พาราสาวะถี อรชุน
สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมสนช.รับทราบรายงานเรื่องการล้างระบบอุปถัมภ์ของคณะกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้ แทนที่ข้อเสนอจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่คนกลับเห็นว่าสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั้น มันช่างเบาเป็นปุยนุ่นเหลือเกิน โดยเฉพาะ ห้ามตีกอล์ฟกับกลุ่มที่มีผลประโยชน์กับส่วนราชการนั้น หรือการจัดหลักสูตรอบรมของแต่ละองค์กร
สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมสนช.รับทราบรายงานเรื่องการล้างระบบอุปถัมภ์ของคณะกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้ แทนที่ข้อเสนอจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่คนกลับเห็นว่าสิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั้น มันช่างเบาเป็นปุยนุ่นเหลือเกิน โดยเฉพาะ ห้ามตีกอล์ฟกับกลุ่มที่มีผลประโยชน์กับส่วนราชการนั้น หรือการจัดหลักสูตรอบรมของแต่ละองค์กร
ไม่ต้องมองไปในองค์กรใดเป็นพิเศษ เอาแค่สนช.ที่นั่งหน้าสลอนกันอยู่เวลานี้ ถามก่อนว่าท่านได้เข้ามาทำหน้าที่เพราะมีความรู้ความสามารถ หรือคอนเน็กชั่นจากสถาบันหรือหลักสูตรทั้งหลายกันแน่ ไล่เรียงกันรายตัวเชื่อได้เลยว่าไม่น้อยกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเข้ามาด้วยสายสัมพันธ์กันทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้วยังจะมากระแดะเสนอกันไปเพื่อ…?
ความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.ก็น่าสนใจ สาระของรัฐธรรมนูญที่กรธ.ร่างนั้น มีรูปลักษณ์ของราชการซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของระบบดังกล่าว ข้อเสนอห้ามตีกอล์ฟ ห้ามกินเลี้ยง ดูเบามากสำหรับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งการข่าวไม่มีการพูดถึงปัญหาหลักการอย่างความไม่เป็นประชาธิปไตย คือสิ่งที่ขยายผลของระบบอุปถัมภ์ ถ้ารูปแบบการปกครองไม่ใช่การลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน การพูดถึงการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ยังเป็นเรื่องไกลความจริง
สิ่งที่เสนอออกมานั้น ไม่รู้ว่าคณะกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้ได้ปรึกษาผู้มีอำนาจบ้างหรือเปล่า ดีไม่ดีป่านนี้คงถูกเรียกไปด่าแล้วกระมัง ประเภทไม่ดูตาม้าตาเรือ ก็ในองคาพยพแม่น้ำ 5 สายนั้น ลองไปตรวจสอบดูว่า ใครเรียนรุ่นไหน หลักสูตรอะไร ใครขอใครมาบ้าง จะเห็นความจริงที่ชัดเจน นี่ก็เป็นอีกหนึ่งมุมของความย้อนแย้งจากผู้ที่ได้อำนาจด้วยการลากตั้ง ชอบนึกว่าตัวเองวิเศษวิโสกว่าคนอื่น
ประเด็นกฎหมายคอมพิวเตอร์ยังมีการพูดถึงกันต่อเนื่อง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเวทีเสวนาประเทศไทยหลังพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2559 เพื่อร่วมระดมสมองสะท้อนถึงเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่สนช. 168 เสียงยกมือผ่านเป็นเอกฉันท์ รอบังคับใช้ต่อไป
มีมุมมองที่น่าสนใจอยู่สองราย หนึ่งคือ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุ ในบทบัญญัติที่ว่าด้วยข้อกำหนดความผิดต่อการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ ตนไม่มั่นใจว่า คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะวินิจฉัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มครองสิทธิได้อย่างแท้จริง เช่น กรณีข้อมูลการซ้อมทรมานที่เผยแพร่ที่ไม่มีใบเสร็จหรือหลักฐานพยานที่ชัดเจน แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
ตรงนี้คณะกรรมการชุดดังว่า จะมีแนวทางพิจารณาหรือพิสูจน์ข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นข้อเท็จจริงได้อย่างไร ดังนั้น ในเนื้อหาของร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เป็นสิ่งที่ตนกังวล เพราะที่ผ่านมาพบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เป็นไปเพื่อปกป้องอำนาจรัฐมากกว่าปกป้องสิทธิของประชาชน
เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงต้องไม่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิใช้ดุลยพินิจเพียงกลุ่มเดียว นอกจากนั้น ยังมีการตั้งข้อสังเกตต่อการพิจารณาร่างกฎหมายหลายฉบับของสนช. พบว่าได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยความมั่นคงของชาติ จึงทำให้กังวลว่าในอนาคตอาจทำให้เกิดการตีความอย่างไร้ขอบเขตได้ สอดรับกับความเห็นของ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ที่มองว่า ในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ กรณีที่พบการกระทำให้เกิดการแพร่หลายข้อมูลที่เข้าข่ายลักษณะความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ แม้จะปรับแก้ไขให้มีจำนวนมากขึ้น ถึง 9 คนและเพิ่มสัดส่วนกรรมการ จากผู้แทนภาคเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน แต่อำนาจการตัดสินจะใช้เสียงข้างมาก มากกว่าการใช้ดุลยพินิจร่วมกัน
เมื่อเป็นเช่นนั้นสัดส่วนของกรรมการที่ปรับเพิ่มดังกล่าวอาจไม่มีความหมาย ซึ่งในส่วนตัวของฐิติรัตน์ก็เหมือนกับนักวิชาการและกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้หลายรายนั่นก็คือ การตัดสินการกระทำต่อเรื่องที่สำคัญเช่นนี้ควรให้ศาลพิจารณา แน่นอนว่า กรณีที่จะให้คณะกรรมการใช้ดุลยพินิจเด็ดขาดโดยไม่ต้องใช้กระบวนการศาลยุติธรรมนั้น จะพบว่าองคาพยพแม่น้ำ 5 สายพยายามทำในหลายๆ กรณี
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับกฎหมายคอมพิวเตอร์ ฐิติรัตน์แสดงความเห็นอีกว่า เข้าใจเจตนาดีของผู้ยกร่างกฎหมาย ที่ต้องการควบคุมโลกอินเทอร์เน็ต แต่หากทำกฎหมายเพื่อชี้นำ คิดแทนหรือสร้างวิจารณญาณทางสังคมวิทยากฎหมาย เรียกว่าไม่ใช่กฎหมาย เพราะไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เช่น กรณีที่ศาลสั่งให้ลบข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่หากประชาชนไม่เชื่อบางส่วนแล้วไม่ลบจะทำให้เกิดประเด็นระหว่างผู้ใช้กฎหมายกับประชาชนได้
นอกจากนั้นเมื่อกฎหมายเขียนแบบตีกรอบ จะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจเพิ่มมากขึ้นและอาจใช้ในทางที่ผิด ทั้งนี้ร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบ นำไปสู่การขัดขวางการใช้วิจารณญาณของประชาชน แทนการสร้างวัฒนธรรมร่วมกันของคนในสังคมต่อการถ่วงดุลการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากมีกฎหมายที่คุมทุกอย่าง จะเกิดการใช้กฎหมายข่มขู่ระหว่างกันได้ เช่น นักการเมืองข่มขู่ผู้สื่อข่าวที่นำเสนอข่าวสาร เป็นต้น
ภาพสะท้อนของการร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา มันทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ใช่ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์เหมือนอย่างที่ท่านผู้นำโพนทะนา แน่นอนว่าเมื่อมันเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องถูกจำกัดไปด้วย โดยอ้างเรื่องของความมั่นคง
เรื่องแบบนี้นานาอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ทำกันอย่างแน่นอน นอกเสียจากประเทศที่ปกครองด้วยทหารหรือมีระบอบการปกครองแบบเผด็จการเท่านั้น และด้วยความที่ไม่แยแสต่อกระแสคัดค้านใดๆ ก็ชวนให้คิดกันได้ว่าที่จะออกกฎหมายมาปิดปากประชาชนนั้น เป็นเพราะในอนาคตกฎหมายพิเศษอย่างมาตรา 44 กำลังจะใช้ไม่ได้ ใช่หรือไม่