พาราสาวะถี อรชุน
วันพรุ่งนี้สนช.มีวาระประชุมสำคัญคือพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษขึ้นมาพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการทำประชามติให้เป็นไปตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” ตามคำชี้แจงของ วิษณุ เครืองาม ก็ทำให้พอจะเห็นภาพได้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่
วันพรุ่งนี้สนช.มีวาระประชุมสำคัญคือพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษขึ้นมาพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการทำประชามติให้เป็นไปตาม “ข้อสังเกตพระราชทาน” ตามคำชี้แจงของ วิษณุ เครืองาม ก็ทำให้พอจะเห็นภาพได้ว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่
สำหรับขั้นตอนหลังจากที่สนช.เห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องไปรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับลงมาภายใน 30 วัน เมื่อไปรับพระราชทานมาแล้วจะมีการแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาเพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทานทันที
โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ 2 อย่างคือ ยกร่างเฉพาะมาตรา และ ตรวจสอบให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน ทั้งนี้รายชื่อของคณะกรรมการคณะดังกล่าวได้คลอดออกมาแล้ว ล้วนแต่เป็นมือกฎหมายคนสำคัญประจำรัฐบาลนี้ทั้งสิ้น ได้แก่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
อภิชาต สุขัคคานนท์ อัชพร จารุจินดา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี วีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ร้อยตำรวจตรีพงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และ ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นคณะกรรมการที่ถูกสื่อเรียกว่า ทีมอรหันต์เพื่อทำการแก้ร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากวิษณุว่า จะไม่มีการถือโอกาสแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ แต่อาจมีกระทบกับหมวดอื่นที่เกี่ยวพันกับพระราชอำนาจ ที่ไม่แก้ไขแน่ๆ ได้แก่ เรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวนโยบายแห่งรัฐ คณะรัฐมนตรี ศาล การเลือกตั้ง องค์กร พรรคการเมือง ส.ว. ส.ส. บทเฉพาะกาล จะไม่แตะท่อนที่ถกเถียงกันตอนทำประชามติ ไม่ยืดเวลา ไม่อะไรทั้งสิ้น
วิษณุอธิบายเพิ่มเติมว่า มาตราที่จะแก้ไขล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ตอนประชามติอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ และตอนยกร่างก็ลอกมาจากของเดิม แต่มาในปัจจุบันบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปจึงจำเป็นต้องปรับใหม่ให้เข้ากับเหตุการณ์ เพราะถ้าไม่แก้จะเท่ากับว่าเราใช้หลักที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2475 ส่วนเรื่องกรอบเวลานั้น หลังจากขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกลับมาแล้ว จะต้องนำกลับมาแก้ไขและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ภายใน 30 วัน จากนั้นเป็นเวลาที่อยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน
ส่วนเรื่องของกระบวนการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่มีการตัดขั้นตอนที่มีอยู่ 5 ขั้นตอนคือ การทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ใน 90 วัน ก่อนพระราชทานเพื่อประกาศใช้ กรธ.ทำกฎหมายลูกให้เสร็จตามกำหนด 240 วัน ส่งสนช.พิจารณาใน 60 วันบวกอีก 30 วัน นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไภย ภายใน 90 วัน เมื่อทรงพระราชทานลงมาแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนคือเข้าสู่การเลือกตั้งใน 150 วัน
สำหรับเรื่องผลกระทบต่อการเลือกตั้งตามโรดแมปนั้น วิษณุย้ำว่าเมื่อมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งกันดำเนินการให้แล้วเสร็จ แต่ก็ออกตัวไว้ก่อนว่าขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้ ด้วยการอธิบายว่าถอยไปหลายเดือนที่แล้วเคยกำหนดได้ เพราะทุกอย่างได้ประสานเตรียมการไว้หลายส่วน
แต่เมื่อบัดนี้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยยกกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชี้แจงว่าต้องดำเนินการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งไม่อยากเอามาเป็นข้ออ้าง แต่เป็นความจริงที่อยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ หลังจากนั้นจะตามมาด้วยพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เป็นไปตามพระฤกษ์ที่จะมีการกำหนดอีกครั้ง
แน่นอนว่า การเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นแทรกเข้ามาในช่วงเวลาอย่างนี้เป็นอันขาด แต่เมื่อไปถึงช่วงหนึ่ง แม้จะยังไม่เลือกตั้ง คงจะประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าได้ จะปล่อยให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ทั้งตั้งพรรค ประชุมพรรคหาหัวคะแนน หาเสียง โดยยังไม่ยุ่งเกี่ยวกับวันเลือกตั้ง ทุกอย่างต้องเท่าเทียมกันพอสมควร แต่ตนตอบไม่ได้ว่าจะประกาศเลือกตั้งปลายปีนี้หรือไม่ แต่ขอพูดอย่างเดียวกับหัวหน้าคสช.ว่า ยังอยู่ในโรดแมปเดิม
จะว่าไปแล้วเรื่องการเลือกตั้งเมื่อไหร่ แม้จะมีนักการเมืองบางส่วนตีโพยตีพายอยากให้เป็นไปตามโรดแมป แต่ความเป็นจริงหากยังไม่พร้อมและเห็นกันอยู่แล้วว่า ถ้าเร่งรัดจะเป็นเพียงแค่จัดฉาก สร้างภาพให้ประเทศไทยว่ามีการเลือกตั้งแล้ว สุดท้ายก็ได้คนหน้าเดิมกลับมาบริหารประเทศ เช่นนั้นคงจะไม่เกิดประโยชน์ เท่ากับเป็นการแหกตาชาวบ้าน
ทางที่ดีคือ ต้องให้กระบวนการทุกอย่างพร้อมสรรพอย่างที่สุด ให้การจัดเตรียมการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความโปร่งใส สิ่งสำคัญเวลานี้เมื่ออ้างเหตุที่จะต้องทำให้การเลื่อนเลือกตั้งล่าช้าออกไปจากเดิม บิ๊กตู่ในฐานะผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ต้องแสดงความจริงใจให้เห็นว่าไม่ได้มีอคติต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองอีกแล้ว ควรเปิดช่องให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเหมือนอย่างที่วิษณุได้อธิบาย
อย่างน้อยการเปิดรูหายใจให้กับคนที่ได้ชื่อว่าเคยเป็นตัวแทนของประชาชน ความยุ่งยากเรื่องจัดกิจกรรมต่อต้านคณะรัฐประหารนั้น ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงผู้ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและมีมาตรายาวิเศษอยู่ในมือ ยิ่งยื้อออกไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้เห็นความไม่จริงใจหรือสะท้อนเจตนาแอบแฝงอะไรบางอย่างสำหรับผู้ยึดกุมอำนาจ นั่นย่อมทำให้เกิดภาวะคับแค้น อึดอัด จนอาจจะกลายเป็นชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวที่แม้จะมีอำนาจเด็ดขาดอย่างไรก็เอาไม่อยู่ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อโทนทางการเมืองจะเดินไปในลักษณะเช่นนี้ มีหลายคนอดเป็นห่วงรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.ที่เคยมีชื่อว่าจะหลุดจากโผในคราวปรับครม.ประยุทธ์ 4 ไม่ได้ แม้ว่าจะผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนกันไปแล้ว แต่ว่ากันว่าสำหรับบางรายก็ยังอยู่ในสถานะคลอนแคลนอยู่เช่นเดิม ซึ่งเวลาที่ทอดยาวออกไปดูเหมือนจะดีสำหรับคนมีอำนาจ แต่อาจจะทำให้ใครบางคนต้องชอกช้ำในบั้นปลายก็เป็นได้