พาราสาวะถี
กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษหรือเอสเอฟโอ ว่าจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เม็ดเงินแยกจ่ายในปีใดตรงกับรัฐบาลไหน ได้เห็นข้อมูลกันไปแล้ว ส่วนที่เหลือคือฝีมือในการคลี่คลายหาตัวคนผิดมาดำเนินคดีในส่วนขององค์กรปราบโกงของไทยอย่างป.ป.ช.
กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษหรือเอสเอฟโอ ว่าจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินกว่า 1,200 ล้านบาท เม็ดเงินแยกจ่ายในปีใดตรงกับรัฐบาลไหน ได้เห็นข้อมูลกันไปแล้ว ส่วนที่เหลือคือฝีมือในการคลี่คลายหาตัวคนผิดมาดำเนินคดีในส่วนขององค์กรปราบโกงของไทยอย่างป.ป.ช.
เบื้องต้นคุยฟุ้งมาแล้วว่าน่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเร็ววัน พร้อมระบุว่าได้รายชื่อรัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายเกี่ยวข้องกับการทุจริตในครั้งนี้แล้ว ซึ่งนั่นก็คงไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร เพราะเงื่อนเวลาที่โรลส์-รอยซ์ยอมรับว่า มีการจ่ายสินบน 3 ครั้งนั้น ตรวจเช็กข้อมูลแบบเด็กๆ ก็จะเห็นหน้าค่าตาของเสนาบดีในยุคนั้นๆ ได้อยู่แล้ว
แต่มันไม่น่าจะง่ายอย่างนั้น เพราะประเด็นการเรียกรับสินบนจากการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินของบริษัทเจ้าจำปีนั้น มันเป็นอะไรที่ลึกลับซับซ้อนไม่ใช่น้อย กระบวนการพิจารณาและการตัดสินใจ ต้องผ่านระดับผู้เชี่ยวชาญล้วนๆ จะสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำถามจากอดีตนักบินกองทัพอากาศอย่าง นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ต่อขบวนการงาบสินบนที่น่าสนใจ
ประการแรกคือ เรื่องบริษัทการบินไทยมีเครื่องยนต์หลายแบบเป็นเรื่องที่ได้ยินมานาน ซึ่งตนเคยสงสัยเรื่องนี้อยู่ไม่ใช่น้อยว่าทำไมการบินไทยถึงตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์จากอังกฤษมาใช้อีกเป็นแบบที่ 3 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากอเมริกาใช้อยู่แล้วถึง 2 บริษัท ประเด็นนี้หากมองแบบคนทั่วไปก็คิดง่ายๆ ว่า มันจะได้มีความหลากหลาย
ในฐานะที่ทำงานด้านการบินมาก่อน อนุดิษฐ์บอกว่า เคยถามเพื่อนนักบินและช่างที่อยู่บริษัทการบินไทยว่า ทำไมถึงตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์จากบริษัทโรลส์-รอยซ์มาใช้อีก เพราะแม้แต่เด็กอมมือยังรู้ดีว่าการมีเครื่องยนต์หลายแบบที่มาจากคนละบริษัท ทำให้การบินไทยต้องใช้งบประมาณและบุคลากรมากกว่าปกติ แต่คนเหล่านั้นก็ไม่มีใครสามารถให้ความกระจ่างกรณีนี้ได้ เพียงบอกว่าการจัดซื้อทั้งหมดเป็นนโยบายของผู้มีอำนาจที่สั่งการลงมาให้มีการจัดซื้อ
ใครจะเชื่อว่าต้องรอมาถึงปี 2560 คำถามนี้จึงได้รับคำตอบแบบไม่ต้องสืบว่าเรื่องนี้เกิดจากการทุจริตกันอย่างมโหฬารในการบินไทย ก่อนหน้านี้ใครจะอธิบายเหตุผลไว้สวยหรูอย่างไรก็ตามทุกคนก็ได้แต่สงสัย แต่เมื่อความจริงปรากฏว่าเบื้องหลังการจัดซื้อเครื่องยนต์ครั้งนี้ มาจากการติดสินบนผู้มีอำนาจในบริษัท เรื่องนี้จึงสะท้อนข้อเท็จจริงหลายๆอย่างว่าการจัดซื้อของการบินไทยในครั้งนั้นมีความสกปรกอยู่ไม่น้อยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม อนุดิษฐ์ได้ออกตัวก่อนว่า จะอาศัยความเป็นนักบินกองทัพอากาศและการมีความรู้ในเรื่องอากาศยานมากล่าวหาการบินไทยคงไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้จึงชี้ชวนให้ดูข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของ กัปตันโยธิน ภมรมนตรี ซึ่งเป็นอดีตกัปตันและผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย อันถือได้ว่าเป็นผู้รู้สายสนกลในเป็นอย่างดี
กัปตันโยธินระบุว่า เป็นความน่าอับอายอย่างมากเรื่องสินบนในการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรที่โผล่ให้เห็น ภูเขาน้ำแข็งมีมูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศชาติ แต่ยังทำลายความมั่นคงของสายการบินแห่งชาติด้วย
มีการเปิดข้อมูลเรื่องความเสียหายจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดของสายการบินแห่งชาติ เริ่มจาก โครงการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500/600 ทั้งหมด 10 ลำ ซึ่งกัปตันโยธินพูดเสมอว่ามีแต่คนโง่หรือคนโกงเท่านั้นที่ซื้อเครื่องบินแบบนี้ โดยแบ่งเป็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ ทั้งที่ทางสภาพัฒน์เสนอให้ทำการศึกษาใหม่ เนื่องจากบริษัท Airbus ผลิตเครื่องบิน A340-500 มาแค่ 35 ลำ และเลิกผลิต เพราะไม่สามารถหาคนโง่หรือคนโกงมาซื้อได้อีก
เวลานี้เครื่องบิน A340-500 ทั้ง 4 ลำ จอดตากแดดตากฝนมาหลายปีแล้ว มีคนมาขอซื้อในราคา 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ คณะกรรมการบริษัทไม่ยอมขาย ปัจจุบันยังจอดตากแดดตากฝนต่อไปจนจะเป็นเศษเหล็กอยู่แล้ว ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว 15,000 ล้านบาท
ขณะที่เครื่องบิน Airbus A340-600 อีก 6 ลำ มีอายุใช้งานมาแค่ 10 ปี แต่ไม่ได้ใช้ เอาไปจอดตากแดดตากฝนรอการขายมาแล้ว 2 ปี ยังขายไม่ได้ บอกว่าจะขายให้สายการบินในประเทศอิหร่าน ปรากฏว่าเขาไปซื้อจากสายการบิน Virgin Atlantic แล้วจำนวน 8 ลำ ปัจจุบันทั่วโลกมีเครื่องบินรุ่นนี้ที่ยังใช้ทำการบินอยู่ 72 ลำ ในสภาพที่ดีกว่าและราคาในบัญชีถูกกว่าของการบินไทยประมาณ 30% กรณีนี้เสียหายไปอีก 22,500 ล้านบาท
ต่อมาคือการนำเครื่องบิน B747-400 ที่มีอายุงานกว่า 20 ปี ไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า หมดเงินค่าดัดแปลงไปเกือบ 2,000 ล้านบาท ในการทำ feasibility โดยบริษัทที่ปรึกษา ผลการศึกษาบอกว่า 4 ปีจะคุ้มทุน แต่บินได้ปีกว่าก็ต้องหยุดบินเพราะขาดทุนมหาศาล ปัจจุบันจอดตากแดดตากฝน 2 ปีแล้ว หมดไปอีกหลายพันล้านบาท
ความเสียหายประการต่อมาคือ การจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ ตามผลการศึกษาแจ้งว่า ปี 2557 จะมีกำไร 1,304 ล้านบาท ผลประกอบการจริงขาดทุน 557 ล้านบาท ปี 2558 จะมีกำไร 1,842 ล้านบาท ผลประกอบการจริงขาดทุน 1,843 ล้านบาท ผิดจากการศึกษาถึง 200% ปี 2559 ศึกษาว่าจะมีกำไร 1,910 ล้านบาท ผลประกอบการแค่ 9 เดือนปี 2559 ขาดทุนแล้ว 1,078 ล้านบาท
โดยในส่วนของไทยสมายล์ มูลค่าความเสียหายที่ประเมินไว้คือ 4,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย บวกเข้ากับกรณีเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในนกแอร์ ซึ่งมีภาระที่ต้องแบกรับและคาดว่าจะหมดไปอีก 25,000 ล้านบาท นี่คือปัญหาภูเขาน้ำแข็งที่กัปตันโยธินระบุไว้ ซึ่งบอกว่าแค่บางส่วน อันเป็นปัญหาที่ไม่เพียงจะทำลายชื่อเสียงของประเทศเท่านั้น แต่จะนำความเสียหายถึงขั้นล้มละลายมาสู่สายการบินแห่งชาติได้ด้วย
จากที่มองว่ากรณีปัญหาสินบนโรลส์-รอยซ์ เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและหาคนรับสินบนมาลงโทษแล้วก็จบกันไป หากคิดง่ายๆ แบบนั้นมันก็จบในส่วนของมิติทางการเมือง แต่ในแง่ของการบริหารงานและความฟอนเฟะภายในองค์กร หากเป็นไปอย่างที่กัปตันโยธินระบุ ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้มีอำนาจต้องเร่งสะสางอย่างเอาจริงเอาจังและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะไม่ได้ถูกกล่าวหาว่ากลัวลูบหน้าปะจมูก