PACE เซียนติดดินแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE น่าจะเป็นศิลปินทำนองเดียวกับ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มากกว่านักธุรกิจ เพราะการลงทุนสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และหรูหรา 5 ดาวกลางกรุงเทพมหานครนั้น ...ต้องการวิสัยทัศน์และจิตใจระดับ “เซียนเรียกพี่”
นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE น่าจะเป็นศิลปินทำนองเดียวกับ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มากกว่านักธุรกิจ เพราะการลงทุนสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และหรูหรา 5 ดาวกลางกรุงเทพมหานครนั้น …ต้องการวิสัยทัศน์และจิตใจระดับ “เซียนเรียกพี่”
เหตุผลก็เพราะใช้เวลาคืนทุนช้ามาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสลับซับซ้อนทั้งทางธุรกิจ และทางการเงินในระดับ “เหนือสามัญ”
ที่สำคัญ ต้องเผชิญกับการขาดทุนอย่างหนักตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากยอดหนี้ที่มหาศาล
นับจากเข้าระดมทุนในตลาดเพื่อเพิ่มฐานกองทุน เข้ามาจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เก็ตแคป (เพราะมีขาดทุนสะสมมากมาย) งบการเงินของ PACE ไม่เคยสวยงามเลย…..มีตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง จนสิ้นสุดไตรมาสที่สามของปี 2559 ตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ที่ 4.224 พันล้านบาท
โชคดีหรือร้ายก็ไม่รู้…ที่บังเอิญส่วนผู้ถือหุ้นยังดีพอสมควร เพราะยังมีเหลืออยู่เป็นบวก 2.608 พันล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถจะปล่อยเอาไว้ได้ เพราะการที่ส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่า ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 3.758 พันล้านบาท ก็ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินไม่ดีเลย
ฐานะทางการเงินที่ไม่ดี อาจจะทำให้โครงการหลากหลายของ PACE มีปัญหาได้เพราะทั้ง โครงการมหานคร รวมถึงโรงแรมบางกอก เอดิชั่น และ รูฟท็อปบาร์ จุดชมวิว ออบเซอร์เวชั่น เด็ค และรีเทล มหานคร คิวบ์ ก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ต้องการเงินทุนอีกมากพอสมควรเพื่อต่อยอดให้เสร็จ
ยิ่งเมื่อค่าดี/อีล่าสุด มากถึง 10 เท่า ยิ่งดูแล้วชวนสยองมากกว่าน่าชื่นชม
เรื่องที่ผู้บริหารนักฝันที่ถือคติ…เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ…อย่างนายสรพจน์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเท้าติดดินเสมอมา
ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางปี 2559 PACE เคยตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 320 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.00 บาท ให้แก่บุคคลในวงจำกัด หรือ PP ให้กับกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาซื้อ นำโดย กองทุนเทมเพิลตัน ของนายมาร์ค โมเบียส ผู้ช่ำชองในการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ที่เข้ามาซื้อทั้งหมด 160 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นที่ออกแบบ PP 320 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นเงินกว่า 480 ล้านบาท สมทบด้วยกองทุนขนาดใหญ่ของโลกอีกหลายราย เช่น เอไอเอ ประเทศไทย, กองทุนมิลเลเนียม, กองทุนโอเอซิส และยังมีการจัดสรรให้กับนักลงทุนรายบุคคลด้วย กระจายกันไป
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะแม้ว่าโครงการอาคารมหานครของ PACE จะเป็นที่เลื่องลือในความสวยงาม แต่การเงินเบื้องหลังไม่หรูเหมือนตัวอาคาร การตัดสินใจขายหุ้นในบริษัทลูกที่ทำธุรกิจเฉพาะจึงเป็นความจำเป็นใหม่ที่ต้องเกิดขึ้น
มติผู้ถือหุ้นล่าสุดของ PACE จึงออกมาในลักษณะ “สมบัติแบ่งกันชม” ด้วยการขายหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทลูก 2 แห่งให้กับผู้ที่สนใจลงทุน หลังจากการที่ออกแบบวิศวกรรมการเงินมาแล้ว โดยมี บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาใหญ่
บริษัทแรกที่มีมติคือ บริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด (PP1) จะเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิมจำนวน 200 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 392.10 ล้านบาท โดยการออกหุ้นบุริมสิทธิเพิ่มทุนจำนวน 1,921,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 100 บาท
บริษัทที่สอง บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด (PP3) จะเพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิมจำนวน 100 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 195,000,000 บาท โดยการออกหุ้นบุริมสิทธิเพิ่มทุนจำนวน 950,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 7,972 บาท รวมเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,573.804 ล้านบาท
เงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธินี้ มาจาก 2 กลุ่มคือ อพอลโล เอเชีย สปรินท์ โฮลดิ้ง คอมปานี ลิมิเต็ด (Apollo Asia Sprint Holding Company Limited) และโกลด์แมน แซคส์ อินเวสท์เม้นท์ส โฮลดิ้งส์ (เอเชีย) ลิมิเต็ด (Goldman Sachs Investments Holdings (Asia) Limited) โดยทั้งสองรายจะร่วมกันเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 49% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดใน PP1 และ PP3
เงินลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมด 216.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,765.904 ล้านบาท ยังตามมาด้วยเงินสินเชื่อให้กู้ยืมเงินอีก จำนวน 18.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 675.296 ล้านบาท
สูตรซื้อหุ้นบุริมสิทธิ ตามด้วยเงินให้กู้ยืมอย่างนี้ พวกอเมริกันชอบนัก เพราะน่าจะมีเงื่อนไขกำกับควบคู่เสมอมาว่า จะขายหุ้นคืนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (ในที่นี้คือ PACE) ภายในเงื่อนเวลา…ยิ่งซื้อหุ้นคืนช้า ราคาซื้อคืนจะยิ่งแพงตามตัวไป
เรื่องอย่างนี้ ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่…เป็นสูตรง่ายๆ ที่เข้าใจกันดี
งานนี้ ในระยะสั้น PACE ก็คงโล่ง เพราะค่า ดี/อี ลดฮวบ เนื่องจากเงินที่ได้มา จะต้องชำระหนี้ในปัจจุบันของบริษัทย่อยทั้งสองบริษัท ประมาณ 2 พันล้านบาทเศษซึ่งแม่ร่วมรับภาระด้วย ทำให้ตัวเบาลงบางส่วน
ส่วนจะเบาแค่ไหน ต้องไปถามนักฝันอย่างนายสรพจน์…ว่าเบาถึงขั้นไหน
เพียงแต่คงไม่ถึงกับ “เซียนเหยียบเมฆ” หรือ Walking in the Cloud….เพราะยอดหนี้ที่มีอยู่จากงบการเงินล่าสุดของ PACE นั้น มันมากถึง 2.8 หมื่นล้านบาท เชียวนา…
“อิ อิ อิ”