ระเบิดจริงจากเฟดพลวัต 2016
การประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ครั้งสุดท้ายของปีนี้ เริ่มตั้งแต่คืนที่ผ่านมา และจะรู้ผลในคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย มีความหมายที่นักลงทุนในตลาดรอคอยว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่เงื้อง่ามายาวนานเกือบ 1 ปี นับแต่ขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน จะเป็นจริงแค่ไหน
วิษณุ โชลิตกุล
การประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ครั้งสุดท้ายของปีนี้ เริ่มตั้งแต่คืนที่ผ่านมา และจะรู้ผลในคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย มีความหมายที่นักลงทุนในตลาดรอคอยว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่เงื้อง่ามายาวนานเกือบ 1 ปี นับแต่ขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน จะเป็นจริงแค่ไหน
ความสำคัญอยู่ที่ว่า หากเฟดตัดสินใจร่วมกันจะเป็นเอกฉันท์หรือไม่ ไม่สำคัญ ที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ด้วยมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมกับการปรับคาดการณ์ของคณะกรรมการ Fed ในรูป Dot Plot สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้ามากกว่าที่คาดไว้เดิมคือ 2 ครั้งต่อปี จะเป็นตัวสั่งสัญญาณชัดเจนในอนาคตข้างหน้าว่าการใช้นโยบายการเงินที่แตกต่างและถ่างกว้างจากกันระหว่างเฟด กับธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB จะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก จากการที่ค่าดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น กดดันเงินสกุลอื่นๆ
ดังที่ทราบกันดี หลายเดือนมานี้ เกิดปรากฏการณ์สองขั้วที่ต่อสู้กันว่าเฟดควรจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ จนกระทั่งค่าดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวน กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของตลาดหุ้นทั่วโลก นอกเหนือจากราคาน้ำมันดิบ
ปรากฏการณ์ที่เราได้เห็นตลอดปีที่ผ่านมาคือ คณะกรรมการเฟด ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ หรือสายพิราบ ได้พยายามยื้อเวลาจากแรงกดดันของพวกสายเหยี่ยวที่ต้องการให้ขึ้นดอกเบี้ยโดยเร็ว ด้วยข้ออ้างซื้อเวลาว่า ต้องการให้เกิดความมั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดยุคนายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว
มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้นต่ำ แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก
ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้
ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ “โอกาส” ในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ “ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่
มุมมองและสถิติที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ มาตรการ QE ที่ยุโรปและญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมามหาศาลต่อปี มากกว่าที่เฟดเคยกระทำมา รวมถึงการพังทลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะน้ำมัน และทองคำ) ทำให้การถือดอลลาร์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐเอง
ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่งเพียงนั้น ประวัติยุคปลายของบิล คลินตัน บันทึกไว้ชัดเจน
ยามนี้ ไม่มีใครในตลาด แม้กระทั่งคนที่เคยสนับสนุนสายพิราบในเฟดมาตลอด จะเชื่อกันอีกแล้วว่า สมควรยื้อเวลาคงอัตราดอกเบี้ยอีกต่อไป เสียงส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า มีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เมื่อการประชุม FOMC จบลงคืนนี้
แม้จะมีคนพยายามหาเหตุผลมาโต้แย้งว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะไม่มีอิทธิพลต่อตลาดมากมายเหมือนในอดีต เพราะยุคของดอกเบี้ยแพงจะไม่กลับมาให้เห็นอีกในยุคสมัยของเงินท่วมโลก จากที่ญี่ปุ่นและยูโรโซน ยังคงมีมาตรการพิมพ์ธนบัตรตามโครงการ QE ต่อเนื่องกันอีกนานเป็นปีเลยทีเดียว แต่ความคุ้นเคยเดิมๆ ก็ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนหวั่นไหวไม่น้อย
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดส่งผลสะเทือนทันที 2 ด้านพร้อมกันคือ ด้านหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้จะสูงขึ้น สวนทางกับราคาพันธบัตรที่จะมีแรงขายออกมารุนแรง ตามมาด้วยการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนหันมาไล่ซื้อดอลลาร์เข้าเก็บเพื่อลดความเสี่ยงจากการถือเงินสกุลอื่นๆ
ค่าดอลลาร์แข็ง ไม่เคยเป็นผลดีกับดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก มาแต่ไหนแต่ไรแล้วประหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างงู กับเชือกกล้วย (ยกเว้นในกรณีของตลาดหุ้นโตเกียว จากโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีลักษณะจำเพาะ) เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนั้นหุ้นทั่วโลกจะร่วงลงทันที โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย (รวมไทยด้วย)
ในคราวนี้ก็เช่นกัน เพียงแต่มีสถานการณ์พิเศษที่ต้องพิจารณาร่วมกันไปพร้อมกันเพื่อประกอบการลงทุนนั่นคือ 1) การลดกำลังการผลิตน้ำมันของชาติส่งออกน้ำมันจะมีผลจริงจังแค่ไหน 2) ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของบางตลาดจะมีส่วนเป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก” กันแรงกระแทกจากการขึ้นดอกเบี้ยและผลพวงของเฟดได้แรงแค่ไหน
กรณีของราคาน้ำมันดิบ ข้อตกลงร่วมระหว่างชาติโอเปกและนอกโอเปก 25 ประเทศ ในการลดกำลังการผลิตลงในรอบ 15 ปี อย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า อันเป็นปรากฏการณ์สำคัญ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นปิดสูงสุดในรอบ 17 เดือน แต่ก็มีความท้าทายว่า การเพิ่มขึ้นของแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน จะยับยั้งขาขึ้นของราคาในอนาคตได้ดีแค่ไหน
เช่นเดียวกัน ตัวเลขดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของจีน ในขณะที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการขับเคลื่อนด้วยการส่งออก ไปเป็นการขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ของผู้บริโภค ก็เป็นปัจจัยจะชี้ขาดว่า ผลสะเทือนของเฟดในเรื่องขึ้นดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นเพียงเล็กน้อยคืนนี้ จะขยายวงมากน้อยเพียงใด
โจทย์อันท้าทาย เป็นหินลองทองที่มีความหมายในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ การตื่นตระหนกมากเกิน หรือเฉยเมยมากเกิน ล้วนไม่ใช่วิสัยของนักลงทุนที่ต้องการประสบความสำเร็จทั้งสิ้น