ทรัมป์กับดอลลาร์พลวัต 2017
นายโดนัลด์ ทรัมป์ วางระเบิดเวลาลูกใหญ่ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แถมเป็นระเบิดแบบ “เดอร์ตี้ บอมบ์” เสียด้วย
วิษณุ โชลิตกุล
นายโดนัลด์ ทรัมป์ วางระเบิดเวลาลูกใหญ่ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แถมเป็นระเบิดแบบ “เดอร์ตี้ บอมบ์” เสียด้วย
การให้สัมภาษณ์ของนายทรัมป์ (ซึ่งคนใกล้ชิดพยายามบอกว่า หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่สร้างความแตกตื่นแล้ว) ที่ระบุว่า เงินดอลลาร์ในขณะนี้ “แข็งค่ามากเกินไป” ทำให้บริษัทในสหรัฐไม่สามารถแข่งขันกับประเทศจีนได้ ส่งผลให้ค่าดอลลาร์ร่วงอย่างหนักทั่วโลกในคืนวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาไทย แตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าวานนี้ ค่าดอลลาร์จะรีบาวด์กลับจากแรงซื้อกลับ แต่ยังคงไม่สามารถชดเชยการร่วงลงเมื่อคืนก่อนหน้าได้
ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินถือว่า อาจจะมีการยกเลิกนโยบายดอลลาร์แข็งที่เฟดใช้มายาวนาน แต่จะนำเอานโยบายดอลลาร์อ่อนที่ขัดแย้งกับเฟดมาใช้แทน จะทำตลาดเงินและตลาดเก็งกำไรปั่นป่วนด้วยความไม่แน่นอน
นี่คือการส่งสัญญาณว่า ความโกลาหลของค่าดอลลาร์จะเกิดขึ้นทั่วโลก และอาจจะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเฟด
เพียงแต่ปฏิกิริยาในระยะสั้น ตลาดเงินยังคงคิดว่าอาจจะเป็นการพลั้งปาก นักลงทุนกำลังจับตาการแถลงข่าวของทรัมป์หลังเข้ารับตำแหน่ง
นับตั้งแต่การล่มสลายของข้อตกลงเบรตันวูด โลกได้หันมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว โดยที่สหรัฐร่วมทำข้อตกลงกับชาติโอเปกว่า ต้องให้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักในการซื้อขายน้ำมัน ค่าดอลลาร์สหรัฐก็สูงเกินจริงมาโดยตลอด
ยุทธศาสตร์ดอลลาร์แข็งของสหรัฐมีทั้งข้อดีและเสียในตัวเองเสมอมาตลอด 50 ปีนี้ เพราะด้านลบของค่าดอลลาร์แข็งคือ ดุลการค้าของสหรัฐขาดดุลเรื้อรังมายาวนาน แต่เศรษฐกิจสหรัฐคงอยู่ได้แข็งแกร่งมาโดยตลอดไม่ซวนเซเพราะดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลชำระเงินได้เปรียบเสมอมาจากเงินทุนทั่วโลกที่ถือดอลลาร์เป็นสกุลหลัก และไหลเข้ามาในสหรัฐต่อเนื่องทั้งในการลงทุนโดยตรง การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและเงินลงทุนเก็งกำไร
ถือเป็นแกนหลักทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของสหรัฐตลอดมา จนเกิดข้อสรุปว่า ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่งเพียงนั้น ประวัติยุคปลายของบิล คลินตัน บันทึกไว้ชัดเจน
ยุทธศาสตร์ดังกล่าว มีเฟดเป็นผู้บริหารจัดการมาโดยตลอด และบทบาทของเฟดในฐานะธนาคารกลางที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน ก็มีส่วนทำให้ค่าดอลลาร์แข็งค่าและเป็นเงินสกุลที่ทรงอิทธิพลเหนือโลกมาโดยตลอด
เฟดในฐานะธนาคารกลางไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องดูแลค่าเงินสกุลของประเทศไม่ให้แข็งเกิน หรืออ่อนเกิน จนกระทบต่อการค้าและการลงทุน
อัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มักจะแพงกว่าชาติรอบข้าง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าจากการทำแครี่เทรดของกองทุนเก็งกำไร จนกระทั่งเงินทุนไหลเข้าแรง ค่าเงินแข็งมากเกินขนาด ส่งผลเสียต่อดุลการค้าและการส่งออก แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนเกินไป ส่งผลเสียต่อการลงทุนภาคการผลิต ต่อตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของประเทศขนาดเล็ก
นโยบายดอลลาร์แข็งเพิ่งจะถูกปรับเปลี่ยนก่อนเกิดวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา
คณะกรรมการเฟดที่ได้ต่อสู้ในแนวทางต่างกันอย่างหนัก ได้ข้อสรุปร่วมหลังจากเห็นสัญญาณถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐรุนแรงในช่วงทศวรรษ 2000 จึงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟด ฟันด์ เรต) จนต่ำแค่ 0.25% มาถึงปลายปีที่แล้ว ก่อนที่จะขึ้นแบบ “โยนก้อนหินถามทาง” แค่ 2 ครั้งใน 2 ปีมานี้
การลดดอกเบี้ยต่ำมาก โดยมีเป้าหมายทางทฤษฎีว่า ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน แต่ผลข้างเคียงสำคัญคือ ดอกเบี้ยต่ำติดพื้นเป็นเวลายาวนานหลัง ทำให้เกิดกระบวนการไหลออกของทุนจากสหรัฐไปทำดอลลาร์ แครี่ เทรด ในประเทศทั่วโลก
หลายปีมานี้ ปฏิบัติการ ดอลลาร์ แครี่ เทรด (ซึ่งรับมรดกจาก เยน แครี่ เทรด เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน) เกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมากเป็นพิเศษ เพราะทุนล้นเกินจากปริมาณเงิน (สหรัฐ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และล่าสุดอังกฤษ) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีผ่านมาตรการ QE จนท่วมเกินกว่าภาคการผลิตและบริการจะดูดซับเปิดช่องให้ ดอลลาร์ แครี่ เทรด ที่แม้จะมีส่วนต่างของดอกเบี้ยต่ำกว่ายุคอดีต ก็ยังคุ้มค่าความเสี่ยง
ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจการเงินและชาติต่างๆ ในโลก อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านดอลลาร์ แครี่ เทรด ต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้
เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐหลังวิกฤตซับไพรม์ได้รับการแก้ไขจนฟื้นตัว มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐ ก็เปลี่ยนเป็นถือว่า ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแค่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก
ทางเลือกที่ดีกว่า คือ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น แต่ข้อเสนอของทรัมป์กำลังทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาว่า ยุทธศาสตร์ของเฟดในยุคของทรัมป์นั้น ต้องการดอลลาร์แข็งหรืออ่อนกันแน่
ตลาด (โดยเฉพาตลาดเก็งกำไรทุกชนิด) ไม่ชอบความเสี่ยงอย่างมาก แต่เกลียดและกลัวความไม่แน่นอนทางด้านนโยบาย ที่ทำให้ยากจะควบคุมความเสี่ยงได้ มากที่สุด
ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ไม่น่าจะไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ แต่คำถามคือ เขาต้องการอะไรในการโยนระเบิดเวลาออกมาอย่างโจ๋งครึ่ม