พาราสาวะถี อรชุน

การดาหน้าออกมาปฏิเสธของบรรดาผู้มีอำนาจต่อข้อเรียกร้องให้ ทหารหรือกองทัพร่วมลงนามในสัตยาบันสร้างความปรองดองว่า จะไม่ก่อรัฐประหารอีก โดยยืนยันทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นภาพสะท้อนอะไรได้หลายประการ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วการยึดอำนาจสองหนล่าสุด มองไปยังต้นเหตุและปลายทางเห็นภาพเบื้องหลังกันอย่างแจ่มแจ้ง


 

                การดาหน้าออกมาปฏิเสธของบรรดาผู้มีอำนาจต่อข้อเรียกร้องให้ ทหารหรือกองทัพร่วมลงนามในสัตยาบันสร้างความปรองดองว่า จะไม่ก่อรัฐประหารอีก โดยยืนยันทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชน เป็นภาพสะท้อนอะไรได้หลายประการ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วการยึดอำนาจสองหนล่าสุด มองไปยังต้นเหตุและปลายทางเห็นภาพเบื้องหลังกันอย่างแจ่มแจ้ง

                แน่นอนว่า คณะบุคคลที่ไปล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมปฏิเสธว่าสิ่งที่ทำลงไปคือ “ความหวังดี” ไม่อยากให้ประเทศตกอยู่ในภาวะเผชิญหน้าแล้วนำไปสู่การเข่นฆ่ากันของคนในชาติ อันเป็นเหตุผลสุดคลาสสิค ขณะที่ในข้อเท็จจริงเมื่อถอดรหัสแล้ว จะพบว่า ปัญหาประชาธิปไตยที่ถูกตีตราว่านักการเมืองชั่วพรรคการเมืองเลว แท้ที่จริงแล้วเป็นเพราะกลุ่มชนชั้นนำกลัวการมีอำนาจของประชาชนต่างหาก

                เหตุผลที่ยกมาอธิบายง่ายนิดเดียว คนกลุ่มนี้เกรงว่าระบบอุปถัมภ์ อำนาจที่ตัวเองมีโดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบหรือยินยอมพร้อมใจจากประชาชนนั้น จะถูกทำลายด้วยระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งตรงนี้หากหยิบยกเอาข้อเขียนของนักวิชาการหลายๆ คนมาขยายภาพ ก็จะเห็นความเป็นรัฐพันลึก ซึ่งกลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มทุนผูกขาด ระบบราชการและกองทัพ ต่างต้องการให้กลไกและระบอบเช่นนี้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน

                หากยกเอาข้อเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ มาขยายความกับคำว่ารัฐพันลึกหรือรัฐเร้นลึก ยิ่งเห็นภาพเข้าไปใหญ่ เพราะรัฐปกติ ประชาชนมองเห็นได้ แต่รัฐเร้นลึก ประชาชนมองไม่เห็น เพราะแฝงตัวอยู่ และไม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำใดๆ โดยแก่นแท้แล้วต่อต้านประชาธิปไตย ประกอบไปด้วยหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และตุลาการ ที่มีตำแหน่งในระบบการบริหารราชการในรัฐปกติอยู่แล้ว แต่ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมแอบแฝงที่ทำให้พวกเขามีอำนาจยับยั้งเหนือรัฐปกติ

                ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการโยนหินถามทางเรื่องสัตยาบันไม่ก่อรัฐประหาร จึงมีแต่เสียงเซย์โนดังเซ็งแซ่ อันสืบเนื่องมาจากเหตุผลที่สุจิตต์อธิบายไว้ว่า ด้วยปฏิบัติการมากมายหลังฉากหรือแบบลับๆ รัฐเร้นลึกสามารถสร้างสถานการณ์ที่สั่นคลอน หรือคว่ำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือทำรัฐประหารล้มล้างรัฐปกติ ดังที่ทำแล้วและจะทำอีก

                จุดใหญ่ใจความจึงอยู่ที่ว่า คณะกรรมการที่จะเข้ามาทำเรื่องปรองดอง มองประเด็นดังว่านี้อย่างไร ซึ่งคงไม่ต้องคาดเดาก็เห็นคำตอบว่า คนเหล่านั้นจะพร้อมใจกันมองข้าม ด้วยเหตุผลเดียวกันกับผู้มีอำนาจว่ากองทัพและทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งของประชาชน เริ่มต้นด้วยการปฏิเสธความจริงไปข้อหนึ่งแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นถนนสายปรองดองมันจะเดินกันได้สุดทางหรือไม่

                วันวานมีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งในคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของสปท. ชื่อว่าอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็น วิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง มี สังศิต พิริยะรังสรรค์ นั่งเป็นประธาน

                เห็นแนวทางที่วางไว้ 5 ประการแล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาทันที อย่างแรกเลยคือจะเดินตามแนวทางของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เคยต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยนโยบาย 66/2523 ถามว่าในบริบทปัจจุบันยังใช้ได้หรือไม่ เอาแค่แนวคิดเรื่องการเมืองนำการทหารก็เกิดปัญหาแล้ว เพราะเวลานี้การเมืองถูกกดให้อยู่ภายใต้อำนาจของท็อปบู๊ตแทบทั้งสิ้น ภายใต้ข้อกล่าวหา ฝ่ายการเมืองเป็นพวกชั่วช้าสามานย์

                ประการต่อมาคือ ความขัดแย้งในครั้งนั้นเกิดจากฝ่ายรัฐกับฝ่ายประชาชน แต่หนนี้ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา มันคือความแตกแยก ขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชน โดยประชาชนพวกหนึ่งมีอำนาจรัฐพันลึกคอยบัญชาการให้ท้าย เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงนำมาซึ่งกระบวนการยุติธรรมที่ผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว จนเกิดคำว่า “สองมาตรฐาน”

                ดังนั้น ทุกคำพูดที่เปล่งออกมาจากปากของสังศิตไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักเมตตาธรรม การให้อภัยแก่กัน เพื่อยุติความเกลียดชัง รวมถึงการใช้หลักนิติรัฐ ใช้กฎหมายปฏิบัติต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน ถามว่ามันได้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ คำตอบมันชัดเจนอยู่ในตัว ยกเอาแค่กรณีการเคลื่อนไหวของพระในห้วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทพิสูจน์ที่เด่นชัด

                พระรายหนึ่งเคลื่อนไหวพาคนไปยื่นหนังสืออะไรก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่าเกิน 5 คนอยู่แล้ว แต่พระอีกพวกนัดรวมตัวแสดงความเห็น เสนอข้อคิดอันชวนให้สังคมคิด กลับถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่งคสช. ผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แค่นี้ก็เกิดคำถามแล้วว่า กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นธรรมหรือไม่ มากไปกว่านั้นพระรายดังว่าก็ปรากฏภาพให้เห็นชัดๆ ผู้มีอำนาจเวลานี้ต่างไปหมอบราบกราบกรานให้เจิมหน้าผากกันมาแล้ว

                นี่คือข้อเท็จจริงที่ไม่ต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปเสริมเติมแต่ง เพราะมันมีหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ ขณะที่ข้อเสนอของ นิกร จำนง ซึ่งเป็นอนุกรรมาธิการชุดดังว่าด้วย ที่บอกว่าการสร้างความปรองดองต้องไม่มองรัฐบาลและคสช.เป็นคู่ขัดแย้ง เพราะจะทำให้ไม่มีคนกลางที่จะดำเนินการได้ แต่กลับออกตัวว่า ที่มีการมองคสช.เป็นคู่ขัดแย้งนั้น คสช.ต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าคสช.ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

                กรณีเช่นนี้ก็คือการปฏิเสธข้อเท็จจริงอีกประการ เนื่องจากท่าทีของคณะยึดอำนาจที่ผ่านมานั้น ไม่เคยเป็นมิตรกับฝ่ายเห็นต่าง มิหนำซ้ำ ยังจ้องเล่นงานทุกวิถีทาง คงไม่ต้องอธิบายเปรียบเทียบกันอีกว่าอย่างไหนที่คนพวกหนึ่งทำได้ โดยฝ่ายความมั่นคงหรือผู้มีอำนาจยอมหลิ่วตาข้างหนึ่ง ขณะที่อีกพวกแค่กระแอมกระไอก็ผิดกฎหมายแล้ว

                ความเห็นของ อุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรครักประเทศไทยจึงน่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นป.ย.ป.หรือคณะกรรมการชุดไหนก็เป็นได้แค่ตลกคั่นเวลาที่ไม่สามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่การบังคับใช้กฎหมายยังมีช่องโหว่ ต่อรองได้ มีสองมาตรฐาน แต่ข้อเสนอที่ให้รีเซตประเทศด้วยกฎหมาย รีเซตกฎหมายเพื่อคนไทย เพื่อสร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมให้เกิดขึ้น อันจะนำมาสู่ความปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริงนั้น ก็ดูท่าว่าจะเกิดขึ้นยากเช่นกัน

Back to top button