มุมมองเงินเฟ้อพลวัต 2017
ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของหน่วยงานรัฐ (ไม่ว่ารัฐไทย หรือ รัฐไหนๆ ในโลกนี้) คือการพยายามเสกสรรค์สร้างภาพและคำอธิบายถึงตัวเลขดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจให้เป็นประโยชน์กับผู้กุมอำนาจรัฐจนดูดีเกินจริงได้ทุกสถานการณ์
วิษณุ โชลิตกุล
ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของหน่วยงานรัฐ (ไม่ว่ารัฐไทย หรือ รัฐไหนๆ ในโลกนี้) คือการพยายามเสกสรรค์สร้างภาพและคำอธิบายถึงตัวเลขดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจให้เป็นประโยชน์กับผู้กุมอำนาจรัฐจนดูดีเกินจริงได้ทุกสถานการณ์
เมื่อวานนี้ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค. 2559 อยู่ที่ระดับ 106.93 เพิ่มขึ้น 1.13% เมื่อเทียบจากระยะเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงในอัตราสูงที่สุดในรอบ 25 เดือน โดยที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 ขยายตัว 0.19% ยังอยู่ภายใต้กรอบคาดการณ์ที่ 0.0-1.0% ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.74% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
คำอธิบายติดตามออกมาคือ ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น สะท้อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้นตามการปรับตัวของราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการที่ใช้พลังงาน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เดิมว่าจะขยายตัวมากกว่าปี 2559 เล็กน้อยในกรอบ 1.5-2.0% ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.0-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 45-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 35.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
โปรดสังเกตให้ดี ไม่มีคำว่า “ราคาสินค้าแพงขึ้น” โผล่ออกมาจากปลายลิ้นของเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณชิย์ แม้แต่คำเดียว ทั้งที่ควาหมายของเงินเฟ้อนั้น เชื่อมโยงเข้ากับราคาสินค้าที่สูงขึ้น เมื่อใดที่เงินเฟ้อมากขึ้น หมายถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้น และเมื่อใดที่ “เงินเฟ้อติดลบ (disinflation)” ก็หมายถึงราคาสินค้าที่ถูกลง
คำว่าเงินเฟ้อ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาเลื่อนลอยเป็นอิสระจากปัจจัยเศรษฐกิจใดๆ แต่ผูกโยงเข้ากับราคาสินค้าและบริการที่มีอยู่ในกลไกเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งกำลังซื้อของคนมีรายได้ทั้งหลายที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงด้วยอย่างแยกไม่ออก
ความหมายของเงินเฟ้อโดยทั่วไป คือ การที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติ เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการ แต่นั่นก็เป็นแค่อาการของเงินเฟ้อที่ปรากฏเท่านั้น เพราะมีข้อสรุปที่ผ่านการศึกษามายาวนานแล้วว่า ตัวแปรที่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในโลกนี้ มี 3 อย่างเท่านั้นคือ 1)อุปสงค์และอุปทานของเงินและสินเชื่อ 2)อุปทานของสินค้าและบริการ 3)อุปสงค์ของสินค้าและบริการ
การที่ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น ต้องมีสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือ ทั้งหมดคือ มีการเพิ่มปริมาณเงินในตลาดมากขึ้น หรือ มีการลดลงของสินค้าและบริการในตลาด หรือไม่ก็มีการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์กะทันหัน เช่นมีประชากรเข้ามาในตลาดมากขึ้นเร็วกว่าปกติ
ในทางกลับกัน ราคาสินค้าจะลดลง ก็ต้องเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือ ทั้งหมด คือ มีปริมาณเงินในตลาดลดลง หรือ มีอุปทานของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น หรือ มีการลดลงของอุปสงค์อย่างรวดเร็วเกินปกติ การเพิ่มราคาน้ำมันอย่างรุนแรงที่เป็นต้นเหตุของเงินเฟ้อทั่วโลกในทศวรรษที่ผ่านมา จนมีคนพยายามสร้างทฤษฎีจากสมมุติฐาน “มโนเอาเอง”ไปว่า นี่คือการสุมหัวของกลุ่มโอเปกและบริษัทน้ำมันข้ามชาติ หรือ เกิดจากเจตนาชั่วร้ายของใครบางคนที่ทำเนียบขาว
ในทางปฏิบัตินโยบายการเงินของชาติต่างๆ จะให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษกับตัวแปรหลักในการขึ้นหรือลงของเงินเฟ้อที่แท้จริงได้แก่ ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในตลาดนั่นเอง ที่เป็นกุญแจหลักชี้ขาดว่า เงินจะเฟ้อมากหรือน้อย
หากเมื่อใดที่การไหลเวียนของปริมาณเงินในตลาดมีแนวโน้มช้าลง ราคาสินค้าจะมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงอย่างมีนัย และในทางกลับกัน หากการไหลเวียนเงินในตลาด มีแนวโน้มเร็วขึ้น ราคาสินค้าก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
มองอย่างนักทฤษฎี ก็หมายความว่า หากต้องการให้ราคาสินค้าลดลง ก็ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง เพื่อคนจะได้ถือเงินในมือมากๆ และหากต้องการให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อคนจะได้ถือเงินน้อยลง
นั่นคือ มูลค่าของเงิน แปรผันกับเงินเฟ้อ ในขณะที่มูลค่าของสินค้า แปรผันตรงกับเงินเฟ้อ
นั่นหมายความว่า เงินเฟ้อนั้นมีลักษณะ 2 ด้านเสมอ ไม่ใช่จะก่อให้เกิดความเสียหายเพียงด้านเดียว แต่ก็มีด้านดีของมันเช่นกัน และมองจากผลประโยชน์ของคนที่เกี่ยวข้องแล้ว เงินเฟ้อก็จะให้ประโยชน์กับคนบางกลุ่ม ได้แก่คนที่กักตุนสินค้า หรือพ่อค้าคนกลางทั้งหลาย รวมทั้งคนมีเงินออม หรือปล่อยเงินกู้ ในขณะที่คนเสียหายนั้น ได้แก่พวกมนุษย์กินเงินเดือนหรือรายได้ประจำคงที่ คนที่มีหนี้ให้ต้องชำระ และคนที่ต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น
ทุกครั้งที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง จะเกิดการกระจายรายได้ใหม่เสมอ จากคนที่มีรายได้ประจำโยกไปสู่มือคนที่มีรายได้เคลื่อนตามเงื่อนไขของกลไกตลาด คำถามก็คือ ในภาวะเช่นนี้ การควบคุมเงินเฟ้อ จึงควรทำอย่างไร และก่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มใดมากที่สุด
ประเด็นหลักนี้เอง ทำให้บทบาทของนโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารกลาง มีความหมายขึ้นมา โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเสถียรภาพราคาที่โยงเข้ากับการบริหาร 2 เรื่องคือ อัตราดอกเบี้ย และการควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาด แล้วก็เป็นปมที่นายธนาคารกลางทั้งหลายในปัจจุบันอ้างเอาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ร่วมสมัยว่าด้วย “กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ” (Inflation Targeting) มาอ้างใช้เป็นยาสารพัดนึก ทั้งในฐานะเกราะกำบัง และอาวุธอันแหลมคม เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงเสถียรภาพสถาบันการเงิน”
ครั้งนี้ก็เช่นกัน นักวิเคราะห์ของสำนักธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็ออกมาระบุอีกว่า อย่าได้หวังเลยว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่กำหนดไว้ที่ 1.5% ยามนี้ เพราะว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เชื่อเสมอว่าตนเองเป็น “คุณพ่อรู้ดี” ที่ไม่ต้องใส่ใจกับปัจจัยอื่นใดเลยที่อยู่นอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ