15 ปีดีขึ้นแน่ทายท้าวิชามาร
รัฐบาลทำงบประมาณรายจ่าย 2561 ขาดดุล 450,000 ล้านบาท จากปี 2560 ที่ขาดดุล 390,000 ล้านบาท แต่ขาดดุลเพิ่มกลางปีอีก 160,000 ล้านบาท รวมเป็น 550,000 ล้านบาท ปี 2559 ขาดดุล 390,000 ล้านบาท ปี 2558 ขาดดุล 250,000 ล้านบาท โดยรัฐมนตรีคลังบอกว่าจะต้องทำงบขาดดุลไปถึงปี 2568
ใบตองแห้ง
รัฐบาลทำงบประมาณรายจ่าย 2561 ขาดดุล 450,000 ล้านบาท จากปี 2560 ที่ขาดดุล 390,000 ล้านบาท แต่ขาดดุลเพิ่มกลางปีอีก 160,000 ล้านบาท รวมเป็น 550,000 ล้านบาท ปี 2559 ขาดดุล 390,000 ล้านบาท ปี 2558 ขาดดุล 250,000 ล้านบาท โดยรัฐมนตรีคลังบอกว่าจะต้องทำงบขาดดุลไปถึงปี 2568
ฟังแล้วใช่เลย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าถ้าให้โอกาสรัฐบาลทหารปฏิรูปเศรษฐกิจไทย จะดีขึ้นแน่ใน 15 ปี กู้หนี้กระตุ้นเศรษฐกิจขนาดนี้ ไม่ดีขึ้นยังไงไหว แต่ไม่ต้องห่วงอนาคตลูกหลานไทย ที่เพิ่งไปดูไดโนเสาร์ในทำเนียบ เพราะนายกฯ บอกว่า อีก 15 ปี เราจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง รัฐบาลตั้งเป้าว่าปี 2575 คนไทยจะมีรายได้เฉลี่ย 36,000 กว่าบาทต่อเดือน ใช้หนี้ได้สบาย
เพียงไม่รู้ว่าถ้าเด็กวันนี้โตเป็นผู้ใหญ่วันหน้า แล้วตกงาน หรือรายได้ต่ำ จะถอนหงอกใคร วันนั้นสมคิดอยู่ที่ไหน รับผิดชอบอย่างไร หรือจะอ้างว่า รัฐบาลทหารอยู่ไม่ครบ 15 ปีไง
การทำงบขาดดุลไม่ใช่สิ่งผิด โดยเฉพาะกู้มาสร้างสาธารณูปโภค รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า จะรอราดยางถนนลูกรังให้หมดก่อนได้อย่างไร เพียงแต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครตรวจสอบประเมินผลการใช้งบประมาณด้านอื่นๆ ของรัฐบาล ตั้งแต่งบความมั่นคง ไปถึงตำบลละ 5 ล้าน สตง.บีบคอ อปท.กระทั่งซื้อลูกโป่งวันเด็กยังไม่ได้ แต่กองทัพจัดโชว์สรรพาวุธตามสบาย
ที่สำคัญ กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่ ก็มีแต่คนขอบีโอไอโดยไม่ลงทุน ทั้งต่างชาติทั้งไทย มีแต่ตัวเลขเงินไหลออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็ต้องกู้ๆๆ มาลงทุนแต่ผู้เดียว
นักวิชาการทีดีอาร์ไอพยายามช่วยชี้ว่า ที่เอกชนไม่ลงทุนเพราะรัฐบาลให้แต่นโยบายทางภาษี หนุนแต่การเงิน แต่ขาดนโยบายต่อเนื่อง แนะนำให้พัฒนาปัจจัยเชิงสถาบัน โดยยังบอกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่าด่วนตัดสินว่าปัจจัยทางการเมืองเป็นเหตุผลสำคัญ ความเป็นเผด็จการในไทย มิได้นำมาซึ่งการกดขี่ภาคธุรกิจ แต่กลับดึงภาคีธุรกิจเข้าไปร่วมพัฒนา
ใช่เลยครับ ภาคธุรกิจไม่ได้สนใจประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ไม่ได้แยแสการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพ เห็นโอกาสทำกำไร เห็นช่องทางเข้าใกล้อำนาจ ก็กระดี๊กระด๊าไปร่วม “ประชารัฐ”
เพียงแต่ภาคธุรกิจยังไงก็ไม่ผลีผลาม ตราบใดที่การค้าการส่งออกยังไม่กระเตื้อง แถมการเมืองก็ยังไม่มีความแน่นอน บอกว่ามีเลือกตั้งตามโรดแมปแต่ไม่รู้เมื่อไหร่มีเลือกตั้ง มีเลือกตั้งแล้วจะเป็นอย่างไร จะอยู่กันได้ไหม หรือเอาตามโพลล์ให้ลุงตู่อยู่ไปอีก 3 ปี อยู่ไปเรื่อยๆๆ ก่อน ความไม่แน่นอนก็ยังไม่แน่นอนๆๆ ต่อไป
เพราะเหตุนี้ไง รัฐบาล คสช.ถึงต้องตีปี๊บ “ปรองดอง” เพื่อหาทางสร้างหลักประกันว่าหลังเลือกตั้งแล้วยังกุมอำนาจได้มั่นคง เดินตามเป้า 15 ปีดีขึ้นแน่
แต่ปรองดองแบบนี้ ที่ทำเพื่อให้อำนาจตัวเองมั่นคง กระชับอำนาจกองทัพ รัฐราชการ ขุนนางอำมาตย์ ไม่เผื่อแผ่อำนาจให้ประชาชน เพียงคิดผ่อนปรนล่อใจนักการเมืองให้ยอมจำนน มันใช่การปรองดองที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้หรือเปล่า
ภาคธุรกิจชอบความสงบ มั่นคง ไม่ได้สนใจประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่ก็ต้องการอนาคตที่แน่นอนยั่งยืนด้วยเช่นกัน ประเทศไทยวันนี้ถูกบังคับให้สงบ มั่นคง แต่อนาคตผันผวน ไม่แน่นอน ไม่มีใครมองออกว่าปีหน้าปีโน้น จะเกิดอะไร สมคิดยังขายฝันไปได้ 15 ปี