หงุดหงิด สตง.ขี่พายุ ทะลุฟ้า

ช่างหลังเขาและคอนเซอร์เวทีฟหลุดโลกที่สุด นั่นก็คือสตง.ของผู้ว่าฯพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาสนี่แหละ


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ร่อนหนังสือไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) คัดค้านการถือหุ้นต่ำร้อยละ 50 ของปตท.ในบริษัทธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก PTTOR ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เหตุผลคัดค้านก็คือ ทำให้ทรัพย์สินชาติสูญหาย และจะเกิดผลกระทบด้านความมั่นคงทางพลังงาน อันจะส่งผลกระทบต่อไปยังประชาชน

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ปตท. เพิ่มการถือหุ้นในบริษัทลูกทั้งหลายที่เป็นบริษัทจดทะเบียนให้มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 อาทิ ปตท.สผ. ไทยออยล์ IRPCและ PTTGC

ภาวะตลาดน้ำมันเป็นตลาดเสรีเยี่ยงนี้ ไยจึงเรียกร้องความมั่นคงแบบโบราณๆ เหมือนในยุคตลาดผูกขาดกันอยู่อีก

ความเป็นจริงของตลาดน้ำมันไทยในวันนี้คือหนึ่ง.เป็นตลาดที่มีผู้ค้ามากราย จำนวนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีมากกว่า 40 ราย

ในจำนวนนี้ยังเป็นผู้ค้ารายใหญ่ถึง 7 ราย ซึ่งนอกจากปตท.แล้วก็ยังมีเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ซัสโก้ บางจาก และ PT

สอง.ในปัจจุบัน ไม่มีสภาวะขาดแคลนน้ำมันอีกแล้ว น้ำมันโลกยังคงล้นตลาด หาซื้อจากแหล่งใดก็ได้

กำลังการกลั่นในประเทศมีสูงถึง 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน เกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศที่มีอยู่เพียง 0.96 ล้านบาร์เรล ต้องส่งออกส่วนเกินด้วยซ้ำ

สภาวะน้ำมันขาดแคลนที่คนรุ่นนั้นเจอ นั่นมันตั้งแต่ 40 กว่าปีก่อนล่วงมาแล้ว

สิ่งที่ต้องการสำหรับการประกอบธุรกิจน้ำมันในตลาดเสรีซึ่งมีการแข่งขันสูง มันมิใช่ความต้องการการบริหารจัดการที่มีความชัดเจน ความคล่องตัว ลดความซ้ำซ้อน และประสิทธิภาพสูงสุดดอกหรือ

ไยจะเอาความเป็นรัฐวิสาหกิจอันเทอะทะมาครอบงำกันอยู่อีก

ข้ออ้างเรื่องทรัพย์สินชาติต้องสูญหายไป นี่ก็เก๋ากึ๊กมาก และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ที่อิงแอบกับข้อเท็จจริงเลยสักนิด

ทรัพย์สินปตท.ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปลายปี 2544 มีอยู่เพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ผ่านมา 16 ปี ทรัพย์สินงอกขึ้นมาเป็น 1 ล้านล้านบาท

นี่มันทรัพย์สินชาติสูญหายไปตรงไหนเนี่ย! อย่าปลุกระดมความรักชาติแบบเลอะเทอะ โดยไม่อิงวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์กันอีกต่อไปเลย

ความเติบโตอย่างแข็งแกร่งของปตท.มันก็มาจากปตท. ซึ่งก็ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66 นี่แหละ

และก็ยังคงมีบริษัทลูกเป็นเรือธงอันแข็งแกร่งที่นำความมั่งคั่งมาสู่แม่ อาทิ PTTEP PTTGC TOP และ IRPC ซึ่งจุดแข็งก็อยู่ที่การเป็นบริษัทเอกชน เพียงแต่มีบริษัทรัฐวิสากิจเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น

แล้วทำไม น้องใหม่อย่าง PTTOR จะเป็นเอกชนดำเนินรอยตามรุ่นพี่ที่แข็งแกร่งเหล่านั้นไม่ได้

ขอช่วยแยกแยะจุดยืนระหว่าง NGO กับผู้ว่าการสตง.ในการปฏิบัติหน้าที่สักหน่อยก็คงจะดี                                        

Back to top button