2560 ไม่มีเลือกตั้ง?ทายท้าวิชามาร
ของขวัญปีใหม่ 2560 ยังไม่ทันที่พรรคการเมืองจะทวงถาม “เมื่อไหร่มีเลือกตั้งตามโรดแมป” รองประธาน สนช.ก็ออกมาโยนหิน การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปกลางปี 2561 โดยมีคำอธิบายว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยังมีเวลาร่างกฎหมายลูก 240 วัน สนช.พิจารณา 60 วัน จัดเลือกตั้งใน 150 วัน สิริรวม 15 เดือนหรือ 450 วัน “ขอเวลาอีกไม่นาน”
ใบตองแห้ง
ของขวัญปีใหม่ 2560 ยังไม่ทันที่พรรคการเมืองจะทวงถาม “เมื่อไหร่มีเลือกตั้งตามโรดแมป” รองประธาน สนช.ก็ออกมาโยนหิน การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปกลางปี 2561 โดยมีคำอธิบายว่า หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยังมีเวลาร่างกฎหมายลูก 240 วัน สนช.พิจารณา 60 วัน จัดเลือกตั้งใน 150 วัน สิริรวม 15 เดือนหรือ 450 วัน “ขอเวลาอีกไม่นาน”
เชื่อเหอะ นายกฯ รัฐบาล คสช. จะประสานเสียงไม่เลื่อนโรดแมป “เราจะทำตามสัญญา” แต่ทุกอย่างว่าตามกระบวนการ เป็นเรื่องของ กรธ. สนช .กกต. รัฐบาลไม่เกี่ยว ตราบใดยังไม่มีรัฐบาลใหม่เราจำต้องบริหารประเทศต่อไป ไชโย
ใครจะโง่ออกมาบอกว่าผิดคำมั่นสัญญา เอาไว้ผ่านไป 3-4 เดือน ถ้ากฎหมายลูกมีปัญหา กรธ. กกต. สนช. ทะเลาะกันเอง พรรคการเมืองออกมาป่วน ฯลฯ จนเสร็จไม่ทันเวลา ไม่สามารถผ่าน 3 วาระรวดใน 1 ชั่วโมงประชาชนก็จะเห็นพ้องเองว่า เลื่อนเลือกตั้งเถอะ
เอาไงก็เอากัน เอาที่สบายใจ คสช.อยากอยู่ยาวเท่าไหร่ ไม่มีใครต่อต้านได้หรอกครับอยู่มาเกือบ 3 ปี ไม่เห็นมีใครเดือดร้อน ทุกสื่อทุกโพลล์ยกย่อง ไม่เห็นต้องรีบไปไหน พวกคัดค้านต่อต้าน พวกอ้างประชาธิปไตย ก็เป็นได้แค่เสียงข้างน้อย 10.5 ล้านเสียงใต้ ม.44 ไม่มีปากเสียงอะไร ขืนออกมาทวงสัญญา ก็จะโดนรุมด่า ไอ้พวกสร้างความวุ่นวาย ถูกจับ ถูกขัง ไม่ได้ประกันตัว ฉะนั้น เงียบไปเลย
ถ้าอยากเลื่อนเลือกตั้งจริง ก็ต้องตกลงกันในเครือข่ายอำนาจระดับบนมากกว่า ว่าโอเคไหม ที่จะให้ “ลุงตู่” ถือ ม.44 อยู่อีกเกือบ 2 ปี รวมทั้งจะบริหารประเทศ เศรษฐกิจ ความเชื่อมั่น อย่างไร ถ้าไม่มีเลือกตั้ง (ตามสัญญา)
การเลือกตั้งสำคัญอย่างไร ไหนว่าไม่มีความหมาย ใช่ครับ รัฐธรรมนูญทำลายการเลือกตั้งจนไม่มีความหมายทางประชาธิปไตย แต่ยังมีความหมายในการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจส่วนบน พูดง่ายๆ มีรัฐบาลเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ไม่มี ม.44 อำนาจเบ็ดเสร็จไม่อยู่ในมือลุงตู่อีกต่อไป ต่อให้ลุงตู่เป็นนายกฯ ก็ต้อง “แบ่งปันอำนาจ” กับพรรคการเมือง และชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในสังคม ทั้งรัฐพันลึก รัฐราชการ ทั้งมือที่มองเห็นและมองไม่เห็น
นี่ไม่ต้องพูดถึง “ผีทักษิณ” เลยนะ เพราะรัฐธรรมนูญตัดพรรคเพื่อไทยจากโครงสร้างอำนาจ ไม่มีทางชนะเลือกตั้ง ต่อให้ชนะก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล
ปัญหาจึงอยู่ที่การกลับไปสู่ระบอบ “แบ่งปันอำนาจ” ระหว่างชนชั้นนำด้วยกัน ว่าจะลงตัวไหม 3 ปีผ่านไป ดูเหมือนชนชั้นนำที่สามัคคีบดขยี้ “ระบอบทักษิณ” ประนีประนอมกันได้ ภายใต้ลุงตู่ผู้มี ม.44 แต่ไม่แน่ใจว่า หมด ม.44 แล้วยังจะแบ่งปันกันลงตัวไหม
โดยยังไม่พูดถึงการแบ่งปันอำนาจและความพึงพอใจ ให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ คนชั้นกลางระดับบน คนมั่งมี ตลอดจนคนที่รับร่างรัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านเสียง
การกลับไปสู่เลือกตั้งดีไหม คำถามวันนี้จึงไม่ใช่กลัว “ระบอบทักษิณ” คืนชีพ แต่คำถามมีว่าเมื่อหมด ม.44 แล้ว กองทัพ ศาล องค์กรอิสระ ขุนนางอำมาตย์ ส.ว.ลากตั้ง พรรคการเมืองอื่นๆ จะแบ่งปันอำนาจกันได้ไหม และจะรับมือปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อย่างไร
ชนชั้นนำบางส่วน จึงไม่อยากเลือกตั้งเร็ว อยากอยู่กับ ม.44 ต่อไป แต่ชนชั้นนำบางส่วน คนระดับบนบางกลุ่ม ก็อยากให้มีเลือกตั้งอยากให้หมด ม.44 เพื่อจะได้มีส่วนแบ่งอำนาจมากขึ้น มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น นี่แหละความขัดแย้งในปี 2560 ที่ประชาชนยังไม่มีปากเสียงหรอก