BEM โชคอุ้มสม 3 in 1แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

แล้ว...ในที่สุด เรื่องก็จบลงโดยหลักการ เหลือก็เพียงขั้นตอนและรายละเอียดที่จะต้องรอเวลาตามสมควรเท่านั้น


แล้ว…ในที่สุด เรื่องก็จบลงโดยหลักการ เหลือก็เพียงขั้นตอนและรายละเอียดที่จะต้องรอเวลาตามสมควรเท่านั้น

เป็นไปตามสูตร เรียบร้อยโรงเรียน BEM

จะมีอะไรเสียอีกเล่า คำสั่งมาตรา 44 ของคสช.ที่ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการตามมาตรา 35 และคณะกรรมการตามมาตรา 43 (ติดตามกำกับดูแลสัญญารถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล) ไปเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เมื่อหลายเดือนก่อน เพื่อแก้ปัญหาคอขวดรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีบางซื่อได้เพราะ ยังขาดช่วงอีกแค่ 1 กม.เศษ

เรื่องก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ส่วนที่เป็น “ฟันหลอ” ส่วนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งยังไม่มีการประมูล

คำสั่ง คสช.คือ ให้ไปเจรจา 2 ส่วนคือ

1)ส่วนที่เป็นฟันหลอ 1 กม.เศษ

2)ส่วนที่เหลือของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค

ล่าสุด หลังจากใช้เวลามานาน และทำให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ถึงขั้น “ควันออกหู” มาแล้ว ก็สามารถพบจุดลงเอยได้

นายพีระยุทธ  สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรฟม. ออกมาแถลงเองว่าดำเนินการเจรจากับ BEM ให้รับงานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ได้ข้อยุติแล้ว

ข้อยุติแล้วที่ว่า ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1)งานเดินรถรอยต่อ 1 สถานี (1 กิโลเมตร) เตาปูน-บางซื่อนั้น คณะกรรมการร่วมฯ ได้ข้อยุติว่าจะมอบให้รฟม.เป็นผู้ดำเนินการเอง เพื่อไม่ให้นำไปผูกกับการเจรจางานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพราะจะเกิดความล่าช้า โดยรฟม.จะว่าจ้าง ติดตั้งระบบบริเวณรอยต่อ 1 สถานี วงเงิน 693 ล้านบาท และเดินรถรอยต่ออีก 2 ปี วงเงิน 52 ล้านบาท หลังจากลงนามว่าจ้างBEM แล้ว BEM จะต้องทำการติดตั้งพร้อมทดสอบระบบอีก 6 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการรอยต่อ 1 สถานีได้ในเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งรฟม.คาดว่าจะได้เสนอครม.วันที่ 27 ธันวาคมนี้  และจะลงนามสัญญากับ BEM สำหรับงานรอยต่อ 1 สถานี ภายในวันที่ 29-30 ธันวาคม 2559

2)สายสีน้ำเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด  จะมีขั้นตอนที่รฟม.จะรวบรวมผลการเจรจาภายใน 15 วัน หรือ ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2560 เพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยสคร.จะมีเวลาพิจารณาอีก 45 วัน และรฟม.จะนำเสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมควบคู่กัน

3)รถไฟฟ้าใต้ดิน(สายเฉลิมรัชมงคล) จะหมดอายุสัญญาปี 2572 จะไปหมดพร้อมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระกับหัวลำโพง-บางแค ในปี 2593

ข้อ 3) นี่แหละที่เป็นของแถม

ส่วนข้อ 2) แสดงว่า ไม่ต้องมีการประมูลกันให้เสียเวลา ยกให้กับBEM ไปดำเนินการ

นอกจากนั้น..ยังมีการเปิดเผยอีกว่า ที่ล่าช้ามาตลอดนั้น เพราะว่า  ทั้งสองฝั่งมีความเห็นในเรื่องรายได้ผลตอบแทนไม่ตรงกัน…เรื่องที่ว่าง่ายเลยกลายเป็นยาก

ที่ยากเพราะรฟม.เห็นว่า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารของสายสีน้ำเงินตลอดสาย (สายน้ำเงินเดิม ตั้งแต่บางซื่อ-หัวลำโพง และส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ต้องไม่เพิ่มไปจากอัตราเดิมที่เก็บในปัจจุบัน ของสายเฉลิมรัชมงคล โดยอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท  เท่ากับในส่วนต่อขยายจะไม่มีค่าแรกเข้า เพราะจะรวม 2 ส่วนเป็นโครงข่ายเดียวกัน

มองอีกอย่างว่า ถ้าทำอย่างนั้นขาดทุนเห็นๆ…ส่งผลให้มีผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ทางBEM จึงเสนอขอให้รัฐอุดหนุน แต่ในหลักการเจรจารัฐจะไม่มีการอุดหนุนใดๆ จึงมีข้อเสนอขอให้แบ่งผลตอบแทนในส่วนของสายเฉลิมรัชมงคลที่รฟม.จะได้รับตลอดอายุสัญญาถึงปี 2572 ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท มาช่วย …ก็ไม่ลงเอยอีก

แต่ข้อยุติใหม่..ลงเอยอย่างไร..ขออุบไว้ก่อน ไม่ยอมบอกซะงั้น

เรื่องมันมีประเด็นอยู่…อย่างที่รู้ๆ กัน…รายได้จากการที่เอกชน “รับจ้างเดินรถ” จากรถไฟฟ้าทุกสาย ไม่มีมากนัก แต่ไม่ต้องขาดทุน แตกต่างจาก รายได้จากสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินในรูป “แบ่งรายได้” กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น

ไม่ใช่ต่างกันธรรมดา แต่ต่างกันมาก

ทางเลือกระหว่าง รายได้ต่ำ กำไรต่ำ กับรายได้สูง แต่ความเสี่ยงสูง จึงเป็นประเด็นที่ทำให้ติด “โรคเลื่อน” มาตลอด

มีแต่คสช.เท่านั้นที่ต้องแก้ปัญหาด้วยการ …ผ่าทางตัน

งานนี้ เมื่อจบลงด้วย BEM รับโชคแบบ 3 in 1

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้..!!

Back to top button