พาราสาวะถี อรชุน
เลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือลากยาวออกไป นักการเมืองที่หยั่งรู้กระแสย่อมไม่เกิดอาการหวั่นไหว แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาจะถูกต้อนเข้ามุม ทว่าผู้มีอำนาจเองเวลานี้ปัญหาที่เผชิญอยู่โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน กับกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องดำเนินการ ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญอยู่ไม่น้อย
เลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในปีนี้หรือลากยาวออกไป นักการเมืองที่หยั่งรู้กระแสย่อมไม่เกิดอาการหวั่นไหว แต่ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมาจะถูกต้อนเข้ามุม ทว่าผู้มีอำนาจเองเวลานี้ปัญหาที่เผชิญอยู่โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน กับกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องดำเนินการ ถือเป็นโจทย์ที่สำคัญอยู่ไม่น้อย
ช้าหรือเร็ว ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สิ่งที่ประชาชนคนทั้งประเทศต้องการคือ กระบวนการจัดการเลือกตั้งและกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยต้องสงบเรียบร้อย ซึ่งตรงนี้ผู้มีอำนาจต้องตีความให้แตก เรียบร้อยหมายถึงยินยอมพร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพ ไม่ใช่สงบราบคาบที่ต้องยอมสงบอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ
การที่รัฐบาลเตรียมตั้งคณะทำงานและสร้างกลไกคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดองหรือปยป.ขึ้นมานั้น ถือเป็นการดีที่จะต้องเร่งประสานขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แนวคิดใช้ได้อยู่ที่ว่าปลายทางในภาคปฏิบัติจะเดินไปได้ไกลขนาดไหน
เวลานี้พูดถึงการเชื้อเชิญขั้วความขัดแย้งมาหารือ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ฝันไกลถึงขนาดที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องของการลงนามบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยูร่วมกัน หากทำได้ย่อมใช้เป็นหลักฐานในการมัดมือขั้วขัดแย้งไม่ให้บิดพลิ้ว ใครเดินออกนอกกรอบถือเป็นการทำผิดกติกาและต้องถูกสังคมลงโทษ
แต่กว่าจะเดินทางไปถึงจุดนั้นก็เต็มไปด้วยข้อสังเกต เอ็มโอยูที่จะเซ็นร่วมกันนั้นมีเนื้อหาสาระอย่างไร สุริยะใส กตะศิลา หนึ่งในแกนนำกลุ่มการเมืองของขั้วความขัดแย้งตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเจตนาที่ดี แต่พูดง่ายทำยาก นึกไม่ออกว่าจะทำได้ขนาดไหนอย่างไร เพราะจะมีปัญหาว่าใครจะทำเอ็มโอยูกับใคร เรื่องอะไร และใครจะเป็นตัวแทนที่ได้รับการยอมรับจริงๆ ในแต่ละฝ่าย
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มเคลื่อนไหวที่อยู่นอกประเทศจะดำเนินการอย่างไร และที่สำคัญความขัดแย้งมีหลายมิติสลับซับซ้อน การเน้นดำเนินการเฉพาะกับแกนนำก็อาจจะได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกันกับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า ไม่ได้แย้ง แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าทำเอ็มโอยูเรื่องอะไร
พรรคการเมืองจะสัญญาว่าจะไม่ทำเรื่องในอดีตอีกแล้ว เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือนิรโทษกรรมสุดซอยอย่างนั้นหรือ จะต้องวางหลักให้ดี ให้ชัดเจนเพราะเป็นข้อตกลงไม่มีผลทางการกฎหมายว่าจะทำอะไร จะไม่ทำอะไร นั่นเป็นความเห็นในมุมของนิพิฏฐ์ที่ยกเอาพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามมาเอ่ยถึง หากจะให้ชัดเจนก็ต้องระบุด้วยหรือไม่ว่า พรรคการเมืองจะต้องไม่ให้สมาชิกลาออกไปก่อม็อบข้างถนนด้วยใช่หรือไม่
แค่เริ่มต้นตั้งคำถามเรื่องประเด็นในการทำเอ็มโอยูก็ทำเอากุมขมับกันแล้ว จึงไม่แน่ใจว่าที่บิ๊กป้อมออกมาย้ำแล้วย้ำอีก มีการรับสัญญาณมาจากฝ่ายไหนกลุ่มใด เพราะฟังจาก ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.ล่าสุด ก็บอกไม่ติดใจเรื่องจะทำเอ็มโอยูหรือไม่ แต่อดจะตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า สิ่งสำคัญของการสร้างความปรองดองคือ ความจริงใจในการทำเรื่องนี้
ถ้าเริ่มด้วยความจริงใจโดยเฉพาะจากฝ่ายผู้มีอำนาจ เชื่อว่าน่าจะให้ผลเป็นรูปธรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะดีกว่าย่ำอยู่ที่เดิมมาแล้วหลายปี และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะประคับประคองให้เดินหน้าต่อไป ในมุมของแกนนำเสื้อแดงคงไม่ต่างจากที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้า ไม่มีประเทศไหนสร้างความปรองดองสำเร็จโดยอำนาจของคู่กรณีในความขัดแย้ง
รัฐบาลคสช.กำลังจะตั้งคณะกรรมการโดยอำนาจผู้นำจากการรัฐประหาร จึงต้องพิจารณาว่า คณะผู้มีอำนาจชุดนี้มีบทบาทเป็นคู่กรณีหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือไม่ ขณะที่การดำเนินการ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่บทสรุปที่ยอมรับร่วมกันได้ ปัญหาคือ ทุกฝ่ายใจกว้างพอที่จะรับเสียงวิจารณ์และน้อมรับความผิดพลาดที่พวกของตัวเองได้สร้างขึ้นหรือไม่
อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากฝ่ายการเมืองที่อาจจะถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีคงเป็นความเห็นของนิพิฏฐ์ที่เสนอว่า หากใครคิดว่าถูกองค์กรพิเศษที่ตั้งขึ้นมาจากฝ่ายการเมืองตรงข้ามเพื่อตรวจสอบตนเอง เช่น คตส.ในอดีต ก็น่าจะสามารถร้องให้กระบวนการยุติธรรมปกติเข้ามาดำเนินการ เริ่มคดีใหม่ได้ ซึ่งการกระทำของคุณนั้นยังอยู่ไม่ได้หมายความว่ามูลความผิดจะหายไปด้วย
ท่าทีเช่นนี้ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากคนของพรรคเก่าแก่ มีแต่จะเหยียบย่ำซ้ำเติมในคดีที่พรรคพวกของระบอบทักษิณถูกเล่นงาน ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่ว่ากระบวนการตรวจสอบและเอาผิดนั้นมันไม่ปกติ ด้วยท่วงทำนองเช่นนี้เชื่อว่า จะเป็นผลบวกต่อกระบวนการปรองดอง และคนของพรรคเก่าแก่ก็ควรจะคิดในลักษณะเดียวกับนิพิฏฐ์ไม่ใช่จองล้างจองผลาญโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรม
ไม่เพียงเท่านั้น ตัวปัญหาอีกประการขององคาพยพฝ่ายมีอำนาจก็คือ บรรดาสมาชิกสปท.บางรายที่นิพิฏฐ์เห็นว่า ควรจะหยุดแสดงความเห็นอันเกี่ยวกับกระบวนการปรองดองได้แล้ว เพราะทุกฝ่ายไม่ยอมรับสปท. พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ไม่ได้ยอมรับ เพราะถือเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนั้นควรจะให้ฝ่ายมีอำนาจเต็มอันหมายถึงรัฐบาลคสช.พูดจะดีกว่า
กรณีเสนอให้สำนึกผิดหรือสารภาพผิดเพื่อพักการลงโทษเป็นเรื่องเลอะเทอะใช้ไม่ได้ เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของอุดมการณ์อุดมคติของบุคคล การต่อสู้ในอดีตก็มีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่แกนนำเหล่านั้นจะยอมรับว่าความเชื่อของเขาผิด ไม่มีใครจะทำลายหลักการตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือกกปส. นั่นจึงเป็นวิธีการบีบบังคับ ทำให้ความสามัคคีปรองดองจะเกิดไม่ได้
นี่คือสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องกำราบพวกพูดมากแต่ไม่สร้างสรรค์ ก็ไม่ต่างอะไรจากพวกขยันแต่โง่ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก ตำราวางแผนการรบก็บอกไว้ชัดเจน คนพวกไหนที่สมควรจะกำจัดทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นภาระของกองทัพ มากไปกว่านั้น การขยันเป็นข่าวของคนพวกนี้อ้าปากก็เห็นไปถึงไหนต่อไหนแล้วว่าหวังผลอะไรในอนาคต ทีนี้ก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจแล้วว่าชอบพวกเชลียร์หรือเปล่า