KTB ประกาศกำไร Q4 วันนี้! ลุ้นทะลุ 8 พันลบ.โบรกฯ ชู P/E ต่ำสุดกลุ่มแบงก์-อัพไซด์ยังสูง
KTB ประกาศกำไร Q4/59 วันนี้! ลุ้นทะลุ 8 พันล้านบาท โบรกฯ เชียร์ "ซื้อ" ให้เป้า 21 บาท ชู P/E ต่ำสุดกลุ่มธนาคาร-อัพไซด์ยังสูง
KTB ประกาศกำไร Q4/59 วันนี้ ลุ้นทะลุ 8 พันล้านบาท โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” ให้เป้า 21 บาท ชู P/E ต่ำสุดกลุ่มธนาคาร-อัพไซด์ยังสูง
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB หลังจากเข้าสู่ช่วงประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4/59 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยกลุ่มธนาคาร โดยนักวิเคราะห์หลายสำนักต่างการันตีว่าผลการดำเนินงานของ KTB ในไตรมาสดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อนและจากปีก่อน หลังได้รับแรงหนุนจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง หลังผ่านแผนฟื้นฟูกิจการของ SSI ด้านราคาหุ้นยังมีอัพไซด์อยู่ถึง 12.90% หลังจากโบรกฯ อัพราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 21 บาท
ขณะที่ P/E อยู่ที่ 8.14 เท่า ต่ำสุดในกลุ่มธนาคาร เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ขณะที่ P/E กลุ่มอยู่ที่ 11.03 เท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ม.ค.60) จึงเป็นที่น่าสนใจว่าราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นได้อีก เพราะ P/E ยังต่ำ และมีอัพไซด์ค่อนข้างสูง
โดยราคาหุ้นปิดตลาดล่าสุดวันที่ (18 ม.ค.) อยู่ที่ 18.60 บาท ปรับตัวขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.09% มูลค่าการซื้อขาย 612.19 ล้านบาท
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยแนะนำ “ซื้อ” KTB ให้ราคาเป้าหมาย 21 บาท/หุ้น ทั้งนี้คาดกำไรไตรมาส 4/59 ที่ 8.70 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนและ 27% จากปีก่อนโดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี แต่การผ่านแผนฟื้นฟูของ SSI ทำให้สัดส่วน NPL ลดลง และสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญในระยะถัดไปลดลงได้ โดยอาจเห็นแนวโน้มดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปี 60
ทั้งนี้คาดกำไรได้แรงหนุนโดยมีประเด็จสำคัญ คือรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่คาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยสินเชื่ออาจอ่อนตัวลงต่อเนื่องอีกเล็กน้อย ขณะที่ NIM อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก ขณะเดียวกันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอาจเติบโตได้เล็กน้อยจากผลิตภัณฑ์ประเภท Bancassurance และ Mutual Fund ที่ได้ผลบวกจากปัจจัยฤดูกาล
อย่างไรก็ตามคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ทำให้ Cost-to-income ratio อาจเพิ่มขึ้นเป็น 44% จากไตรมาสก่อนที่ราว 42% ขณะที่การผ่านแผนฟื้นฟูของ SSI ทำให้สามารถปรับชั้นหนี้มาเป็น SML ได้ จากเดิมที่เป็น NPL โดยเราคาดว่าสัดส่วน NPL จะลดลงจาก 4.16% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ราว 3.6% และทำให้สำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้น เราคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญลดง และเป็นแรงหนุนต่อกำไรในไตรมาสนี้
สำหรับแนวโน้มปี 60 คาดว่าสินเชื่อจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากโครงการลงทุนภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ แต่ประเด็นที่ต้องจับตาดูคือคุณภาพหนี้ในกลุ่มสินเชื่อ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยอาจเห็นแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 60 ขณะที่การปรับชั้นหนี้ของ SSI ทำให้ NPL Coverage Ratio จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 120% จากเดิมที่ 105% ซึ่งช่วยลดแรงกดดันจากสำรองหนี้สูญได้มาก เราจึงปรับประมาณการ Credit Cost ในปี 60 ลงเหลือ 140 bps จากเดิมคาดอยู่ที่ 150 bps ส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้น 7% จากประมาณการก่อนหน้า ทั้งนี้ปรับราคาเป้าหมายสำหรับปี 60 มาอยู่ที่ 21 บาท อิง PBV 1.04 เท่า เพื่อสะท้อนประมาณการกำไรใหม่
ขณะที่ นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นแบงก์รัฐฯจะได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนของภาครัฐฯ และหลังจากที่ประกาศผลประกอบการของปี 2559 ก็จะมีประกาศจ่ายเงินปันผล ซึ่งคาดว่า KTB จะจ่ายเงินปันผล 0.88 บาท/หุ้น เมื่อเทียบกับราคาหุ้น KTB ขณะนี้ที่ 18.40 บาท ก็จะให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend yield) ประมาณ 4.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นอกจากนี้ คาดว่าปีนี้กำไรสุทธิของ KTB จะประมาณ 3.30 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 32,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวม Positive Surprise จากบมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ซึ่งถ้าเข้ามาก็จะทำให้ KTB ลดการตั้งสำรองฯลง และกำไรก็จะดีขึ้นอีก โดยหากมีความชัดเจนเรื่องของ SSI ก็อาจจะมีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรได้อีก พร้อมให้ราคาเป้าหมายตามปัจจัยพื้นฐานไว้ที่ 18 บาท/หุ้น
ด้าน บล.ธนชาต ระบุในบทวิเคราะห์ โดยแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KTB พื้นฐาน 21 บาท PE ต่ำสุดในกลุ่มธนาคาร ได้ประโยชน์ปรับโครงสร้างหนี้ SSI และจ่ายปันผลปีละครั้งให้ Dividend yield 5% โดยแนวต้านระยะสั้นที่ 18.9-19 บาท
*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน