คำจำกัดความ“ต่างตอบแทน”
ก็เรียบร้อยโรงเรียนไทยเบฟไปแล้วนะครับ กรณีครม.เมื่อวันที่ 17 ม.ค.60 เห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ บริษัทในเครือธุรกิจเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้สัญญาใหม่ในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ก็เรียบร้อยโรงเรียนไทยเบฟไปแล้วนะครับ กรณีครม.เมื่อวันที่ 17 ม.ค.60 เห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ บริษัทในเครือธุรกิจเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้สัญญาใหม่ในการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สัญญาเก่าแค่ 25 ปี แต่สัญญาใหม่ขยายเวลาเป็น 50 ปี
อัตราค่าเช่าคิดตามมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 5,100 ล้านบาท แต่หากตีมูลค่าในอนาคตอยู่ที่ 18,900 ล้านบาท โดยผู้เช่าจะต้องลงทุนก่อสร้างอาคารศูนย์การประชุมและที่จอดรถเพิ่มเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท
ก็เป็นธรรมดานะครับที่จะต้องมีเสียงวิจารณ์ตามมาว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่วิจารณ์อย่างรุนแรงก็คือคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตเลขาธิการก.ล.ต.
คุณธีระชัยตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่มีการเปิดประมูลแข่งขัน
คุณธีระชัยหยิบยกข้ออ้างว่า เพราะถือเป็นสัญญาเดิมที่บริษัทดำเนินการร่วมกับรัฐบาล เป็นการแลกกับการลงทุน 6,000 ล้านบาท
“ถ้าใช้หลักการนี้ ต่อไปทุกบริษัทที่มีสัญญาเดิมกับรัฐบาล ก็สามารถต่ออายุขยายเวลาโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขัน จะทำอย่างนี้กันได้หมดหรือเปล่า”
คุณธีระชัยท้วงติงอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ กระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์จะมั่นใจได้อย่างไรว่าประเทศชาติจะได้รับประโยชน์สูงสุดที่พึงจะได้
นอกจากนั้นก็คือ ปัญหาในเรื่องของภาพพจน์ ซึ่งอดีตรมว.คลังย้ำในเฟซบุ๊คตนเองว่า “ชาวบ้านยังจำได้ว่าใครเป็นผู้ซื้อที่ดินมรดกของท่านนายกรัฐมนตรี”
ครับก็มีเสียงร่ำลือกันมาพอสมควรแล้วล่ะครับว่า คุณเจริญเป็นผู้ซื้อที่ดินมรดกของนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นกิจจะลักษณะใดๆ จากทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
มันก็น่าแปลกอยู่เหมือนกันนะครับว่า มติการต่อสัญญาศูนย์การประชุมฯสิริกิติ์ของครม.ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. กลับเป็นข่าวที่เงียบเชียบมาก ไม่มีการแถลงข่าวจากทีมโฆษกรัฐบาลด้วยซ้ำ จนกระทั่งอดีตรมว.คลังออกมาทักท้วงในเฟซบุ๊คตนเองนั่นแหละ
หลังจากนั้นผู้เกี่ยวข้องอย่างอธิบดีจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุลแห่งกรมธนารักษ์ จึงออกมาแก้ต่างเรื่องไม่มีการเปิดประมูลว่า เพราะเป็นสัญญาเดิม
ส่วนการผิดสัญญาของเอกชนที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงแรมได้ กฤษฎีกาชี้ว่าไม่สามารถจะบอกเลิกสัญญาได้ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยที่กทม.ประกาศพื้นที่สีเขียวภายหลัง
คำชี้แจงนี้ ผมก็ไม่รู้ว่ามันตอบโจทย์เรื่องทำไมไม่มีการเปิดประมูลตรงไหน เพราะสัญญาเก่าเริ่มเมื่อปี 2534 ก็เข้าใจว่าครบอายุสัญญา 25 ปีตั้งแต่ปี 2558 แล้ว
ในเมื่อสัญญาหมด ทุกฝ่ายก็ต้องกลับสู่สถานะเดิม ก็สามารถจะเปิดประมูลใหม่ได้มิใช่หรือ
อย่างไรก็ตาม อธิบดีธนารักษ์ยืนยันถึงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าสัญญาเดิม และก็มีการว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริษัทที่ปรึกษาเอกชน ทำการศึกษาเรื่องผลตอบแทนอย่างถูกต้องทุกประการ
มันก็น่าคิดนะครับว่า การกำหนดค่าเช่า ณ มูลค่าปัจจุบันที่ 5,100 ล้านบาท ต่อระยะเวลา 50 ปี ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นรายปีก็แค่ปีละ 102 ล้านบาท
หากจะคิดเป็นรายเดือนก็ยิ่งถูกใหญ่ แค่เดือนละ 8.5 ล้านบาทเท่าเนั้น สำหรับที่ดินโดยรอบศูนย์ฯสิริกิติ์
เฮ้อ!หวานหมู เส้นแบ่งเรื่อง “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” ชักจะลางเลือนยิ่งขึ้นไปทุกที