พาราสาวะถี อรชุน

หวังว่าจะได้ความชัดเจนจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องเลื่อนไม่เลื่อนโรดแมป นอกจากได้เห็นอาการโมโหที่ถูกถามพร้อมคำอธิบายเรื่องกรอบเวลาต่างๆแล้ว ไม่มีคำยืนยันว่าเลื่อนหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่ปัจจัยกระบวนการอันเป็นการพิจารณาขององคาพยพที่เกี่ยวข้องคือกรธ.และสนช. หากเกินกรอบเวลาก็หมายความว่าเลือกตั้งจะล่าช้าออกไปไม่ใช่ภายในปีนี้แน่นอน


หวังว่าจะได้ความชัดเจนจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องเลื่อนไม่เลื่อนโรดแมป นอกจากได้เห็นอาการโมโหที่ถูกถามพร้อมคำอธิบายเรื่องกรอบเวลาต่างๆแล้ว ไม่มีคำยืนยันว่าเลื่อนหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่ปัจจัยกระบวนการอันเป็นการพิจารณาขององคาพยพที่เกี่ยวข้องคือกรธ.และสนช. หากเกินกรอบเวลาก็หมายความว่าเลือกตั้งจะล่าช้าออกไปไม่ใช่ภายในปีนี้แน่นอน

มากไปกว่านั้นการตอบคำถามของบิ๊กตู่ ต่อปมว่าด้วยโรดแมปมันเหมือนถามเรื่องไก่ไปตอบเรื่องควายยังไงชอบกล เพราะการที่อธิบายเรื่องเงื่อนเวลาในการทำงานขององค์กรที่ตัวเองแต่งตั้งมากับมือแล้ว ท่านผู้นำยังมิวายที่จะวกไปด่ากราดนักการเมือง ที่แสดงความกังขาต่อท่าทีของสนช.ในการโยนหินถามทางเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง

การที่บอกว่า พวกเรียกร้องเลือกตั้งเคยบอกหรือไม่ว่าจะปฏิรูปอย่างไร มีคำถามตามมาว่าแล้วนักการเมืองพวกไหนที่พูดถึงการปฏิรูป ก็มีแต่กลุ่มกปปส.ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งก่อม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯเพื่อเปิดทางให้เกิดการรัฐประหารนั่นแหละที่อ้างประเด็นการปฏิรูป แต่นอกจากการเชลียร์ผู้มีอำนาจแล้วก็ไม่เคยได้ยินหรือเห็นว่าแผนการปฏิรูปของคนพวกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

สิ่งสำคัญที่ท่านผู้นำมีปุจฉาว่าเคยคิดจะเสนอเรื่องการปฏิรูปบ้างไหม แล้วถ้าคนเหล่านั้นจะเสนอว่าจะปฏิรูปอย่างไร พวกท่านเคยเปิดใจรับฟังหรือไม่ ในการให้สัมภาษณ์แต่ละครั้งแต่ละทีมีแต่คำพูดในทำนองว่านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว แม้แต่โอกาสในการที่จะได้ทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันเพื่อระดมความเห็น เสนอความเห็นยังเป็นไปไม่ได้ แล้วท่านจะถามเพื่ออะไร นี่ก็เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมย้อนแย้งอย่างชัดเจนของคณะผู้มีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนมองโลกแง่ดีอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บอกว่า อย่าไปวิตกกังวลจนเกินเหตุ ยกเว้นเสียแต่เขาจะบอกว่าไม่เอาแล้วโรดแมป นั่นก็อีกเรื่อง แต่จนขณะนี้บิ๊กตู่ยังยืนยันตามโรดแมป จึงเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการตามกระบวนการ ซึ่งทางกรธ.ก็น่าจะทราบดี และต้องมีเวลาให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัว ดังนั้น จึงต้องตั้งหน้าตั้งตาเดินข้ามสะพานกันต่อไป

ไม่รู้ว่าความหมายเดินข้ามสะพานของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้นคืออะไร สะพานที่ผู้มีอำนาจทอดให้บางพรรคการเมืองได้เดินไปเป็นพันธมิตร หรือสะพานแห่งความยากลำบากของพรรคการเมืองที่จะต้องเผชิญกับกฎหมายอันเคร่งครัด ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองรายใดไปทำผิดกติกาแล้วถูกเล่นงานลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือเปล่า

แต่ก็พอจะเข้าใจสำหรับพรรคการเมืองที่รอดปากเหยี่ยวปากกามาโดยตลอดไม่ว่ากฎหมายจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ทว่าท่าทีของอภิสิทธิ์ก็ไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของรองโฆษกพรรค ราเมศ รัตนเชวง ที่เรียกร้องให้กรธ.เปิดเผยเนื้อหาของกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาเบื้องต้น ไม่ได้สนับสนุนให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ในทางกลับกันทำให้เกิดความอ่อนแอเป็นอย่างมาก

สัญญาณตรงนี้ของลูกพรรคเก่าแก่ อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากได้วิเคราะห์เนื้อหาของกฎหมายพรรคการเมืองแล้วคงไม่มีแง่มุมใดที่จะทำให้พรรคของตัวเองได้เปรียบในสนามเลือกตั้งหรือไม่อย่างน้อยก็หลังการเลือกตั้ง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า ที่อุตส่าห์ลงทุนลงแรงกันไปก่อนเกิดการรัฐประหารก็เป็นความสูญเปล่า

แต่ไม่ว่ากฎหมายดังว่าจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอหรือทำให้ใครได้เปรียบหรือไม่ ในมุมของนักกฎหมายอย่างราเมศ ก็มีสิ่งที่ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยเหมือนอย่างที่หลายๆ คนเคยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านั้น นั่นก็คือการกำหนดลงโทษประหารชีวิต สำหรับบุคคลที่วิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ที่มุ่งเล่นงานแต่เฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมือง

โดยไม่ครอบคลุมไปถึงนายกรัฐมนตรีคนนอกและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการลากตั้งถึง 250 คน ทั้งๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เปิดช่องให้ที่มานายกฯไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันส.ว.ลากตั้งก็มีอำนาจและเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งบุคคล  เมื่อไม่ดำเนินการอย่างทั่วถึง ก็เท่ากับว่า กรธ.กำลังร่างกฎหมายที่จะนำไปใช้บังคับไม่ทั่วถึง

เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่ต้องไปค้นหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น” ความจริงจะว่าไปแล้วก็น่าจะเข้าใจกันตั้งแต่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่มาหรือเจตนารมณ์ จนกระทั่งถึงขั้นตอนกระบวนการลงประชามติ ที่สะท้อนภาพอย่างเด่นชัดว่าแฝงไปด้วยเจตนารมณ์ของใครหรือกลุ่มใด

การเมืองว่าด้วยเรื่องอำนาจไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใดก็ตาม ท้ายที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นขบวนการพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง หรืออาจจะเรียกได้ว่าผลของการปกครองโดยอำนาจอธิปไตยคนส่วนน้อย เพื่อคนส่วนน้อย โดยคนส่วนน้อย ไม่ว่าใครล้วนแล้วแต่ทำให้ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ไร้ความหมาย ไม่มีพลังในการต่อสู้เรียกร้องใดๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ว่าจะประชานิยมหรือรัฐสวัสดิการ หรือประชารัฐ หาใช่ให้ความสำคัญโดยใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลางไม่ ในทางตรงข้าม คนที่ยากจนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยกฐานะตัวเองให้ดีขึ้น มิหนำซ้ำ ยังจนลงไปทุกวัน นั่นเป็นเพราะถูกทุนใหญ่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปกครองทั้งลับและแจ้ง ใช้ทุนและองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการที่เหนือกว่าทำลายโดยอาศัยช่องทางของกฎหมาย

โดยเฉพาะที่อ้างกันว่าเป็นการใช้มันสมองของทุนใหญ่เหล่านั้นมาช่วยแก้ไขปัญหาของชาติ ทั้งที่แท้ที่จริงแล้ว ไม่เคยมีพ่อค้ารายได้จะลงทุนโดยไม่หวังผลตอบแทน เพียงแต่ว่าจะเล่นแร่แปรธาตุกันในรูปแบบใดเท่านั้นเอง สรุปแล้ว ไม่ว่าใครจะอ้างอุดมการณ์อย่างไร ท้ายที่สุด การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้ช่วยให้คนจนหายจน มีแต่ทำให้คนรวยแล้วรวยมากขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำที่นำมากล่าวอ้าง ถามว่าทำได้จริงอย่างนั้นหรือ

Back to top button