พาราสาวะถี อรชุน
วันวานพูดถึงผลการให้คะแนนขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International หรือทีไอ ในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2559 หรือ Corruption Perceptions Index 2016 โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 จาก 100 คะแนนเต็ม อยู่อันดับที่ 101 จากจำนวน 176 ประเทศ จนทำให้ท่านผู้นำรีบโยนไปเป็นเรื่องของรัฐบาลในอดีต
วันวานพูดถึงผลการให้คะแนนขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International หรือทีไอ ในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2559 หรือ Corruption Perceptions Index 2016 โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 จาก 100 คะแนนเต็ม อยู่อันดับที่ 101 จากจำนวน 176 ประเทศ จนทำให้ท่านผู้นำรีบโยนไปเป็นเรื่องของรัฐบาลในอดีต
ขณะที่ สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช.ก็แสดงความผิดหวังต่อคะแนนที่ได้รับและอ้างว่า มีการนำเรื่องความเป็นประชาธิปไตยมาใช้ในการจัดอันดับด้วย แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าเขานำมาเกี่ยวข้องอย่างไร คงต้องทำการไล่เรียงไปทีละประเด็นสำหรับกรณีความเห็นของคนสองคน รายแรกท่านผู้นำอย่างที่บอก องค์กรดังว่า เขาไม่ได้ใช้ข้อมูลย้อนลึกกลับไปถึงรัฐบาลก่อนหน้าท่าน
หากแต่เขาใช้ผลชี้วัดจากความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศนั้นๆ ในปี 2558 หรือก่อนหน้านั้น 1 ปีนั่นเอง ตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาลก่อนหน้าหรือรัฐบาลไหนทั้งนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลคสช.ล้วนๆ โดยในผลการรายงานขององค์กรดังกล่าวได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีคะแนนลดลงจากเดิมที่เคยได้ 43 คะแนนในปีก่อนหน้า
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติอธิบายว่า สำหรับประเทศไทย ซึ่งคะแนนลดลงเหลือ 35 คะแนน ปัจจัยเสริมมาจากผลสืบเนื่องจากความยุ่งเหยิงทางการเมือง การปราบปรามของรัฐบาล การขาดการกำกับดูแลจากองค์กรที่เป็นอิสระ และสิทธิที่ถดถอย ซึ่งกัดกร่อนความมั่นใจของสาธารณชนในประเทศ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ซึ่งมุ่งโฟกัสในเรื่องปราบคอร์รัปชั่น แต่ก็ปกป้องอำนาจของกองทัพและรัฐบาลที่ไม่อาจตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ยังกร่อนเซาะกระบวนการคืนอำนาจไปสู่รัฐบาลพลเรือนประชาธิปไตย โดยที่รายงานของทีไอยังระบุช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 ด้วยว่า การถกเถียงอย่างเสรีในเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปไม่ได้ การรณรงค์เพื่อต่อต้านนั้นถูกห้าม และมีคนหลายสิบคนถูกจับกุม รัฐบาลทหารก็ห้ามไม่ให้มีการสังเกตการณ์ลงประชามติ สิ่งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการขาดแคลนอิสระ การตรวจสอบ และการดีเบตถกเถียงอย่างจริงจัง
คำอธิบายตรงนี้ขององค์กรดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า ที่บรรดากระบอกเสียงของผู้มีอำนาจทุกองคาพยพ ได้สื่อสารกับคนในประเทศก่อนหน้านั้นว่า ต่างชาติเข้าใจและให้การยอมรับกระบวนการในการทำประชามติของรัฐบาล ไม่ได้เป็นอย่างที่กล่าวหา เมื่อมีเหตุที่จะให้คะแนนหรือพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด เราจะเห็นได้ว่า กรณีนี้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทุกครั้ง
เป็นอันว่า การที่ท่านผู้นำพยายามปัดความรับผิดชอบไปให้เป็นเรื่องรัฐบาลอื่น ต่อผลการประเมินภาพลักษณ์ในเรื่องคอร์รัปชั่นของประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมานั้น ไม่เป็นความจริง ขณะเดียวกัน ก็ยังจะเป็นเครื่องหมายคำถามตามมาว่า แล้วถ้าหากโรดแมปเลือกตั้งของท่านผู้นำถูกเลื่อนออกไปในปีนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผลของการประเมินเที่ยวนี้ก็น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดี
ส่วนประเด็นของเลขาธิการป.ป.ช.ที่ไม่พอใจต่อผลการประเมินในครั้งนี้ โดยเบี่ยงประเด็นไปถึงเรื่องที่ว่ามีการใช้ความเป็นประชาธิปไตยมาประกอบด้วยนั้น คงไม่ต้องหาเหตุมาอธิบาย ในฐานะทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตน่าจะรู้อยู่แก่ใจดีว่าสถานการณ์ของการคอร์รัปชั่นนั้นมันเป็นอย่างไร หลายเรื่องทำได้แค่ประวิงเวลา เพื่อให้สังคมลืมก็เท่านั้น
เหตุผลสนับสนุนที่สำคัญอีกประการก็คือ ผลการตัดสินรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 6 ของป.ป.ช.ในปีที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าไม่มีองค์กรภาครัฐหรือเอกชนใดได้รับรางวัลดังกล่าว แล้วเช่นนี้ถามว่าผลการประเมินของต่างชาติเขาจะแตกต่างจากป.ป.ช.อย่างไร ทางที่ดีควรจะใช้โอกาสนี้หันกลับมามองกระบวนการทำงานขององค์กรตัวเองจะดีกว่าว่า โปร่งใส เป็นธรรมและมีมาตรฐานจริงหรือไม่
การสร้างความปรองดอง หากจะเริ่มต้นด้วยคำพูดที่ว่า ใครปฏิเสธคือพวกที่ไม่เห็นประเทศอยู่ในสายตา โอกาสที่จะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จคงยาก การจะขอความร่วมมือหรือแสวงหาแนวร่วมนั้น มันจะใช้วิธีการทุบโต๊ะเหมือนที่ผู้มีอำนาจถนัดไม่ได้ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป สิ่งสำคัญคือต้องเปิดใจให้กว้าง พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น โดยเฉพาะกลุ่มเห็นต่าง
หากแค่การริเริ่มก็แสดงอาการโมโหโกรธาเสียแล้ว ความเชื่อถือ เชื่อมั่นของผู้ที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมมันก็ไม่เกิด คงไม่มีใครที่จะไม่รักประเทศชาติ การเที่ยวไปกล่าวหาว่าคนโน้นคนนี้ที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือเพราะไม่รักบ้านเมือง ถือเป็นเรื่องที่ผู้นำที่ดีไม่พึงกระทำ ยิ่งหากมองย้อนไปถึงนโยบาย 66/23 ที่พี่น้องบูรพาพยัคฆ์ปฏิเสธนั้น กว่าจะสำเร็จต้องมองย้อนกลับไปว่า เขาริเริ่มและดำเนินการกันมาอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็น พลตรีเปรม ติณสูลานนท์ ยศในขณะนั้นสมัยเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ที่ระดมความคิดร่วมกับบรรดาน้องๆ อีกหลายสมองก่อให้เกิดอาสาสมัครป้องกันตนเองในรูปแบบต่างๆ ผสานเข้ากับการก่อเกิดทหารพรานโดยแนวคิดของ พันเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทั้งหมดเหล่านี้คือยุทธวิธีของการใช้การเมืองนำการทหาร ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2517
ก่อนจะมาประสบความสำเร็จเอาในยุคที่พลเอกเปรมก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในปี 2523 แต่ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว ยังคงมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท.ที่เคลื่อนไหวอยู่ จนต้องออกคำสั่งที่ 65/2525 เป็นการเดินเกมรุกทางการเมืองอีกระลอก ด้วยการดึงผู้เห็นต่างมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย บ้านเมืองจึงสงบสุขมาจนถึงปี 2548
แน่นอนว่าบริบทของความขัดแย้งมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะว่าไปแล้วมูลเหตุของความแตกแยกในห้วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา หากมองไปที่ข้อเท็จจริงแล้วยอมรับกับเบื้องหลังของแต่ละเหตุการณ์เหล่านั้น การเดินหน้าไปสู่ถนนสายปรองดองย่อมไม่ยากเย็น แต่หากยังปฏิเสธความเท็จที่ใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาฝ่ายตรงข้าม ก็ยากที่จะประสานรอยร้าวของความขัดแย้งเหล่านั้นได้ ที่เห็นและเป็นอยู่แค่น้ำจิ้ม ของจริงต้องดูเวลาเปิดเวทีที่ต้องใส่กันยับจนอาจจะเปลี่ยนเวทีปรองดองเป็นเวทียำใหญ่ก็เป็นได้