ก.ล.ต. คุมเข้ม “พ.ร.บ.ฉบับใหม่” มั่นใจยกระดับตลาดทุนไทย!
ก.ล.ต.ย้ำ! "พ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่" ครอบคลุมทุกตัวบุคคล เผยหากหลุดข้อมูลภายในที่มีผลกระทบต่อราคาให้แจ้งตลาดหลักทรัพย์โดยทันที เชื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้โตมากยิ่งขึ้น
ก.ล.ต.ย้ำ! “พ.ร.บ.หลักทรัพย์ใหม่” ครอบคลุมทุกตัวบุคคล เผยหากหลุดข้อมูลภายในที่มีผลกระทบต่อราคาให้แจ้งตลาดหลักทรัพย์โดยทันที เชื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้โตมากยิ่งขึ้น
นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด ออนเรดิโอ” ทาง FM 98.5 MHz สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ ช่วงเวลา 9.30-11.00 น. ถึงกรณีในส่วนของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้น จะครอบคลุมไปถึงตัวบุคคลทุกคน ไม่ใช่เฉพาะเป็นกรรมการผู้บริหาร แต่เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลทุกคน รวมไปถึงนักวิเคราะห์ สื่อมวลชน หรือนักลงทุนที่ครอบครองข้อมูลภายในด้วย ซึ่งหากทราบข้อมูลแล้วเอาข้อมูลไปใช้หรือไปบอกต่อนั้นก็จะเข้าข่ายการกระทำความผิด
โดยความหมายของข้อมูลภายใน คือข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้น และเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยกับสาธารณะชนทั่วไป ซึ่งถ้ามีผู้ลงทุนบางกลุ่มรู้แล้วเอาไปใช้ประโยชน์ ก็เท่ากับว่าจะมีผู้ลงทุนอีกจำนวนมากที่เสียประโยชน์ โดยพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่นี้ผู้ลงทุนจะได้รับการคุ้มครองที่กว้างขึ้น
ทั้งนี้หากข้อมูลภายในได้ผ่านทางสื่อมวลชนออกไปแล้วจะต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นตอว่าผู้ที่มีข้อมูลภายในนั้น หากเอาไปบอกต่อโดยที่ควรจะรู้ว่าจะมีคนเอาไปใช้ต่อก็จะมีความผิด ขณะเดียวกันคนที่รับข้อมูลอาจจะเป็นบุคคลใดๆ เป็นสื่อมวลชนหรือนักวิเคราะห์ ซึ่งหากทราบข้อมูลมาแล้วนั้นอาจจะไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลภายใน ซึ่งการที่ไปถามผู้บริหารสื่อก็ไมได้พยายามถามแบบเจาะจงหรือพยายามฉกชิงข้อมูลภายในให้หลุดออกมา ทั้งนี้หากทำตามมาตรฐานวิชาชีพก็ถือว่าเป็นข้อมูลที่ได้รับทราบมา และหากนำไปเผยแพร่ต่อก็ไม่ได้เข้าข่ายมีความผิดใดๆ
ขณะที่นักวิเคราะห์หากทำตามมาตรฐานของนักวิเคราะห์อยู่แล้ว และไม่ได้พยายามที่จะดึงข้อมูลภายในออกมา ก็ไม่มีความผิด แต่ก่อนที่จะมีการสอบถามหรือตั้งคำถาม อาจจะต้องมีการเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนว่าขอไม่เอาข้อมูลภายใน และสิ่งที่จะคุยกันขอให้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้และไม่ได้เข้าข่ายเป็นข้อมูลภายใน “โดยสื่อมวลชนอาจจะเก็บหลักฐานเป็นข้อมูลไว้ จะได้ช่วยเซฟตัวเองด้วยเวลามีข้อถกเถียงในภายหลัง เราก็จะได้ยืนยันได้ว่าอันนี้เป็นการสอบถามตามวิชาชีพสื่อจริงๆไม่ได้มีเจตนาอื่นแอบแฝง” นายปริย กล่าว
ทั้งนี้หากดูในตัวของพ.ร.บ.ในส่วนของการป้องกันการกระทำที่มันไม่เป็นธรรมต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มาตราที่ ๒๔๐-๒๔๑ ในภาพรวมห้ามมิให้มีการบอกกล่าวเผยแพร่หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงินนั้น “สามารถทำได้ เพียงแต่ว่ากฎหมายใหม่อยากให้มีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นในแง่ของคนที่คาดการณ์ โดยกฎหมายย้ำว่าเวลาที่จะวิเคราะห์คาดการณ์จะต้องตั้งอยู่บนข้อมูลที่ไม่ได้เป็นเท็จ ไม่ได้มีเจตนาว่าจะพยายามให้คนเข้าใจผิดไป หรือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและจะทำให้คนเข้าใจผิดไปได้ หรือว่าคนที่ใช้ข้อมูลที่บิดเบือนไป เพราฉะนั้นถ้าเป็นนักวิเคราะห์ที่ให้ความเห็นตามหลักวิชาชีพอยู่แล้วจึงไม่ต้องห่วง เพียงแต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือเราทำให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในระดับของกฎหมาย” นายปริย กล่าว
ส่วนกรณีที่ผู้บริหารพูดหรือให้สัมภาษณ์ออกมาแล้วรู้ตัวว่าหลุดข้อมูลภายในออกมา สิ่งที่ต้องทำคือต้องรีบแจ้งก่อนว่าอันนี้เป็นข้อมูลภายในและก็ดำเนินการรายงานไปทางระบบของตลาดให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตามบางกรณีทาง ก.ล.ต.อาจจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา หากบางครั้งเปิดเผยผ่านทางสื่อสารมวลชนแล้วก็ถือว่าเป็นการเปิดเผยสู่สาธารณะอย่างเป็นการทั่วไปแล้ว แต่ให้ยึดระบบตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งหากทุกฝ่ายทำตามกฎหมายพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่นี้ ตลาดทุนไทยก็จะเป็นที่น่าเชื่อถือและโตมากยิ่งขึ้น