พาราสาวะถี อรชุน
เสียงบ่นจากคนประชาธิปัตย์ หลังถูกตั้งคำถามทำไมไม่มีคนของพรรคลงไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องของการติดคำสั่งคสช.ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ฟังได้เพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะในความหมายของคนที่เรียกร้องในฐานะพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคเก่าแก่ คงไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องให้แห่แหนกันไปช่วยเหลือ
เสียงบ่นจากคนประชาธิปัตย์ หลังถูกตั้งคำถามทำไมไม่มีคนของพรรคลงไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องของการติดคำสั่งคสช.ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ฟังได้เพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะในความหมายของคนที่เรียกร้องในฐานะพื้นที่ฐานเสียงสำคัญของพรรคเก่าแก่ คงไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องให้แห่แหนกันไปช่วยเหลือ
แค่เพียงเห็นศีรษะหัวหน้าพรรคไปพบปะประชาชน เพื่อให้กำลังใจหรือไม่ก็มีอดีตส.ส.ของพรรคลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนแบบเกาะติด เท่านี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว ไม่ใช่หายหน้าหายตาแล้วอ้างเรื่องคำสั่งของคณะรัฐประหาร เหมือนอย่างที่บอกไปวันก่อนการทำตัวเป็นคุณหนูไม่คลุกคลีแบบติดดินคือปัญหาของหัวหน้าพรรคเก่าแก่ยุคนี้ ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้นำที่วางตัวนั่งแก้ปัญหาอยู่แต่ในห้องแอร์
แต่จะว่าไปแล้ว ท่วงทำนองของนักการเมืองจากพรรคเก่าแก่นั้น ก็ทำให้คิดถึงเสียงบ่นของ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวบ่นถึงความผิดหวังในปี 2559 ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ ผิดหวังกับนักการเมืองไทยจำนวนมากที่สู้น้อยเกินไป และ “ยอมทน” กับระบอบรัฐประหารเพื่อรอกลับไปสู่การเลือกตั้ง
มันตรงจุดตรงประเด็นเป็นที่สุด เพราะหากมองย้อนกลับไปยังท่วงทำนองของการต่อต้านหรือคัดค้านในสิ่งที่คณะรัฐประหารได้ดำเนินการมานั้น มีแค่นักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยเท่านั้นที่มีท่าทีแข็งขันและแข็งขืน ขณะที่พรรคการเมืองอื่นเอาแต่แทงกั๊ก มิหนำซ้ำ บางพรรคยังแสดงอาการรักและห่วงใยคสช.ในลักษณะทอดสะพานอีกต่างหาก
จนทำให้หลายคนสงสัยกันว่า หวังที่จะมีส้มหล่นจากผู้มีอำนาจหรืออย่างไร แน่นอนว่า ง่ายๆ สำหรับนักการเมืองประเภทนี้คือ ขอได้อานิสงส์จากการยกร่างกฎหมายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าพรรคการเมืองที่ชอบอิงแอบกับอำนาจนอกระบบนั้น จะได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนี้ในรูปแบบใด
ดังนั้น ในช่วงโค้งสุดท้ายก็จะเข้าสู่โหมดโรดแมปเลือกตั้ง เราจึงได้เห็นท่าทีของการแสดงความเห็นแบบอ้างอิงหลักการ ยกเอาเรื่องประชาธิปไตยมาเป็นเกราะกำบัง ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีของการรัฐประหารซึ่งคนของพรรคการเมืองแห่งนั้นมีส่วนในการโบกมือดักกวักมือเรียกให้เกิดขึ้น ไม่เคยได้แสดงจุดยืนอย่างเข้มแข็งใดๆ ในการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมดังว่าแม้แต่น้อย
ไม่เพียงเท่านั้น หลายๆ เรื่องยังยกมือหนุนเสียด้วยซ้ำ ซึ่งจะว่าไปก็คงไม่ใช่แต่พรรคการเมืองพรรคนี้เท่านั้น ความผิดหวังที่อาจารย์ปิยบุตรพูดถึงอีกเรื่องก็คือ คนมีความรู้มีการศึกษาจำนวนมากที่ไปให้ความหวังและให้โอกาสกับระบอบรัฐประหาร ขณะเดียวกันก็ผิดหวังกับคนไทยจำนวนมากที่ไปออกเสียงลงคะแนนประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ
ผิดหวังกับคนไทยจำนวนมากที่ยอมทนกับระบอบรัฐประหารแบบนี้ได้เป็นเวลาถึง 2 ปีกว่า โดยได้แต่บ่นและโชว์ความฉลาดอยู่ในวงข้าววงเหล้าและโซเชียลมีเดียแล้วก็ฟินไปวันๆ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องความผิดหวังต่อคณะรัฐประหารรัฐบาลทหารระบอบคสช.และรัฐไทยทั้งหมด จะเรียกว่าผิดหวังก็อาจไม่เต็มปากเต็มคำเท่าไรนัก เพราะจริงๆ ไม่มีหวังตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ในความเห็นของอาจารย์ปิยบุตรที่ระบุว่าความจริงไม่มีหวังตั้งแต่แรกนั้น ก็สะท้อนอีกว่า หากจะผิดหวังก็คงมีเพียงว่าผิดหวังที่พวกเขาคิดสั้น เอาแค่นี้จริงๆ ไม่สนใจว่าอนาคตประเทศนี้จะเป็นอย่างไร ก็กูจะเอาแบบนี้ก็คือแบบนี้ หรือเป็นเพราะท่าทีอันแข็งกร้าวนี้กระมัง ที่ทำให้นักการเมืองซึ่งควรจะเป็นฝ่ายที่ลุกขึ้นมาสู้กลับหงอกันไปหมด
กระนั้นก็ตาม พอไปอ่านบทความของ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ซึ่งมองสถานะของตัวเองในนามนักการเมือง ก็พอจะทำให้รู้สึกเห็นใจอยู่ไม่น้อย เพราะอดีตรัฐมนตรีไอซีทีบอกว่า นักการเมืองอย่างพวกตนกลายเป็นพลเมืองชั้น 2 ทั้งถูกจำกัดบทบาท ถูกดิสเครดิต แม้แต่นักวิชาการและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายรายยังเห็นว่านักการเมืองอ่อนแอและขี้ขลาด
เรื่องนี้ไม่ต่อล้อต่อเถียง แต่อยากสะท้อนข้อเท็จจริงที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า นักการเมืองจะอยู่พรรคไหนก็แล้วแต่ก็มีอุดมการณ์เป็นของตัวเอง สำหรับนักการเมืองที่ต่อสู้และอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด เชื่อว่าเรื่องให้ยอมแพ้และหวาดกลัวอำนาจเผด็จการคงไม่มีแน่นอน แต่นักการเมืองที่หามเสลี่ยงให้เผด็จการนั่งมานั้นต้องไม่นับรวม
น่าสนใจ ในมุมมองที่ว่า คนพวกนี้คือเครื่องมือสำคัญของทหารและเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีการรัฐประหาร เห็นหน้าตากันชัดๆ อยู่แล้วว่าใครได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการยึดอำนาจทุกครั้ง เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยได้ชัยชนะจากการเลือกตั้งสักครั้งเดียว จึงเลือกจะขายวิญญาณให้กับปิศาจ และทำตัวเป็นกบเลือกนกกระสามาเป็นนาย แม้รู้ว่าเพื่อนร่วมชาติส่วนใหญ่จะต้องกลายเป็นเหยื่อของเผด็จการก็ตาม
เพื่อนร่วมชาติประเภทแรกที่ถูกกำจัดหรือพลเมืองกบที่ถูกนกกระสากินก่อนคือ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยนั่นเอง ถ้าย้อนเวลากลับไปดูจะเห็นว่าหลังรัฐประหารทุกครั้งนักการเมืองฝ่ายที่สนับสนุนทหารจะได้รับการปูนบำเหน็จอย่างถ้วนหน้า แต่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนจำเป็นต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ หลายคนมีคดีความและบางคนต้องติดคุก แม้การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุดก็ตาม
อย่างที่รู้กันเวลาที่เผด็จการเรืองอำนาจและสามารถใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์อย่างเสรี ผู้มีอำนาจสามารถใช้อำนาจในมิติต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบ การบิดเบือนและการกล่าวหาใส่ร้ายทำได้ง่ายและมีน้ำหนัก ดังการเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่ผ่านมาต่างถูกกระบวนการปรุงแต่งเพื่อทำให้เชื่อว่านักการเมืองมีแต่ทะเลาะเบาะแว้งและสร้างความวุ่นวายจนประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองสุดๆ ซึ่งเข้าทางฝ่ายเผด็จการแบบเนียนๆ
เรื่องการแสดงออกของฝ่ายการเมืองต่ออำนาจเผด็จการไม่ว่าจะในประเด็นใดก็ตาม ไม่สำคัญเท่าการตรวจสอบการทุจริต ไม่ใช่เอาแต่ไล่บี้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยยืมมือของอำนาจที่รู้ที่มากันอยู่แล้วมาช่วยทำลาย เพราะหลายเรื่องหากเป็นผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้งคงถูกถล่มด้วยประเด็นจริยธรรมกันจนหมดความชอบธรรมไปแล้ว พอเฉยนั่นเท่ากับปล่อยให้พวกที่อาศัยจังหวะนี้ดำเนินการแสวงหาประโยชน์อย่างไร้สำนึก ปราบและปลอดคอร์รัปชั่นฟังแล้วดูดีแต่ไม่ใช่แค่พูดมันต้องไม่มีข้อครหาเรื่องความโปร่งใสเกิดขึ้นในยุคนี้ด้วย