พาราสาวะถี อรชุน

ยังคงเรียกเสียงวิจารณ์ได้เซ็งแซ่สำหรับป.ย.ป.ภายใต้การกำกับของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดหน้าว่าเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การปรองดอง สัญญาณจากบางพวกบางฝ่ายทำให้พอมีความหวัง แต่จากบางคนบางพวก เก้าไม่เอาสิบไม่เอา ยืนกระต่ายขาเดียวพร้อมยกข้ออ้างสารพัด แค่เริ่มต้นก็สะดุดขาพวกเดียวกันเองเสียแล้ว มันจะมีความหวังได้ไหมเนี่ย


ยังคงเรียกเสียงวิจารณ์ได้เซ็งแซ่สำหรับป.ย.ป.ภายใต้การกำกับของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดหน้าว่าเป้าหมายปลายทางอยู่ที่การปรองดอง สัญญาณจากบางพวกบางฝ่ายทำให้พอมีความหวัง แต่จากบางคนบางพวก เก้าไม่เอาสิบไม่เอา ยืนกระต่ายขาเดียวพร้อมยกข้ออ้างสารพัด แค่เริ่มต้นก็สะดุดขาพวกเดียวกันเองเสียแล้ว มันจะมีความหวังได้ไหมเนี่ย

อีกหนึ่งเสียงครหาคือโครงสร้างของคณะเตรียมการสร้างความปรองดอง คลาคล่ำไปด้วยนายทหารใหญ่จากทุกกองทัพ ตามมาด้วยข้าราชการอีกจำนวนไม่น้อย เข้าใจว่านาทีนี้ข้าราชการโดยเฉพาะทหารเป็นใหญ่ แต่ท่านเข้าใจหรือไม่ว่า หัวใจของการปรองดองนั้นคืออะไร ไม่ใช่เอาแต่กระทืบเท้าขู่และจับไปขังสำหรับคนเห็นต่าง อย่างนี้ไม่ว่าจะกี่ปีกี่ชาติก็สามัคคีกันไม่ได้

ตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ไก่โห่ คณะรัฐประหารต้องการสืบทอดอำนาจชัวร์ แม้หัวหน้าคสช.จะย้ำแล้วย้ำอีกหลายเวที ทั้งๆ ที่หลายเรื่องท่านพูดคนจะฟัง แต่ทำไมประเด็นนี้ถึงมีคนเข้าใจยาก หาเหตุผลอะไรมาอธิบายคงลำบาก เพราะทุกอย่างที่เตรียมการกันไว้ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ จนไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เหล่านี้มันสะท้อนเจตนาที่ชัดเจน

แต่อย่ามัวเพลินกับเรื่องของการสร้างความปรองดอง จนลืมสิ่งสำคัญที่เป็นคำมั่นของท่านผู้นำจะต้องไม่เกิดและลบล้างให้ได้ภายใต้รัฐบาลนี้ นั่นก็คือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น วันวานน่าดีใจไม่น้อยที่  ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย

ปัญหาคอร์รัปชั่นลดลงและดีที่สุดจากการสำรวจในรอบ 6 ปี แต่เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่รัฐบาลและประชาชนจะต้องระวังคือ ความรุนแรง เพราะผู้มีประสบการณ์ จะต้องเริ่มจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปี 2558 ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ต้องระมัดระวังและรัฐบาลต้องป้องกัน เพราะโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐจะเริ่มเดินหน้ากันอย่างเต็มที่ในปีนี้

สัญญาณดีที่ธนวรรธน์ว่านั้น มันก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขของการกระทำผิดเรียกรับหัวคิวที่มันลดลง แต่ถามว่ายังมีอยู่หรือไม่ คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว จากผลสำรวจที่ระบุ ความเสียหายของการทุจริตคอร์รัปชั่นประเมินจากงบประมาณประเภทจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการ พบว่า ผู้ประกอบการทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญานั้น อัตราการจ่ายลดลงในรอบ 2 ปี จ่ายเฉลี่ยร้อยละ 1-15 อันเป็นผลทำให้สถานการณ์ดีที่สุดในรอบ 6 ปี

ในเมื่อบ้านเมืองร้างนักการเมืองบริหารประเทศมานานเกือบ 3 ปีแล้วถามว่า แล้วใครกันที่รับค่าหัวคิวร้อยละ 1-15 ดังว่านั้น เท่ากับท่าทีอันแข็งกร้าวของพลเอกประยุทธ์แทนที่จะมีคนหยุดและเลิกรับสินบน กลับยังมีคนใจกล้า หากินโดยมิชอบกันอยู่ เรื่องนี้บิ๊กตู่จะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะเท่ากับว่าท่านจะพูดได้อย่างหน้าชื่นตาบานอย่างไรว่ายุคของตัวเองไร้ทุจริต

ฐานคำนวณของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ที่ว่างบประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท รัฐจะสูญเสียวงเงิน 120,000 ล้านบาทจากการคอร์รัปชั่น สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ จากเดิมที่สูญเสียระดับ 200,000–300,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีในระดับ 0.42-1.27 การลดการเรียกเงินสินบนทุกๆ ร้อยละ 1 ส่งผลให้คอร์รัปชั่นลดลง 10,000 ล้านบาท

ถามกันว่า ถ้าท่านเป็นคนที่ประกาศสู้กับการทุจริตคิดไม่ซื่อจะดีใจไหมกับเม็ดเงินที่ถูกดูดเข้ากระเป๋าใครไม่ทราบ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพวกขี้ฉ้อ ไม่เพียงเท่านั้นผลการสำรวจเที่ยวนี้หากผู้บริหารเอาจริงเอาจังกับการขจัดคอร์รัปชั่นให้หมดไป ก็น่าจะนำเอาผลการศึกษาไปดำเนินการให้ตรงจุด เพราะมีการระบุถึงสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยไว้อย่างชัดเจน

ที่จะว่าไปแล้วก็ไม่น่าจะแตกต่างมันมากนักสำหรับทุกประเทศที่มีการทุจริต นั่นก็คือ เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรมและไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและการใช้ดุลพินิจ เฉพาะจุดที่เอื้อต่อการทุจริต ขณะเดียวกันสิ่งที่จะต้องจับให้ได้ไล่ให้ทันในยุคนี้ก็คือ ภาพรวมปัญหาโครงสร้างการคอร์รัปชั่นที่เปลี่ยนไปจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยรูปแบบการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ การให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ

มันเหมือนเป็นความบังเอิญที่ต้องการจะให้บิ๊กตู่ต้องกุมขมับหรือแสดงอาการโมโหโกรธา หากต้องถูกถามในเรื่องนี้ เพราะในจังหวะที่กำลังมีข่าวดีว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นภายใต้รัฐบาลคสช.ดีขึ้น แต่กลับปรากฏข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศรายงานการแถลงข่าวของ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาและสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงหรือเอสเอฟโอ ของอังกฤษ

โดยระบุว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่จากประเทศอังกฤษ ยินยอมที่จะจ่ายเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยุติคดีข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่และข้อหาคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ สหรัฐฯ และบราซิล ที่มันเกี่ยวข้องกับไทยก็คือ โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทของรัฐในหลายประเทศ ในช่วงปี 2543-2556 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ข้อมูลจากสำนักข่าวต่างประเทศก็คือ ในประเทศไทยนายหน้าของโรลส์-รอยซ์ ได้จ่ายเงินราว 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้โรลส์-รอยซ์ ได้สัญญา 3 ฉบับสำหรับจัดมอบเครื่องยนต์แก่การบินไทย นี่แหละที่เป็นเรื่องใหญ่ แน่นอนว่าที่ทำให้สบายใจได้อย่างคือ ไม่เกี่ยวข้องกับคนในยุครัฐบาลคสช.แน่ๆ แต่จะต้องมีการตรวจสอบ

เห็นกระบวนการตรวจสอบของต่างชาติแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลยุคข้าราชการเป็นใหญ่ นำมาเป็นตัวอย่างไม่เฉพาะแค่การปราบโกงเท่านั้น หากแต่หมายถึงด้านอื่นๆ ด้วย ไหนๆ ก็จะเป็นประเทศไทยยุค 4.0 แล้ว ก็ต้องเป็นยุค 4.0 แบบนานาอารยประเทศเขา ไม่ใช่แบบไทยๆ ที่ยังยึดโยงกับระบบอุปถัมภ์ หากยังเป็นเช่นนั้น เวลาตรวจสอบหรือจะจัดการอะไรให้เด็ดขาด ก็มักจะลูบหน้าปะจมูกอยู่เป็นประจำ

Back to top button