ความยุติธรรมที่มาเกือบสาย

แม้ตำนานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จะจบสิ้นไปแล้วหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 แต่อดีตยังคงตามมาหลอกหลอนผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเฉพาะนักการเงินจำนวนไม่น้อยที่เคยทำหน้าที่บริหารธุรกิจดังกล่าว มีอันต้องตกเป็นผู้ต้องหาในศาลยุติธรรม


10 ปีของ วันชัย มโนสุทธิ ความยุติธรรมที่มาเกือบสาย

แม้ตำนานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อน ธุรกิจนี้ถือเป็นดาวรุ่งที่เคียงข้างธุรกิจธนาคารพาณิชย์เลยทีเดียว) จะจบสิ้นไปแล้วหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 แต่อดีตยังคงตามมาหลอกหลอนผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเฉพาะนักการเงินจำนวนไม่น้อยที่เคยทำหน้าที่บริหารธุรกิจดังกล่าว มีอันต้องตกเป็นผู้ต้องหาในศาลยุติธรรม

 

ล่าสุด คดีความที่ตกค้างมาหลังจากถูกฟ้องร้องมานานถึง 10 ปี ได้รับการวินิจฉัยโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10704/2557 ให้นายวันชัย มโนสุทธิ และนายศุภพงศ์ อัศวินวิจิตร รอดพ้นจากข้อกล่าวหา ในคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด(มหาชน) ซึ่งถูกคำสั่งปิดกิจการไป ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2540

แม้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) จะถูกปิดกิจการไปแล้วถึง 8 ปี แต่ในปี 2548 อดีตผู้ถือหุ้นรายย่อยและกรรมการบริษัทดังกล่าว นายสมัคร เจียมบูรเศรษฐ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทตั้งแต่ปี 2517-2530 ก่อนธนาคารทหารไทย จำกัด และกลุ่มอัศวินวิจิตร เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทในปี 2548 ด้วยข้อกล่าวหาว่า ทำการทุจริตในความผิดต่อ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2527 มาตรา 75 สัตต

นายสมัคร ได้กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1) นายวันชัย มโนสุทธิ จำเลยที่ 2) นายศุภพงษ์ อัศวินวิจิตร จำเลยที่ 3) นายกิตติพงษ์ จินตวราลักษณ์ จำเลยที่ 4) นายวีรศักดิ์ อาภารักษ์ และ จำเลยที่ 5) นางปรียานุช สุทธิไชย ซึ่ง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพล จำกัด ระหว่างวันที่ 18 เมษายน 2534 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2537 โดยได้ก่อตั้ง บริษัท อโศกบิศเน็สกรุ๊ป จำกัด (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทที.พี.เอฟ ลิสซิ่ง จำกัด) ขึ้นมา โดยนายวันชัย, นายศุภพงษ์ และนายกิตติพงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวด้วย ระหว่าง วันที่ 21 ธันวาคม 2535 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2536

นายสมัครระบุว่า การก่อตั้งบริษัท อโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด มีเจตนาทุจริตสมคบกัน เพื่ออนุมัติให้บริษัททอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท กู้ยืมเงินจำนวน 300 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกัน โดยใช้วิธีให้บริษัทอโศกนิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ออกตั๋วแลกเงินรวม 36 ฉบับให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด สลักหลังตัวแลกเงินแบบไม่มีสิทธิไล่เบี้ย กล่าวคือไม่ต้องรับผิดตามตั๋ว

จากนั้น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด ได้นำตั๋วแลกเงินดังกล่าวไปขายต่อ ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด เพื่อให้บริษัทดังกล่าว สั่งจ่ายเช็คชำระค่าตั๋วแลกเงินดังกล่าว เพื่อให้บริษัทเงินหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด สั่งจ่ายเช็คค่าตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด อีกทอดหนึ่ง เพื่อนำเงินที่ได้ไปดำเนินการธุรกิจเช่าซื้อ

 

การกระทำดังกล่าว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ได้รับผลประโยชน์จากการให้สินเชื่อทางอ้อม แก่บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด เป็นดอกเบี้ยในอัตรา MOR + 1% รวมทั้งผลประโยชน์ในการเข้าไปจัดตั้งและวางแผนจำนวน 5 แสนบาท และค่าธรรมเนียมจัดการรายเดือน เดือนละ 1 แสนบาท

คำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 ฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย คำสั่ง เรื่อง อำนาจอนุมัติสินเชื่อ และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อผู้อื่น เสียหายต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพล จำกัด และผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ซึ่งรวมถึงนายสมัครด้วย

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง โดยจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดี

ต่อมา ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วพิพากษาว่า นายวันชัย และนายศุภพงษ์ มีความผิด และสั่งจำคุกบุคคลทั้ง 2 คนละ 6 ปี และปรับคนละ 6 แสนบาท แล้วสั่งจำคุกนายกิตติพงษ์ 4 ปี และปรับ 3.9 แสนบาท แต่บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ได้ชำระหนี้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด จนครบถ้วน ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุกนายวันชัย และนายศุภพงษ์ คนละ 4 ปี และปรับคนละ 4 แสนบาท ส่วนนายกิตติพงษ์ ถูกจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 2.6 แสนบาท ยกฟ้องนายวีรศักดิ์ และ นางปรียานุช

หลังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทั้งนายสมัคร โจทก์ รวมทั้งจำเลยคือ นายวันชัย นายศุภพงษ์ และนายกิตติพงษ์ ได้ยื่นอุทธรณ์

ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณา และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกนายวันชัย และนายศุภพงษ์ คนละ 5 ปี และปรับคนละ 5 แสนบาท แต่ลดโทษโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน และปรับคนละ 2.5 แสนบาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกทั้ง 2 ไว้คนละ 3 ปี รวมทั้งให้คุมความประพฤติไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี และให้ทั้ง 2 คน รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 6 เดือน จนกว่าจะครบกำหนด ตลอดจนกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 50 ชั่วโมง ยกฟ้องโจทก์สำหรับนายกิตติพงษ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

หลังจากนั้น นายสมัคร โจทก์ รวมทั้งจำเลย นายวันชัย และนายศุภพงษ์ ได้ยื่นฎีกา

 

ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน)ได้รับผลประโยชน์จากการให้สินเชื่อแก่ บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบฐานะและการดำเนินงาน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 ได้พบการกระทำดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ลงโทษปรับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) เป็นเงินหลายล้านบาท และกำชับให้บริษัทฯ แก้ไขการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ถูกต้องโดยพลัน ซึ่งได้ความเพิ่มเติมว่า หนี้ 300 ล้านบาท ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ปล่อยให้บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัดนั้น ได้มีการชำระกันเสร็จสิ้นแล้ว

ในวันที่ 11 มีนาคม 2540 ก่อนหน้าที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) จะถูกปิดกิจการ นายสมัครซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ได้ทำหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินคดีอาญากรรมการบริหารของบริษัท (หมายถึงจำเลยทั้ง 5 คน) แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้สอบสวนและดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม ดังนั้น ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 นายสมัครจึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล ให้ดำเนินคดี ก่อนจะนำเรื่องขึ้นสู่ศาลในหลายปีต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายสมัคร โจทก์มีอำนาจฟ้องคดี ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า นายวันชัย และนายศุภพงษ์ ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพราะศาลจะลงโทษนายวันชัย และนายศุภพงษ์ได้ต่อเมื่อนายสมัครที่เป็นโจทก์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและผู้อื่น อันเป็นความเสียหายแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ด้วย

นายวันชัยเบิกความว่า ในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุผลประกอบการของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ตกต่ำลง ซึ่งบริษัทมีนโยบายที่จะผลักดันบริษัทให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการประกอบธุรกิจด้านเช่าซื้อรถยนต์ เพราะมีการแข่งขันสูง แต่ติดขัดที่ข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่า การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องวางเงินดาวน์จำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องผ่อนชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลา 48 เดือน แตกต่างจากบริษัทจำกัดทั่วไปที่ไม่อยู่ในความควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อโดยผู้เช่าซื้อวางเงินดาวน์น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ได้

 

นายวันชัย ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท จึงเสนอปัญหาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารว่าจำเป็นต้องตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์แทนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ต่อจากนั้นมีการก่อตั้งบริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ขึ้นในปี 2535 และได้เสนอให้นายวันชัย นายศุภพงษ์ และนายกิตติพงษ์ เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าว เพื่อควบคุมดูและและบริหารกิจการได้ โดยไม่ได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆ จากบริษัทอโศกบิศเน็สกรุ๊ปจำกัด แต่เพื่อให้บุคคลภายนอกเกิดความมั่นใจและไว้วางใจว่าเป็นบริษัทในเครือ

การก่อตั้งบริษัทเป็นเอกเทศขึ้นมาเพื่อครอบคลุมตลาดเช่าซื้อ ทำให้ไม่ติดข้อจำกัดของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยบริษัทจะไม่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ตั้งใหม่ เพราะหากบริษัท ให้บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด กู้ยืมโดยตรง จะได้วงเงินกู้น้อยไม่เพียงพอต่อเงินหมุนเวียน เป็นวิธีการที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในขณะนั้นหลายแห่งก็ดำเนินการเช่นกัน

ในการเบิกพยานฝ่ายโจทก์ นายสมัครมีพยานบุคคลเพียงปากเดียวเป็นพยาน และไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า นายวันชัย และ นายศุภพงษ์ เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียกับบริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด หรือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด อย่างไร และการจัดตั้งบริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ขึ้นมาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควร โดยได้รับประโยชน์หรือบุคคลอื่นได้รับผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร

ศาลฎีการะบุว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า บริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ได้ประโยชน์จากเงินกู้ยืม 300 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเงินจดทะเบียนอย่างมาก แต่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นดอกเบี้ยและค่าตอบแทนด้วย ส่วนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด ได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นคนกลางรับซื้อตั๋วแลกเงินจากบริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ปจำกัด มาขายต่อให้

ศาลชี้ว่า จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ล้วนได้รับความไว้วางใจจากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 1 กลุ่ม ให้เข้ามาดูแลผลประโยชน์ของตนในบริษัทดังกล่าว การดำเนินการก่อตั้งบริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด เพื่อประกอบกิจการเช่าซื้อ ได้ผ่านความเห็นชอบหรือการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร รวมทั้งโจทก์และกรรมการอื่นต่างรับทราบแล้ว บ่งชี้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นบริหารจัดการเพื่อให้บริษัทได้รับผลกำไรเพิ่มขึ้น แต่ผลประกอบการมิได้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารและกรรมการอื่นคาดหวังไว้ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการดำเนินธุรกิจ

 

แม้การบริหารจัดการดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังไม่พอพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้จากทางนำสืบของจำเลยว่า บริษัทเงินทุนทรัพย์ธนพล จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เข้าร่วมทุนบริษัทอโศกบิสเน็สกรุ๊ป จำกัด ร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียน จึงไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกับพวกกระทำการโดยไม่สุจริต

พยานหลักฐานของนายวันชัย และนายศุภพงษ์ สอดคล้องต้องกันและมีเหตุผลมีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายของบริษัท การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเป็นเงินหลายล้านบาท เพราะฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจฯ ขณะนายวันชัย และ นายศุภพงษ์ บริหารงานก็เป็นความผิดจากการดำเนินงานของบริษัท โดยมิได้มีการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง

อีกทั้งนายสมัครก็เบิกความรับว่า ขณะที่ตนเองเป็นผู้บริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนพล จำกัด ก่อนหน้านั้น ก็เคยถูกธนาคารแห่งประเทศไทยลงโทษปรับเช่นกัน

การบริหารงานของบริษัทโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่า ผู้บริหารของบริษัทกระทำการโดยทุจริตเสมอไป พยานหลักฐานของนายวันชัย และ นายศุภพงษ์ มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของนายสมัครได้ จึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของนายวันชัย และ นายศุภพงษ์ ฟังขึ้น

 

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่านายวันชัย และ นายศุภพงษ์ กระทำความผิดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่บริษัท การที่นายกิตติพงษ์ กระทำการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายวันชัย และ นายศุภพงษ์ ในการดำเนินงาน จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฎีกา การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนายกิตติพงศ์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับนายวันชัย และ นายศุภพงษ์ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำสั่งศาลฎีกา ถือว่า นายวันชัย สุทธิมโน และนาย ศุภพงษ์ อัศวินวิจิตร ได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา แม้จะกินเวลายาวนานถึง 10 ปี ถือเป็น 1 ในบทเรียนจำนวนมากของอดีตตกค้างจากยุคบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไม่ใช่อดีตที่แค่ผ่านเลย

Back to top button