BEM ยาสารพัดนึก คสช. แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
แล้วในที่สุด คสช. ก็ใช้ยาสารพัดนึกอีกครั้ง กับปัญหาที่ไม่มีทางออกจากระบบราชการไทยที่อืดอาดเป็นเรือเกลือ
แล้วในที่สุด คสช. ก็ใช้ยาสารพัดนึกอีกครั้ง กับปัญหาที่ไม่มีทางออกจากระบบราชการไทยที่อืดอาดเป็นเรือเกลือ
นั่นคือ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 (แต่มีผลถาวร) ..คือยาสารพัดนึกดังกล่าว
เรื่องสำคัญล่าสุดที่จำเป็นต้องออกคำสั่ง คสช. มาตรา 44 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว และรอคอยกันมา 1 สัปดาห์ คือ กรณีแก้ไขปัญหาเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) กับสายสีม่วง บางใหญ่–เตาปูน ช่วงรอยต่อ 1 สถานี จากเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กิโลเมตร
คำสั่งมาตรา 44 ของ คสช. เป็นผลพวงต่อเนื่องจาก คำสั่งเก่า ที่เคยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยคณะกรรมการตามมาตรา 35 และคณะกรรมการตามมาตรา 43 (ติดตามกำกับดูแลสัญญารถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล) ไปเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBEM เมื่อหลายเดือนก่อน เพื่อแก้ปัญหาคอขวดรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีบางซื่อได้ เพราะขาดช่วง
การขาดช่วงดังกล่าว จะบอกว่าเกิดขึ้นโดยเจตนาของ “ไอ้โม่ง” ที่ไหนก็ไม่ทราบที่ออกแบบประหลาดพิสดารเอาไว้เป็นปมให้ซับซ้อน …ชนิดที่ทำเรื่องง่ายให้ยากเข้าไว้ แบบซ่อนเงื่อน ประกอบด้วย
-เส้นทาง 1 กิโลเมตรที่ว่า เป็นโครงสร้างทางกายภาพของส่วนที่เชื่อมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล สีน้ำเงิน (พุทธมณฑล-หลักสอง-หัวลำโพง-บางซื่อ-ท่าพระ หรือ MRT Blue Line) ตามสีที่กำหนดในแผนแม่บทโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง โดยต่อเชื่อมจากจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีบางซื่อเดิม
-การออกแบบที่ผิดประหลาด ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ทำมานานตั้งแต่เริ่ม เพราะโดยหลักการแล้ว รถสายสีน้ำเงินนั้นควรจะประมูลก่อน เนื่องจากโครงสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับสถานีรภไฟฟ้าใต้ดินบางซื่อ แต่กลับพลิกแพลงให้มีการประมูลทีหลัง แล้วโยกส่วนที่เป็นตัวเชื่อม 1 กิโลเมตรข้างต้น (ซึ่งควรจะเป็นส่วนหนึ่งของสายสีน้ำเงิน) ไปไว้เป็นสัญญาพ่วงต่อของสายสีม่วง โดยไม่มีใครเข้าใจว่า ทำอย่างนั้นทำไม
เพิ่งจะมาถึงบางอ้อ เมื่อเจอคำสั่ง คสช.ครั้งก่อน และล่าสุดในครั้งนี้นี่เองว่า …เรียบร้อยโรงเรียน BEM
คำสั่ง คสช.เมื่อหลายเดือนก่อนคือ ให้ รฟม. ไปเร่งเจรจา 2 ส่วนคือ 1) ส่วนที่เป็นฟันหลอ 1 กม.เศษ 2) ส่วนที่เหลือของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ กับหัวลำโพง-บางแค
หลังจากใช้เวลามานาน และทำให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ถึงขั้น “ควันออกหู” มาแล้ว ก็สามารถพบจุดลงเอยได้ พร้อมกับข้อเสนอชนิด 4in 1 กันเลยทีเดียว (รวมทั้งในส่วนที่อยู่ในคำสั่งมาตรา 44 ล่าสุด และยังมีที่เหลืออื่นจะตามมา ประกอบด้วย
1) งานเดินรถรอยต่อ 1 สถานี (1 กิโลเมตร) เตาปูน-บางซื่อนั้น คสช.อาศัยมาตรา 44 มอบให้รฟม.เป็นผู้ดำเนินการเอง โดย รฟม.จะว่าจ้างให้ BEM ติดตั้งระบบบริเวณรอยต่อ 1 สถานี วงเงิน 693 ล้านบาท และเดินรถรอยต่ออีก 2 ปี วงเงิน 52 ล้านบาท หลังจากลงนามว่าจ้าง BEM แล้ว BEM จะต้องทำการติดตั้งพร้อมทดสอบระบบอีก 6 เดือน คาดว่าเปิดให้บริการรอยต่อ 1 สถานีได้ในเดือนสิงหาคม 2560 โดยคาดว่าจะลงนามสัญญากับ BEM สำหรับงานนี้ ภายในวันที่ 29-30 ธันวาคม 2559
2) เมื่อ คสช.ใช้อำนาจสั่งการตามมาตรา 44 แล้ว ก็ถือว่าไม่ต้องนำขั้นตอนของกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) มาใช้ในกรณี 1 กม.นี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ภายใต้เงื่อนไขว่า ถ้าเจรจากับ BEM ไม่สำเร็จ รฟม.สามารถจ้างบริษัทอื่นได้..ซึ่งเด็กก็ยังรู้ว่า เขียนไปงั้นๆแหละ
3) การเจรจาสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด จะมีขั้นตอน ที่ รฟม.รวบรวมผลการเจรจาภายใน 15 วัน หรือ ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2560 เพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยสคร.จะมีเวลาพิจารณาอีก 45 วัน และ รฟม.จะนำเสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมควบคู่กัน
4) รถไฟฟ้าใต้ดิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ที่จะหมดอายุสัญญาปี 2572 จะได้รับการต่ออายุไปให้หมดอายุพร้อมกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระกับหัวลำโพง-บางแค ในปี 2593
เหตุผลของมาตรการเบ็ดเสร็จ 4in 1 มีข้ออ้างว่า เพราะ หัวหน้า คสช. มีความเป็นห่วง และไม่อยากให้มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอยู่แล้ว เพราะหากคำนึงถึงความเป็นจริงการต้องจ้างบริษัทอื่นมาดำเนินการจะมีความยุ่งยาก ประชาชนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
…พูดอีกก็ถูกอีก
งานนี้เรียบร้อยโรงเรียน ช.การช่าง…จิ๊กโก๋หลังวังสรุปเอาไว้ชัดเจน อย่างสั้นๆ….เพราะว่า สัญญาที่ BEM ทำไว้กับ รฟม.ในกรณีสายสีม่วงน้น เป็นสัญญา “รับจ้างเดินรถ” ที่แม้จะไม่มีรายได้มากมาย แต่ไม่ต้องขาดทุน แตกต่างจาก รายได้จากสัญญาสัมปทานของสายสีน้ำเงิน แพราะเป็นรูป “แบ่งรายได้” กับ รฟม.
ทั้งสองแบบต่างกันแค่ไหน…ไม่รู้ รู้กันแต่ว่า สายไหนกำไรดี เพราะผ่านใจกลางเมือง มีคนโดยสารใช้เยอะ จะเป็นสัมปทาน แต่สายไหนมีแนวโน้มขาดทุนบักโกรก เพราะอยู่ชานเมือง เป็นสัญญารับจ้างเดินรถ…ก็เท่านั้น
“อิ อิ อิ”