ทรัมป์ กับ โลกรอบด้านพลวัต 2017

ยิ่งใกล้วันเข้าปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐมากเท่าใด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยิ่งแสดงท่าที “อ่อนหัด” ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งมีคำถามว่านโยบายหาเสียงของเขาที่ให้ความหวังเอาไว้มากมาย จะสามารถแปลงเป็นการปฏิบัติที่ราบรื่นได้อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้


วิษณุ โชลิตกุล

 

ยิ่งใกล้วันเข้าปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐมากเท่าใด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยิ่งแสดงท่าที “อ่อนหัด” ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งมีคำถามว่านโยบายหาเสียงของเขาที่ให้ความหวังเอาไว้มากมาย จะสามารถแปลงเป็นการปฏิบัติที่ราบรื่นได้อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

ท่าทีที่แสดงออกหลายเรื่องของนายทรัมป์ในสัปดาห์ทีผ่านมา จนถึงล่าสุด ในส่วนเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ สะท้อนให้ถึงขีดจำกัดของวิสัยทัศน์แบบทรัมป์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

คำถามที่ท้าทายยามนี้คือ ท่าทีและบทบาทของทรัมป์จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไร หากยังทำตัวเป็น “นักเลงโต” ที่พร้อมจะทำ “ฟาร์มเพาะศัตรู” ไปทั่วโลกตั้งแต่ยังไม่ทันเข้ารับตำแหน่ง

ปรากฏการณ์รูปธรรมของทรัมป์ในการทำฟาร์มเพาะศัตรูที่จับต้องได้ในสองสัปดาห์นี้  ประกอบด้วย

– ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน ทำให้ค่าเงินหยวนอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก

– แสดงความชื่นชมต่อการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากยูโรโซนว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และสหรัฐจะเพิ่มปริมาณการค้ากับอังกฤษมากขึ้น

– กล่าวหาว่านโยบายผู้ลี้ภัยของนางอังเกล่า แมร์เคิลแห่งเยอรมนี เป็นความผิดพลาดที่หายนะ

– นโยบายต่อต้านการลงทุนและการค้ากับเม็กซิโกที่เข้มข้นหลายด้าน โดยเฉพาะการสร้างกำแพงสกัดกั้นผู้ลี้ภัยจากเม็กซิโก จะทำให้ต้นทุนทางธุรกิจของบริษัทอเมริกันเองเสียหายร้ายแรงในระยะยาว

– การขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าต่อรถยนต์ของยุโรปและญี่ปุ่นที่ไม่ได้ทำการผลิตรถยนต์มากขึ้นในสหรัฐ แต่ผลิตจากเม็กซิโกแทน

– นโยบายสนับสนุน “2 จีน” โดยเฉพาะกรณีไต้หวัน อาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดที่รุนแรงกับจีน

– การเชื้อเชิญผู้นำการเมืองขวาจัดของออสเตรเลียมาร่วมงานสาบานตน โดยไม่เชิญนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย อย่าผิดธรรมเนียมการทูต

แนวทางที่ยกมาข้างต้นเป็นบางส่วนที่เพิ่งเริ่มของความปริร้าวในความสัมพันธ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ระหว่างสหรัฐกับชาวโลก ซึ่งล้วนเป็นปริศนาว่า จริงแล้วทรัมป์และพวกต้องการบรรลุเป้าหมายอะไรกันแน่ ที่เป็นมากกว่าการแสดงอหังการแบบอเมริกันธรรมดาอย่างไร้เดียงสา

ปฏิกิริยาของคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสำคัญของอเมริกันนั้น แตกต่างกันออกไป แต่ล้วนออกมาในทางลบมากกว่าบวกแน่นอน

เริ่มต้นนับแต่นาย เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกโรงมากล่าวเตือนว่า การที่นายทรัมป์ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน ถือเป็นคำกล่าวที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะในขณะนี้ ทางการจีนกำลังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะสกัดการร่วงลงของค่าเงินหยวน พร้อมกับแสดงความกังวลว่าระบบการค้าของสหรัฐ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจ หากเกิดการแทรกแซง อาจนำไปสู่การเกิดสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ทางการจีนโดยหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ ระบุว่า จีนอาจจะยุติความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับสหรัฐ หากนายทรัมป์ ไม่เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อไต้หวัน ไม่ถือว่าจำเป็นต้องยึดติดกับแนวคิดดังกล่าวเหมือนกับที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ซึ่งถือว่าตั้งใจท้าทายนโยบายเก่าแก่เกือบ 4 ทศวรรษของสหรัฐที่ตระหนักว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน และเดินหน้าแทรกแซงกิจการไต้หวัน จีนก็พร้อมที่จะตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐ

ทางด้านกลุ่มธุรกิจ ราคาหุ้นกลุ่มรถยนต์ของยุโรป เช่น บีเอ็มดับบลิว และโฟล์คสวาเกน ต่างดิ่งลง 2% วานนี้ หลังจากที่นายทรัมป์ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ของเยอรมนี วิพากษ์วิจารณ์ผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมัน สำหรับรถทุกคันที่จะนำเข้ามายังสหรัฐ จะต้องจ่ายภาษี 35% 

ย่างก้าวเช่นนี้ ด้านหนึ่งอาจจะทำให้อำนาจต่อรองของสหรัฐในความสัมพันธ์กับชาวโลกมีพลังมากกว่าเดิม แต่ท่าทีสร้างศัตรูมากกว่าสร้างมิตรเช่นนี้ ดูพิลึกพิลั่นมากเกินกว่า จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าอหังการแบบอเมริกันจะสามารถทำให้สหรัฐกลับมาเป็นผู้นำโลกได้อีก

โลกกำลังเปลี่ยนไป และหลังจากอำนาจของทรัมป์จบลงในอนาคต ก็อาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ต่ออิทธิพลของอเมริกาต่อชาวโลกที่แปลกออกไปจากปัจจุบันมากมาย

Back to top button