ลากถูด้วยอำนาจทายท้าวิชามาร
ประธาน สนช. กล่าว “ขอบคุณ” ประชาชน 3 แสนกว่าคนที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยืนยันว่ามติเอกฉันท์ 168 เสียง ไม่ได้ละเลยความเห็นค้าน ยินดีเปิดเวทีชี้แจงผู้เห็นต่าง “มานั่งคุยกันได้” แต่ก็ยังยืนกรานว่ากฎหมายนี้ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และไม่สามารถเลื่อนการบังคับใช้
ใบตองแห้ง
ประธาน สนช. กล่าว “ขอบคุณ” ประชาชน 3 แสนกว่าคนที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยืนยันว่ามติเอกฉันท์ 168 เสียง ไม่ได้ละเลยความเห็นค้าน ยินดีเปิดเวทีชี้แจงผู้เห็นต่าง “มานั่งคุยกันได้” แต่ก็ยังยืนกรานว่ากฎหมายนี้ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน และไม่สามารถเลื่อนการบังคับใช้
อ้าว แล้วจะไปนั่งคุยทำอะไร ในเมื่อความเห็นต่างเป็นซากไปแล้ว คุยแล้วมีประโยชน์อะไร ในเมื่อท่านถูกเสมอ ลงมติเอกฉันท์ทั้งที่เลื่อนไป 3 วัน 7 วันก็ยังได้ มีอย่างที่ไหน รวบรัดตัดความแล้วย้อนมาบอก “ขอบคุณเรายินดีรับฟัง”
ท่าทีประธาน สนช.ต่างสิ้นเชิงกับ ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ ทบ.ที่ขู่ว่าใครโพสต์หรือแชร์ข้อความต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อาจมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฐานบิดเบือน ใครจะแสดงความเห็นต้องระวัง อย่าทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมชี้หน้ากลุ่มคัดค้านว่าไม่พ้น “หน้าเดิมๆ”
หลังถูกพลเมืองต่อต้าน single gateway ไล่ถล่มเว็บไซต์ รัฐบาลก็ระดมชี้แจงตอบโต้ ทั้งพยายาม “ทำความเข้าใจ” (ประชาชนรู้น้อย ไม่เข้าใจ) บอกประชาชนต้องเคารพกฎหมาย (มติเอกฉันท์ของ สนช.แต่งตั้งโดยรัฐประหาร) ไปจนโจมตีพวกถล่มเว็บไซต์รัฐบาลว่า ทำให้ประเทศเสียหาย คนไทยด้วยกันไม่ควรทำ มีแต่ต่างชาติทำ (อ้าว ขายชาติไปเลยนะนั่น)
แล้วก็เหมือนทุกครั้ง คือจะมีสื่อ มีสาวกรัฐบาล ออกมาช่วยปกป้อง โจมตีพวกต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพ์เป็นผู้ร้าย
ใช่เลยครับ การแฮ็กเว็บเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ควรทำ แต่ตอนใช้อำนาจตามอำเภอใจทำไมไม่ฟัง เปรียบเทียบกันก็เหมือนรัฐสภาพรรคเพื่อไทยลากถู พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทีตอนนั้นม็อบต้านปิดถนนปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งด้วยซ้ำ (แต่ตอนนี้หน้ากากขาวกลับมาอ้างคุณธรรมประณามคนต่อต้าน)
ว่าที่จริงก็ขำๆ เพราะรัฐบาลอ้างเหตุป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ มาแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่พอตัวเองเจอสงครามไซเบอร์ กลับไม่สามารถรับมือ แม้ฟังแล้วเหมือนยิ่งจำเป็นต้องใช้กฎหมาย แต่มันก็สะท้อนว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ใช้มาเกือบ 10 ปี เน้นสอดส่องความคิดเห็นประชาชนมากกว่าป้องกันปราบปรามอาชญากรรมจริงจัง
ปรากฏการณ์ไม่ฟังเสียงคัดค้าน สนช.ดึงดันผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แล้วใช้กลไกรัฐ สื่อ และผู้สนับสนุนตอบโต้ฝ่ายคัดค้าน อ้างชาติ อ้างความมั่นคง อ้างศีลธรรม อ้างความจำเป็น ปลุกความกลัวว่าพวกต่อต้านจะล้มรัฐบาล ฯลฯ ว่าไปก็เป็นหนังม้วนเดิม ฉายได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่ทำไมหนังม้วนนี้ยังฉายอยู่ แหม ก็ใครจะกล้าออกไปก่อม็อบไล่เหมือนรัฐบาลเลือกตั้ง ใครจะกล้าท้าทายอำนาจทหารอำนาจกฎหมายที่มาพร้อมกันกับ ม.44 ออกประกาศคำสั่งเป็นกฎหมายแล้วทหารตำรวจจับกุมส่งอัยการส่งฟ้องศาล แม้ปัจจุบันใช้ศาลพลเรือน
ไม่มีใครล้ม คสช.ได้หรอกเพราะอำนาจที่เห็นอยู่ใหญ่โตมหึมาไม่ใช่เพียงกองทัพ ฉะนั้นอำนาจนี้ก็ยังจะใช้ได้ตามอำเภอใจ ตามที่สบายใจ เพียงแต่รู้จักใช้ตามหลัก ปจว. นั่นคือด้านหนึ่งทำให้กลัว อีกด้านหนึ่งก็ไม่บังคับให้เหลืออด แล้วลากถูกันไปอย่างนี้ บนภาวะที่แม้ไม่พอใจก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในขณะที่ผู้คนต้องทำมาหากิน
เพียงแต่คำถามคือเราจะอยู่กันไปอย่างนี้ถึงจุดไหน เพราะสภาวะอย่างนี้ไม่มีทางเลยที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตย กลับไปสู่การปรองดอง หรืออยู่อย่าง “สงบ” โดยไม่ต้องมี ม.44 ปกครอง