การเมืองเรื่องค่าดอลลาร์พลวัต 2017
หลายปีก่อน หลังวิกฤตซับไพรม์ ที่ทำให้เฟดต้องพิมพ์ดอลลาร์ออกมาทุกเดือนจนท่วมโลกมีคนตั้งโจทย์ (รวมทั้งอิหร่าน รัสเซีย และจีน ชนิด “ลองภูมิ” ขึ้นมาว่า หากค่าดอลลาร์เสื่อมลงจนกระทั่งติดพื้น โลกจะอยู่ได้โดยไม่มีอเมริกา และเงินดอลลาร์อย่างไรกัน?
วิษณุ โชลิตกุล
หลายปีก่อน หลังวิกฤตซับไพรม์ ที่ทำให้เฟดต้องพิมพ์ดอลลาร์ออกมาทุกเดือนจนท่วมโลกมีคนตั้งโจทย์ (รวมทั้งอิหร่าน รัสเซีย และจีน ชนิด “ลองภูมิ” ขึ้นมาว่า หากค่าดอลลาร์เสื่อมลงจนกระทั่งติดพื้น โลกจะอยู่ได้โดยไม่มีอเมริกา และเงินดอลลาร์อย่างไรกัน?
วันนี้โจทย์ข้างต้น ถูกโจทย์ใหม่ของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามากลบไปเสียแล้วเพราะเขาพูดชัดเจนว่า ค่าดอลลาร์แข็งเกินไป โดยเฉพาะเทียบกับเงินหยวนจีน ต้องการให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง
ทรัมป์เพิ่งพูดไม่ทันขาดคำ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดก็ออกมาสวนกระแสทันทีว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจอเมริกันกำลังใกล้เป้าหมายของเฟด 2 เรื่องคือ เงินเฟ้อ 2% และ การจ้างงานเต็มที่ (ว่างงานต่ำกว่า 4.9%) พูดสั้นๆ คือ ยืนยันว่า ดอลลาร์จะต้องแข็งค่ากว่านี้
โดยยุทธศาสตร์ที่เป็นมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ เฟดถูกต้องและสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐมาทุกยุคสมัย นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้ข้อตกลงเบรตัน วูดที่ถูกยกเลิกไป ว่า ดอลลาร์จะต้องเป็นเสาหลักของสกุลเงินทั่วโลก แม้ว่าบางครั้งอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทตามยุคสมัยไปบ้าง
ผู้นำสหรัฐทุกยุคแสดงความหวาดกลัวอย่างยิ่งเกี่ยวกับดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องค่าดอลลาร์อ่อนหรือแข็ง แต่อยู่ที่ว่า โลกจะเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐเมื่อใด หลังจากมีฐานะครอบงำเหนือโลกมาเกือบ 70 ปีแล้ว
เรื่องของดอลลาร์ จึงเป็นการเมืองล้วนๆ
กุญแจสำคัญที่ชี้ชะตาดอลลาร์อยู่ที่ ตลาดน้ำมันโลกจะเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวการในการซื้อขาย ที่ทำให้ค่าดอลลาร์มีมูลค่าในตลาดโลกเกินกว่าค่าจริงมากกว่า 30% มาโดยตลอด เพราะหากขืนมีการกระทำเกิดขึ้น หายนะของดอลลาร์และเศรษฐกิจอเมริกันจะมาเยือนในฉับพลันทันที
รากเหง้าและเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของค่าดอลลาร์ เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ ปิโตรดอลลาร์ หรือดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก
คำว่าปิโตรดอลลาร์ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์ในเรื่องพลังงาน ได้เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่หวนกลับคืนได้อีก
ช่วงเวลาดังกล่าว พวกชาติในตะวันออกกลาง ได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐสนับสนุนให้อิสราเอลทำสงครามกับชาติอาหรับ ด้วยการใช้กลุ่มชาติส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก รวมตัวกันขึ้นราคาน้ำมัน เป็นวิกฤตน้ำมัน
ระหว่างที่ชาวโลกกำลังสาละวนกับการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมันซึ่งนำไปสู่เงินเฟ้ออย่างมหาศาล ตัวแทนรัฐบาลและกลุ่มทุนอเมริกัน กลับคิดค้นนวัตกรรมใหม่จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ด้วยการเจรจาลับกับรัฐบาลราชวงศ์ซาอูด ของประเทศซาอุดีอาระเบีย เรียกกันว่าข้อตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจ U.S.-Saudi Arabian Joint Economic Commission โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อเมริกาจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน และทางทหารเพื่อปกป้องราชวงศ์ซาอูดให้อยู่ในอำนาจไปยาวนาน แลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียจะยอมขายน้ำมันให้กับสหรัฐหรือบริษัทอเมริกัน หรือชาติอื่นๆ ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังมีข้อตกลงลับเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่เป็นแกนกลางของกลุ่มโอเปก ซาอุดีอาระเบียจะโน้มน้าวให้ชาติสมาชิกโอเปกยินยอมขายน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขาย และซาอุจะนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ล้นเกินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเป็นผลดีทั้ง 2 ฝั่งคือ ซาอุไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ และอเมริกาสามารถก่อหนี้ได้เต็มที่ และรักษาดุลชำระเงินให้เป็นบวกตลอดเวลา (แม้ว่าจะมีภาวะ 3 ขาดดุล (ดุลการค้า ดุลบัญชีเงินสะพัด และดุลบัญชีงบประมาณ) ในบางช่วงที่รุนแรง) ผ่านการซื้อพันบัตร ตราสารหนี้ หุ้น รวมทั้ง กิจการ ธนาคาร สถาบันการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ขนานใหญ่
การที่กลุ่มโอเปก ยอมรับให้การซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกในรูปดอลลาร์สหรัฐอย่างเดียว มีผลทำให้มาตรฐานราคาน้ำมันโลก เป็นมาตรฐานดอลลาร์โดยปริยาย
ผลลัพธ์คือ ไม่ว่าโอเปกที่ยิ่งใหญ่คับฟ้าแค่ไหนจากพลังของน้ำมันและปิโตรดอลลาร์ แต่เบื้องหลังของความยิ่งใหญ่นั้น ได้ซ่อนความอ่อนแอในลักษณะทาสที่ปล่อยไม่ไปด้วย จากการที่โอเปกไม่สามารถจะหาเงินสกุลอื่นมาทำการค้า น้ำมันทดแทนดอลลาร์สหรัฐได้ และทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นเงินสากลสำหรับธุรกิจพลังงานโดยอัตโนมัติ และไม่มีสกุลเงินไหนท้าทายค่าดอลลาร์ได้
ผลข้างเคียงที่ตามมา ทุกชาติในโลกที่ต้องซื้อ หรือขายพลังงาน ล้วนมีความจำเป็นต้องถือเงินดอลลาร์เอาไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดทางให้ เฟด กลายเป็นผู้กำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกผ่านการควบคุมปริมาณเงินดอลลาร์ในตลาดโลก เพื่อให้สัมพันธ์กับราคาน้ำมันในตลาดโลก เท่ากับว่าเฟดมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาน้ำมัน และปริมาณปิโตรดอลลาร์ตามไปด้วย
กติกาที่เฟดเป็นคนกำหนดทั้งทางตรงและอ้อมมายาวนาน จึงเป็นเสาหลักทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐมาโดยตลอด
ความสามารถของสหรัฐในการออกแบบให้ ค่าดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนสภาพจาก “เงินเลว” กลายเป็น “เงินดี” ที่โลกไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่งให้ปิโตรดอลลาร์เกิดอาการ “กรดไหลย้อน” พากันไหลกลับเข้ามาในสหรัฐ ทำให้ดุลชำระเงินของสหรัฐยังคงเป็นบวกเสมอมา ซึ่งผลพวงที่ตามมาคือเศรษฐกิจของสหรัฐมีตัวเลขดีเกินจริง
ข้อเท็จจริงทางยุทธศาสตร์และประวัติศาสตร์หยั่งลึกนี้ ทำให้มีคำถามว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และคนรอบข้างที่จะเข้ามาครองทำเนียบขาว จะซื่อบื้อ หรือไร้เดียงสา เสียจนกระทั่งกล้าละเมิดหรือไม่แยแสได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการย้ายกระบวนทัศน์แล้ว มันคือการ “ฆ่าตัวตาย” เพื่อทำลายความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจอเมริกันโดยปริยาย เพื่อเป้าหมายแก้ดุลการค้าอย่างเดียว