สี จิ้นผิง ผงาดโลกพลวัต 2017

ในขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นครองอำนาจในทำเนียบขาวที่สหรัฐ จากคำสัญญาว่าจะนำ “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ก็มีคำถามว่า ผู้ที่จะกุมชะตากรรมของโลกที่อาจจะเหนือกว่านายทรัมป์นั้น จะเป็นนายวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย หรือนาย สี จิ้นผิง ของจีน


วิษณุ โชลิตกุล

 

ในขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นครองอำนาจในทำเนียบขาวที่สหรัฐ จากคำสัญญาว่าจะนำ “อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ก็มีคำถามว่า ผู้ที่จะกุมชะตากรรมของโลกที่อาจจะเหนือกว่านายทรัมป์นั้น จะเป็นนายวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย หรือนาย สี จิ้นผิง ของจีน

คำตอบไม่ได้อยู่ที่การใช้คำพูด แต่อยู่ที่อิทธิพลและน้ำหนักในการก้าวย่างไปกำกับทิศทางของโลกในอนาคต

ดูเหมือนว่าทั้งนายปูติน และสี จิ้นผิง จะใช้การกระทำมากกว่าคำปราศรัยในการชี้นำมากกว่า ดังนั้น จึงต้องแสดงการกระทำทั้งโดยตรงและเชิงสัญลักษณ์ควบคู่กันไป

ล่าสุด การสร้างความฮือฮามากสุดสัปดาห์นี้ คือ ข่าวที่นาย สี จิ้นผิง จะเดินทางไกลไปเยือนสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่มที่เมืองดาวอส ในสัปดาห์หน้า

การเดินทางไกลดังกล่าว อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เป็นตำนาน เสมือนการเดินทัพทางไกลของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนำโดยประธาน เหมา เจ๋อตง แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่เป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีจีนบนเวทีโลก

เมื่อวานนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเดินทางเยือนสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วันในสัปดาห์หน้า โดยในระหว่างนั้น เขาจะเข้าร่วมการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) ที่เมืองดาวอส ซึ่งจะใช้หัวข้อว่า Responsive and Responsible Leadership” ในวันที่ 17 มกราคม

ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง เคยแสดงความมุ่งมั่นต่างกรรมต่างวาระตลอดมา ที่จะให้จีนมีบทบาทมากขึ้นในการจัดระเบียบโลกใหม่ และเนื่องจากการประชุม WEF จะมีขึ้นก่อนการเข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค. จึงทำให้ประธานาบดีจีน สามารถใช้โอกาสดังกล่าว ในการแสดงความเป็นผู้นำของจีนในเวทีโลกในการประชุม WEF ในครั้งนี้

ย่างก้าวในเวทีโลกที่เมืองดาวอสครั้งนี้ ได้รับการวางแผนมาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เศรษฐกิจจีนแสดงอาการฟื้นตัวแข็งแกร่งอย่างดีหลังยุคของการปรับดุลยภาพใหม่ผ่านไป

เมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งมีมุมบวกอย่างมาก นั่นคือ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงานของจีน พุ่งขึ้น 5.5% ในเดือนธันวาคม 2559 เทียบรายปีแล้วถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี หรือสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 แต่หากเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PPI เดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้น 1.6% ส่วนดัชนี PPI ตลอดปี 2559 ปรับตัวลง 1.4% เทียบรายปี แต่ยังน้อยกว่าปี 2558 ที่ร่วงลงถึง 3.8%

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ปัจจัยที่ทำให้ดัชนี PPI ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น มาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการพุ่งขึ้นของราคาถ่านหินและเหล็ก เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าโดยลำพัง คำยืนยันของรัฐบาลจีน ที่ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าฟื้นตัวจากช่วงเวลาของการปรับดุลยภาพใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาต่ำอีกต่อไป ไม่เพียงพอ ต้องมีคนภายนอกที่น่าเชื่อถือได้ มารับรองความชอบธรรมอีกหลายๆ ครั้ง ก็จะเห็นชัดว่า ยุคสมัยของความผันผวนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของจีนได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ปลายปีที่ผ่านมา ZEWซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำของเยอรมนี สะท้อนการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในตลาดการเงินระหว่างประเทศออกมา คาดการณ์ผลการวิจัยว่า เศรษฐกิจจีนจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นช่วง 8 เดือนข้างหน้า โดยที่มีหลักฐานสนับสนุนเชิงปริมาณและคุณภาพที่บ่งชี้ว่า ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคของจีน ได้ปรับตัวขึ้นสู่แดนบวกอีกครั้ง ที่ระดับ 5.0 จุด ในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.4 จุดอยู่เล็กน้อย

ตัวเลขในช่วงไตรมาสสามของจีนเป็นต้นมา นับตั้งแต่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ ยอดค้าปลีก และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ล้วนออกมาเป็นแนวบวกทางเดียวกันทั้งสิ้น ต่างจากเมื่อปีก่อนที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่สวนทางกันอย่างทำให้อลหม่านมากกว่าน่าเชื่อถือ

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเชิงโครงสร้างคือ สัดส่วนการส่งออกที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในอดีต 30 ปีมานี้ ได้มีความสำคัญลดลง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศกลายเป็นเสาหลักแทน ตอกย้ำว่า จีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จดีเกินคาด ถือเป็นความสามารถพิเศษอย่างแท้จริง แม้ว่ายังมีปัญหาให้ต้องปรับปรุงอีกมากมายในอนาคต

เช่นเดียวกัน ข้อสรุปของงานวิจัยโดย PricewaterhouseCoopers Australia’s ในการประชุม Boao Forum for Asia ที่เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ก็ระบุว่า การลงทุนในต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์ของจีนในอนาคตข้างหน้า มีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤตรอบล่าสุดนี้อย่างยิ่ง

นอกจากนั้นยังมีตัวเลขที่น่าสนใจที่ชี้ว่าจีนในฐานะชาติผู้ซื้อหลักของสินค้าทั่วโลกระดับหัวแถว มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชาติคู่ค้าดีขึ้นหรือเลวลงได้ชัดเจนจากขนาดที่ใหญ่อย่างเศรษฐกิจจีน

การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และส่งออกทุนไปต่างประเทศมากขึ้นของจีน คือบทบาทสำคัญในยุคฟื้นตัวหลังปรับดุลยภาพที่มีความหมายในอนาคตอย่างยิ่ง ในยามที่สหรัฐในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ชูคำขวัญว่าด้วย “อเมริกามาก่อน” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการถอนตัวจากการสร้างอิทธิพลในขอบเขตทั่วโลกที่ต่างจากในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ

ก้าวย่างของสี จิ้นผิงในเมืองดาวอสปีนี้ น่าจะบดบังราศีของโดนัลด์ ทรัมป์ไปมากพอสมควร เพราะจะกลายเป็นตัวเร่งอิทธิพลของจีนต่อโลกในทางบวกมากขึ้น

Back to top button