ทรัมป์ กับข้อตกลงปีศาจพลวัต 2016
ป่านนี้ก็คงรู้แล้วว่า ดัชนีดาวโจนส์วิ่งจนสามารถทะลวงผ่านแนวต้านจิตวิทยาสำคัญ 20,000 จุดได้หรือไม่
วิษณุ โชลิตกุล
ป่านนี้ก็คงรู้แล้วว่า ดัชนีดาวโจนส์วิ่งจนสามารถทะลวงผ่านแนวต้านจิตวิทยาสำคัญ 20,000 จุดได้หรือไม่
ไม่ว่าจะผ่านได้หรือไม่ได้ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขของเส้นกราฟ แต่อยู่ที่นักลงทุนพากันแสดงความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า โดนัลด์ ทรัมป์และทีมงาน จะสามารถกลับมาสร้างความคึกคักให้กับตลาดหุ้นและเศรษฐกิจสหรัฐครั้งใหม่ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังทุ่มเงินสร้างสาธารณูปโภคที่จะทำให้เกิดผลพวงตามมาเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจเต็มที่หลายทอด
แนวทางดังกล่าว เคยประสบความสำเร็จในยุคของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกนมาแล้วในเวลาประมาณ 30 ปีก่อน ที่เรียกกันว่าเรแกนโนมิกส์ ก่อนที่จะทิ้งปัญหาตามหลังให้แก้มากมาย รวมทั้งสร้างความปั่นป่วนให้ชาวโลกจากการแข็งค่าของดอลลาร์
เรแกนโนมิกส์ (ที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าจะตามรอยอย่างเคร่งครัด) คือ นโยบายเศรษฐกิจแบบซัพพลายไซด์ (supply-sided economics) ที่เน้นการสร้างอุปทานเพื่อขับเคลื่อนอุปสงค์ของตลาดสินค้าและบริการ ด้วยมาตรการหลัก 2 ด้านพร้อมกัน คือ 1) ลดภาษีธุรกิจและคนรวย (แต่อ้างว่าลดให้คนชั้นกลางเป็นหลัก) 2) ผลักดันให้มีผู้ว่าการเฟด “สายเหยี่ยว” ออกมาตรการดันดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ดอลลาร์แข็งค่าเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการเงินของตลาดเงินและวอลล์สตรีท ด้วยข้ออ้างเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้เงินทุนทั่วโลกไหลกลับเข้าสหรัฐเพื่อทำแครี่ เทรด
มาตรการแรก มีชื่อเสียงลือลั่นกับ ข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Laffer Curve ผสมกับมาตรการ “อุ้มคนรวยเพื่อช่วยคนจน” หรือ Trickle-down Effect ที่ส่วนแรกเน้นว่า การลดภาษีในระดับที่เหมาะสม ในยามที่การลงทุนของเอกชนถดถอยลง ต่ำกว่าอัตราเพิ่มของเงินอัดฉีดจากภาครัฐ จะช่วยให้เอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะมีแรงจูงใจที่ดีขึ้น
ส่วนมาตรการหลัง คือการลดภาษีคนรวยและนิติบุคคลเพื่อทำให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ท้ายสุดจะลงไปสู่การจ้างงานและค่าเฉลี่ยของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย
ในช่วงแรกของเรแกนโนมิกส์อันโด่งดัง ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นภาวะกระทิงนานนับปี ก่อนที่ดอลลาร์ซึ่งแข็งค่ารุนแรงเทียบกับเงินสกุลอื่น ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง นานถึง 5 ปีระหว่างค.ศ.1980-1985 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในกลางปี 1985 ขาดดุลถึง 3.5% ของจีดีพีเข้าขั้นอันตราย
แรงกดดันจากหายนะของเรแกนโนมิกส์ยุคปลาย ทำให้ยุคประธานาธิบดี จอร์จ บุช จำต้องเรียกประชุม 5 ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกทำข้อตกลง “พลาซ่าแอคคอร์ด” อันลือลั่น
ความสำเร็จในช่วงแรก และล้มเหลวในช่วงท้าย ทำให้มีคนเปรียบเทียบเรแกนโนมิกส์ว่า เปรียบเสมือนนิทานเก่าแก่ของพวกยุโรปเรื่อง “ข้อตกลงกับปีศาจ” โดยคนที่เก่งเหนือสามัญมนุษย์ เพราะได้ทำการขายวิญญาณของเขาให้กับปีศาจ แลกกับความสำเร็จบางประการ อาทิ ความบันเทิง อมตภาพของชีวิต ปัญญาวิเศษ ความมั่งคั่ง หรืออำนาจ หรือทุกอย่างรวมกัน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือยอมรับการชี้นำของปีศาจทุกประการ
เรแกนโนมิกส์ในอดีตที่มีแนวโน้มหวนย้อนคืนมาในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าจะทำให้ในระยะสั้นดัชนีดาวโจนส์ขานรับเชิงบวกสวนทางกับราคาพันธบัตรที่ร่วงหนัก เพราะอัตราผลตอบแทนที่พุ่งขึ้น ในขณะที่นักลงทุนและนักการเงินที่เข้าใจประวัติศาสตร์ดีเริ่มทบทวนท่าทีใหม่ว่าการถอดรื้อกฎหมายสำคัญทางการเงินอย่าง Dodd-Frank Act ซึ่งสอดรับกับแนวทางลดภาษีทุนใหญ่ของทรัมป์ตามนโยบาย “อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน” อาจลากจูงตลาดเงินกลับไปสู่ยุคดอลลาร์แข็งระลอกใหม่
สัญญาณทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ถูกจุดปะทุให้เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายชาติในตลาดเกิดใหม่ที่มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศต่ำ จำต้องตัดสินใจเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินเพื่อสกัดการทรุดตัวลงของค่าเงิน ถือเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศจากมาตรการที่จะออกมาตามแนวทางเรแกนโนมิกส์กลายพันธุ์ของโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะความตื่นตระหนกของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไร
การย้อนรอยของเรแกนโนมิกส์กลายพันธุ์ เช่นว่านี้ แม้จะยังไม่อาจล่วงรู้ชะตากรรมของแนวทางที่จะลงมือทำในรอบใหม่ ถือเป็นการเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ของอารยธรรม ที่อาร์โนลด์ ทอยน์บี เคยใช้เป็นฐานรากเพื่อนำเสนอทฤษฎีประวัติศาสตร์มหภาคว่า เหตุใดอารยธรรมของรัฐต่างๆ จึงรุ่งโรจน์หรือล่มสลาย
ทอยน์บีสรุปว่า ความรุ่งโรจน์หรือล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์ เกิดขึ้นในรูปของขดเกลียวก้นหอย โดยอาศัยเงื่อนไขอันเหมาะสมทางประวัติศาสตร์ โดยที่แกนหลักของความรุ่งโรจน์คือ เทคโนโลยี และความสามารถทางปัญญาที่มีผลิตภาพสูง ส่วนแกนหลักของความเสื่อมโทรมได้แก่ การล่มสลายของปัญญาองค์รวม (ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น) ของสังคม ซึ่งถือเป็นแกนแห่งอำนาจทางจิตของสังคม
ผลลัพธ์ที่ตามมาของความล่มสลายของปัญญาองค์รวมของสังคมก็คือ การชะงักงันของความสามารถที่จะปรับเปลี่ยนสังคมให้ยืดหยุ่นเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดหมายล่วงหน้า เพียงแต่การล่มสลายดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว หากมีลักษณะวนเวียนเป็นขดเกลียวแบบก้นหอยที่ขยายจากเล็กตรงแกนกลางเป็นแผลเหวอะหวะเมื่อเวลาผ่านไป พร้อมความสามารถที่จะควบคุมของชนชั้นนำล่มสลายตามไปด้วย
การที่โดนัลด์ ทรัมป์ พาสังคมอเมริกันย้อนกลับไปในอดีต เพื่อที่จะนำเอามากำหนดปัจจุบัน และอนาคต ภายใต้เงื่อนไขที่จำเพาะบางประการของยุคสมัยที่มหาอำนาจเดี่ยวของสหรัฐเริ่มเสื่อมถอยลง เพราะอหังการของแนวคิดอนุรักษนิยมอเมริกันครั้งใหม่ จะเป็นข้อตกลงกับปีศาจที่เคยเกิดขึ้นกับยุคของโรนัลด์ เรแกน หรือไม่ เป็นโจทย์ที่ยังไม่ต้องเร่งร้อนหาคำตอบ
สำหรับเศรษฐกิจไทยนั้น ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหลือเฟือ และความสามารถในการปรับตัวได้ยืดหยุ่นของภาคเอกชนไทยบางระดับ น่าจะทำให้เกิด “กันชนทางเศรษฐกิจ” ที่รับแรงกระแทกจากมาตรการของโดนัลด์ ทรัมป์ได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขว่า รัฐบาลหรือรัฏฐาธิปัตย์ของไทยที่มีกองทัพเป็นแกนนำหลัก จะชาญฉลาดเพียงพอแค่ไหนในการบริหารจัดการสถานการณ์