BTS ตัดกระบอก ยังไม่มีน้ำแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ไม่มีใครสมกับฉายา “ไวกว่ากามนิตหนุ่ม” ได้ดีเท่ากับ บรรดานักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ของไทยอีกแล้ว
ไม่มีใครสมกับฉายา “ไวกว่ากามนิตหนุ่ม” ได้ดีเท่ากับ บรรดานักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ของไทยอีกแล้ว
ฉับพลันทันทีที่ รู้ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และ สีชมพู มูลค่ารวม 1.05 แสนล้านบาท ซึ่งปรากฏว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ขั้นต้นไป โดยยังเหลือขั้นตอนตามกฎหมายอีกหลายประการ เสียงเชียร์ให้ “ซื้อ”ก็ดังกันคึกคัก
แถมบางรายแนะ “ขาย”หุ้นในกลุ่มกิจการร่วมค้า BEM และบริษัทในเครือ ช.การช่างกันจ้าละหวั่นเลยทีเดียว
เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าอย่างนี้…เรียกว่า ด้านหนึ่ง ตามเชียร์แขกผู้ชนะ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็ รุมกระทืบซ้ำผู้แพ้…ก็คงไม่ผิด
เอากันจะจะ
ไม่ต้อง ลับ ลวง พราง ให้เสียเวลา
นักวิเคราะห์พากันไปขุดรายชื่อหุ้นที่ นักวิเคราะห์คาดว่า จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว จำนวน 7 หลักทรัพย์ ประกอบด้วยรายที่ได้รับประโยชน์โดยตรง 3 รายคือ 1) BTS 2) STEC 3) RATCH
โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี)ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง)ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท โดยผู้ชนะคือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ หรือ BSR Joint Venture ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH
ส่วนรายที่จะได้รับประโยชน์โดยอ้อมมี 4 ราย ได้แก่ 1) บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI 2) บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND 3) บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO 4) บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON
คำชี้แนะดังกล่าว ได้ผลเกือบทั้งหมด เพราะราคาหุ้นที่ถูกเอ่ยถึง พากันบวกรับข่าวกันอึงคะนึงเลยทีเดียว ….จะมีก็แต่ราคาหุ้น STEC ที่ดูเหมือนจะได้รับมากกว่าโดยเฉพาะถึง 2 เด้ง …ทั้งจาก การร่วมถือหุ้น และรับเหมาก่อสร้างโครงการ….กลับไม่หือไม่อือเสียยังงั้น
ที่น่าสนใจคือ ราคาหุ้นของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างฐานรากโครงการ อย่าง SEAFCO และ PYLON ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ พากันพุ่งกระฉูดเสมือนได้รับสัญญากับเขาไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานเกินครึ่งปี ถึงจะเป็นจริง
คำให้สัมภาษณ์ของนายชเนศวร์ แสงอริยะกุล กรรมการผู้จัดการของ PYLON ดูจะทำเกิดความชัดเจนมากขึ้น เมื่อเขาระบุว่า ในทางพฤตินัยนั้น หาก กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ ได้รับการลงนามทำสัญญากับ รฟม.จริงแล้ว ผู้ประกอบการทำฐานรากซึ่งปัจจุบันมี 4 รายหลักในไทย จะได้รับประโยชน์กันทั้งหมด เพราะ โครงการทั้งเหลือง–ชมพู เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก บริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะ…รับมือไม่ไหว
ลงเอยต้องมีการแบ่งเค้กกันอย่างกระจายไปตามความสามารถและเหมาะสม
ข้อเท็จจริงอีกอย่างคือ ไม่ว่าจะเป็น BEM ได้รับชัยชนะ ทั้ง 4 บริษัทฐานรากทั้ง 4 ก็ได้งานนี้เช่นกัน เพราะทางเลือกมีแค่ที่เห็นกัน…เนื่องจากผู้ประกอบการทำฐานรากโครงการ ไม่ได้ผูกติดกับค่ายใดค่ายหนึ่งอยู่แล้ว…ใครมาจ้างก็รับหมด จนเป็นที่รู้กันมานานแล้ว
เพียงแต่กว่าจะรับงานได้ ก็คงต้องรอครึ่งหลังของปี 2560 เป็นต้นไป เพราะว่า กว่าจะมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ข้อยุติ และลงนามในสัญญาได้ ก็คงต้องรอไปจนถึงเดือน เมษายน 2560 โน่นเลย และกว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ ก็คงต้องหลังจากนั้นอีก
สรุปคือ ที่ฉลองกันล่วงหน้าน่ะ…ก็แค่ฉลองกันไปงั้นๆ..แหละ
เข้าข่าย “ตัดกระบอกไม้ไผ่ ทั้งที่ยังไม่เห็นน้ำ”
หาเรื่องดันราคาหุ้นชั่วครั้งชั่วคราว ในลักษณะ “สงคราม 2 วัน”ตามธรรมดา
แมงเม่าทั้งหลาย..ทราบแล้วเปลี่ยน
แต่ก็นั่นแหละ…กว่าจะเปลี่ยนได้ ติดดอยรึยัง..ก็ไม่รู้????