ใช่แค่สังคมคนดี (แต่พูด)
กฎหมายพรรคการเมืองเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อรับการวิจารณ์ ดังนั้น ทุกกระแสเสียงที่วิพากษ์ไปยังเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องปราบบรรดาสมาชิกผู้ร่วมยกร่างอย่าเพิ่งตอบโต้ใดๆ ให้ฟังกันต่อไปสักระยะ เนื่องจากอย่างไรเสียก็พนันไว้ตรงนี้ได้เลยว่า ข้อเสนอเหล่านั้นก็ไร้การตอบสนองจากกรธ.อยู่ดี
มีหนึ่งประเด็นจากถ้อยแถลงของ อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. ที่ทำให้คนของพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์แสดงความไม่เห็นด้วยทันที นั่นก็คือ หากพรรคการเมืองนำมวลชนออกมาชุมนุมข้างถนนก็จะผิดมาตรา 23 วรรคสี่ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายของพรรคเก่าแก่รีบแสดงความเห็นค้านทันทีว่า การห้ามหรือตัดสิทธิในการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบ ปราศจากอาวุธ อาจขัดกับหลักประชาธิปไตยหรือไม่
พร้อมๆ คำอธิบายว่า เข้าใจในมุมมองเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองดี แต่ทางการเมืองเราต้องมีเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย หากเสียงข้างมากไม่ยอมฟังเสียงข้างน้อย สิ่งที่เสียงข้างน้อยจะทำได้ก็อาจจะเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการห้ามหรือตัดสิทธิ์ไม่ให้ออกมาชุมนุม ก็อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ
พร้อมกับคำถามอีกเรื่องหนึ่งว่า กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองในมาตรา 23 เป็นมาตรการที่เข้าข่ายบังคับพรรคการเมืองให้ต้องทำ ถ้าไม่ทำต้องถูกยุบพรรค ตรงนี้ถือว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวปัญหาที่กรธ.หมกเม็ดหรือไม่ คงต้องฟังคำอธิบายจากพวกศรีธนญชัยด้วยกันเอง แต่ข้อกังวลของวิรัตน์เรื่องยุบพรรคจากการนำมวลชนไปร่วมชุมนุมนั้น ช่วยอธิบายภาพชัดของการเกิดม็อบกปปส.และความเชื่อมโยงกันได้เป็นอย่างดี
แม้จะมีการเล่นแง่โดยให้สมาชิกพรรคที่ไปชุมนุมลาออก แต่สุดท้ายก็ต้องหวนกลับมาร่วมหอลงโรงทำงานการเมืองร่วมกันอยู่ดี บางทีก็เข้าใจกรธ.ที่พยายามจะจับให้ได้ไล่ให้ทันนักการเมืองพวกสับขาหลอก แต่บางครั้งก็อดสมเพชไม่ได้ เพราะอย่างที่รู้และเข้าใจกันดีว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่การรัฐประหารถึง 2 ครั้งในเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 10 ปีนั้น เป็นวิกฤติที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อหาเหตุเอาคนนอกมาเป็นนายกฯได้ทันที ซึ่งนี่เป็นวิธีการที่ขัดหลักประชาธิปไตยและมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดวิกฤติหนักต่อไปในอนาคต