ตำรวจ อัยการ ศาล ครูแพะทายท้าวิชามาร

วันครูปีนี้มาพร้อมข่าว “ครูแพะ” ประจานกระบวนการยุติธรรม คดีผ่านพนักงานสอบสวน อัยการ ผ่าน 3 ศาล จนติดคุกฟรีไปปีครึ่ง จึงมีเพื่อนครูเป็น “โคนัน” สืบพบคนทำผิดจริง น่าแปลกใจว่าเรื่องง่ายๆ ที่ครูผู้หญิงยังสืบได้ เหตุใดตำรวจสืบไม่พบ


ใบตองแห้ง

 

วันครูปีนี้มาพร้อมข่าว “ครูแพะ” ประจานกระบวนการยุติธรรม คดีผ่านพนักงานสอบสวน อัยการ ผ่าน 3 ศาล จนติดคุกฟรีไปปีครึ่ง จึงมีเพื่อนครูเป็น “โคนัน” สืบพบคนทำผิดจริง น่าแปลกใจว่าเรื่องง่ายๆ ที่ครูผู้หญิงยังสืบได้ เหตุใดตำรวจสืบไม่พบ

เมื่ออ่านคำพิพากษา 3 ศาล สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า เหตุเกิดบนถนนธาตุน้อย-นาเหนือ อ.เรณูนคร จ.นครพนม รถกระบะขับเร็วแซงจักรยานยนต์ไปชนคนขี่จักรยานสวนมาถึงแก่ความตาย คนขับหยุดรถดู แล้วขับหนีไป คนขี่จักรยานยนต์จำทะเบียนได้ว่า บค 56 สกลนคร ตำรวจตามไปพบว่าเป็นรถคุณครูซึ่งขายให้เพื่อนบ้านแล้ว แต่วันเกิดเหตุยืมรถไปใช้ก่อน รถมีรอยครูดด้านหน้าข้างซ้าย คุณครูยืนยันว่ารอยเก่า แต่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่ามีรอยใหม่ทับรอยเก่า “พบรอยกระทบด้วยวัตถุที่มีน้ำหนักและอ่อนนุ่มคล้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์” ขณะที่เพื่อนบ้านผู้ซื้อรถก็ให้การว่ารอยครูดใหม่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก โดยไม่รับฟังคำให้การอีกข้อของคนขี่จักรยานยนต์ ว่าเห็นคนขับรถกระบะเป็นผู้ชาย แต่พนักงานสอบสวนไม่บันทึกไว้ รวมทั้งไม่รับฟังพยานที่คุณครูอ้างว่าไปด้วยกัน  เพราะศาลเห็นว่าเป็นญาติ

เมื่อถึงศาลอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยเปลี่ยนทนายเป็นวันชัย สอนศิริ ศาลพิพากษากลับให้ยกฟ้อง เพราะเห็นว่าคนขี่รถจักรยายนต์ไม่ได้บอกเพื่อนและญาติผู้ตายในทันทีว่า รถทะเบียนอะไร ทั้งยังให้การว่าคนขับเป็นผู้ชาย แต่ที่สำคัญคือศาลพิเคราะห์ว่า ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากรถคุณครูชนจริงก็ต้องมีรอยครูดด้านขวา ไม่ใช่ด้านซ้าย

“หากรถยนต์กระบะแล่นแซงรถจักรยานยนต์ที่นางทัศนีย์ขับขี่ล้ำเข้าไปชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่สวนทางมา รถยนต์กระบะต้องแซงออกไปทางด้านขวาของรถจักรยานยนต์ที่นางทัศนีย์ขับขี่ และน่าจะเฉี่ยวชนกับรถจักรยานทางด้านขวาของรถยนต์กระบะ ดังนั้น รอยครูดที่ปรากฏทางด้านซ้ายของรถยนต์กระบะ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดจากการเฉี่ยวชนกับรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่”

อ่านแล้วร้องอ๋อเลยใช่ไหมครับ Common Sense นี่เอง รถกระบะขับกินเลนไปชนจักรยานขี่สวนมา ก็ต้องเอาหน้ารถด้านขวาชน แต่กลับพิสูจน์หลักฐานที่รอยครูดด้านซ้าย

ทำไมตำรวจ อัยการ ไม่มี sense ตั้งแต่ต้น พอเห็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนที่จะฉุกใจคิดอัยการก็ยังฎีกาเพื่อเอาชนะ แล้วศาลฎีกาก็เห็นตามศาลชั้นต้น โดยไม่หักล้างเหตุผลข้อนี้ของศาลอุทธรณ์

นี่เป็นคดีตัวอย่างที่ทุกฝ่ายต้องทบทวน ไม่ใช่แค่ดราม่า “ทำไมไม่ยัดเงินตำรวจ” ถ้าดูให้ดียังไม่สามารถปรักปรำตำรวจเจตนาทุจริต แต่อาจเป็นความ “ปักใจ” เมื่อมีพยาน เมื่อพบรอยครูด อาจมองว่าคุณครูมีพิรุธ ฯลฯ ก็ปักใจโดยไม่สอบสวนด้านอื่นอีก เช่น ทำไมต้องขับข้ามจังหวัด ทะเบียนคล้ายกันมีอีกไหม ฯลฯ ขณะที่อัยการเห็นหลักฐานพอส่งฟ้องได้ ก็ให้ไปสู้เองในศาล

ทัศนะของตำรวจอัยการทำนองนี้มีแทบทุกคดี คือคิดว่ามีหน้าที่ “กล่าวหา” ให้ไปแก้ต่างเอา ไม่สำนึกว่าตนเองมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ต้น

คำถามคือเมื่อความจริงปรากฏ ตำรวจ อัยการ ศาล จะบอกว่าทำหน้าที่ดีที่สุด ไม่มีใครผิด ให้กระทรวงยุติธรรมชดใช้ค่าติดคุกฟรี ชีวิตพังพินาศ เพียงวันละ 200 บาทแล้วจบกันไป หรืออย่างไร

Back to top button