พาราสาวะถี อรชุน
ปฏิบัติการตี 3 ของตำรวจพื้นที่และหน่วยปราบฝูงชนจำนวน 7 กองร้อย ที่เข้าปิดล้อมวัดพระธรรมกาย สร้างความตกอกตกใจให้กับศิษยานุศิษย์ ขณะที่คนทั่วไปก็คิดว่าจะเกิดการบุกจับ ธัมมชโย แน่ๆ ในคราวนี้ แต่ก็ทำให้เกิดความผิดหวังกันไปตามๆ กัน เพราะไม่คิดว่ากำลังหลักพันนั้นจะไปดำเนินการแค่รื้อถอนสิ่งกีดขวางบริเวณประตูวัดที่เจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีว่ารุกล้ำพื้นที่สาธารณะ
ปฏิบัติการตี 3 ของตำรวจพื้นที่และหน่วยปราบฝูงชนจำนวน 7 กองร้อย ที่เข้าปิดล้อมวัดพระธรรมกาย สร้างความตกอกตกใจให้กับศิษยานุศิษย์ ขณะที่คนทั่วไปก็คิดว่าจะเกิดการบุกจับ ธัมมชโย แน่ๆ ในคราวนี้ แต่ก็ทำให้เกิดความผิดหวังกันไปตามๆ กัน เพราะไม่คิดว่ากำลังหลักพันนั้นจะไปดำเนินการแค่รื้อถอนสิ่งกีดขวางบริเวณประตูวัดที่เจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีว่ารุกล้ำพื้นที่สาธารณะ
ไม่รู้ว่านี่คือแผนประลองกำลังกันหรืออย่างไร หรือเป็นการส่งสัญญาณ กระทืบเท้าขู่ว่าพร้อมที่จะเอาจริงแล้วนะ ทว่าคำถามที่ตามมาก่อนที่จะบุกค้น มีการวางเป้าหมายไว้แล้วหรือไม่ ต้องการตรวจค้นหาอะไร มีขอบข่ายเพื่อไม่ให้ฝ่ายลูกศิษย์วัดโต้กลับว่ากระทำโดยพลการได้หรือไม่ หากมีเป้าหมายที่ตัวธัมมชโย วันนี้ก็ต้องตอบกับสังคมให้ชัดว่า เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์ยังคงอยู่ภายในวัดหรือไม่
ปัญหาด้านการข่าวที่เจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งจะเข้าไปดำเนินการจับกุมยังตอบไม่ได้ว่าผู้ต้องหาอยู่ในสถานที่ต้องสงสัยหรือไม่ แล้วจะให้คนทั่วไปยกเว้นพวกกองเชียร์ กองแช่งที่ไม่เอาธรรมกาย สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ลงมือปฏิบัติการได้อย่างไร เพราะคำถามง่ายๆ ยังตอบไม่ได้ มันย่อมสะท้อนให้เห็นน้ำยาในการปฏิบัติงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
มิหนำซ้ำ ท่าทีที่รีรอมาตั้งแต่กลางปีจนมาถึงท่าทีที่แข็งขันและแข็งกร้าวในวันนี้ ก็เกิดคำถามตัวโตขึ้นว่า นอกจากข้ออ้างเรื่องเกรงจะเกิดการนองเลือด การปะทะกับสาวกของวัดแล้ว ยังไม่เห็นมีเหตุผลที่จะอธิบายแล้วฟังให้ดูดี มีน้ำหนักมากกว่านี้ โดยเฉพาะกับสิ่งที่พูดกันอยู่รายวันต้องบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียม ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้
กรณีธัมมชโยและธรรมกายไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันนอกจากการกระทำผิดที่ถือเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว ถามต่อไปว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ซึ่งเงื้อง่ามายาวนาน ประเทศชาติได้ประโยชน์อะไรกับการดำเนินการครั้งนี้ นอกเหนือจากความสะใจของคนบางกลุ่มบางพวกและพระบางรูป แทนที่จะนำกำลังเจ้าหน้าที่ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ต้องมาเสียเวลากับเรื่องที่ควรจะดำเนินการตามกฎหมายกันแบบไม่ต้องเอิกเกริกมิดีกว่าหรือ
ไม่ต่างจากกรณีกลุ่มต่อต้านร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่งสนช.เป็นผู้ยกมือเห็นชอบในวันที่จะผ่านกฎหมายมีคนไปยื่นรายชื่อ 360,000 รายพร้อมข้อทักท้วงในสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แทนที่จะมีคนออกมาชี้แจงหรือตั้งโต๊ะพูดคุยกันให้เข้าใจ กลับให้คนที่ไม่มีอำนาจมารับเรื่องแล้วก็โหวตกันเป็นเอกฉันท์ พอมาวันนี้จะมาบอกมีปัญหาตรงไหนให้มาคุยกัน แมวที่ไหนจะเชื่อ
นอกจากไม่ชี้แจงตั้งแต่ต้น หลังผ่านร่างกฎหมายไปแล้วยังปล่อยภาระหน้าที่ในการอธิบายต่อสังคมเป็นเรื่องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหมและกองทัพบกไปเสียฉิบ โดย พิเชฐ ดุรงควิโรจน์ เจ้ากระทรวงดีอีก็บอกว่าได้ชี้แจงอย่างเข้มข้นไปแล้ว แต่เมื่อยังมีกลุ่มที่ไม่เข้าใจก็ต้องใช้เวลาในการอธิบายต่อไป
ไม่รู้ว่าเป็นความเข้มข้นแบบไหน กลุ่มที่คัดค้านจึงยังไม่เข้าใจ หรือเป็นความเข้มข้นเฉพาะมุมที่ท่านอยากจะให้เข้าใจเท่านั้น ส่วนทางกระทรวงกลาโหมที่ชี้แจงโดยโฆษกกระทรวงและกองทัพบกโดยผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพ ถามว่ามีการอธิบายแง่มุมของกฎหมายที่ฝ่ายคัดค้านเขาสงสัยหรือไม่ นอกจากบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ดี มีประโยชน์ขอให้ไปศึกษากันก่อน
ความจริงทั้งสองหน่วยงานไม่ควรจะออกมาอธิบายกับสังคมเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากถูกมองว่าจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับดังว่าในการดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มคนที่ต้องสงสัยว่านำข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งในทางกฎหมายก็คือผู้มีส่วนได้เสีย หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่ผู้ได้รับผลกระทบไม่ไว้วางใจ
มากไปกว่านั้น ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกกลุ่มแฮกเกอร์เจาะข้อมูลต่างก็บอกว่า ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่อีกด้านกลับมีการเรียกร้องขอความร่วมมือไปยังกลุ่มเคลื่อนไหวถึงขั้นขอร้องว่าอย่าไปดึงมือต่างชาติเข้ามาร่วมแฮกข้อมูลหรือก่อกวน นั่นยิ่งแสดงให้เห็นอาการหวั่นไหวและความย้อนแย้งในท่าทีของหน่วยงานเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
จะว่าไปแล้วเรื่องของต่างชาติ เราก็จะเห็นได้ว่ามีทั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงต่อกฎหมายฉบับนี้ของประเทศไทย ในเมื่อเห็นว่าอย่ามาแทรกแซงเรื่องภายในประเทศ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสดงความวิตกกังวลหรือออกอาการอย่างที่บอกไป
สิ่งที่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะต้องทำความเข้าใจนั่นก็คือ สังคมโซเชียลมีเดียในวันนี้ ไม่ได้จำกัดวงแคบแค่ประเทศหนึ่งประเทศใดแล้ว เมื่อโลกมันเวิลด์ไวด์ การที่จะคิดและตัดสินใจเรื่องใด เพียงเพื่อไม่อยากให้มาข้องแวะกับสิ่งที่ตัวเองกระทำและอำนาจในวันนี้ โดยไม่นึกถึงความเป็นจริงของโลกที่เปลี่ยนไป นั่นเท่ากับเป็นการแสดงความล้าหลังและทำให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจในรูปแบบเผด็จการอย่างเต็มที่ อย่าอ้างเรื่องผ่านความเห็นชอบจากสนช. เพราะสภานั่นไม่ได้มาจากประชาชน
ความล้าหลังอีกประการที่เห็นในเวลานี้คือ ผลงานแรกของ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่จะให้กลับไปใช้มาตรฐานครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่แทนผู้อำนวยการโรงเรียน ก็เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนในรัฐบาลคสช.ได้เป็นอย่างดีว่าคร่ำครึ บางเรื่องไม่ใช่ของเก่าของเดิมไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าจะเลือกใช้อย่างไรให้เหมาะสม
กรณีครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่ในสมัยก่อนนั้น เป็นการแบ่งแยกตามระดับโรงเรียนหรือจะเรียกว่าตามเกรดของโรงเรียนก็ว่าได้ แต่การเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนเหมือนกันทั้งหมดในปัจจุบัน เพราะต้องการให้ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้าในตำแหน่งได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยขึ้นอยู่กับผลงานทางวิชาการมากกว่าจำนวนนักเรียน
จึงไม่แปลกที่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแนะให้หม่อมหลวงปนัดดา ไปแก้โจทย์หลักของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือการทำให้โรงเรียนมีอำนาจในการบริหารอย่างแท้จริง และการลดภาระงานอื่นๆ ของโรงเรียนมากกว่าที่จะไปทำเรื่องชื่อตำแหน่ง เพราะนั่นไม่ใช่หัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพเด็ก นี่คืออีกหนึ่งบทพิสูจน์ในเรื่องวิสัยทัศน์ของคนในรัฐบาลคณะนี้