รุกเพื่อถอยของทรัมป์พลวัต 2017
สัญญาณทางเทคนิคของดัชนีดาวโจนส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่แกว่งตัวเหนือ 20,000 จุดต่อไป ไม่มีความหมายใดๆ ให้ต้องคำนึงอีก หลังจากที่วันเดียวกัน นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งที่เข้าข่าย "ถอดรื้อกระบวนทัศน์" ในอดีตของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาลงอย่างถอนรากถอนโคน ด้วยการออกกฎหมายที่มีสาระ 3 ประการคือ
วิษณุ โชลิตกุล
สัญญาณทางเทคนิคของดัชนีดาวโจนส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่แกว่งตัวเหนือ 20,000 จุดต่อไป ไม่มีความหมายใดๆ ให้ต้องคำนึงอีก หลังจากที่วันเดียวกัน นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งที่เข้าข่าย “ถอดรื้อกระบวนทัศน์” ในอดีตของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาลงอย่างถอนรากถอนโคน ด้วยการออกกฎหมายที่มีสาระ 3 ประการคือ
– ยกเลิกโปรแกรมรับรองผู้ลี้ภัยของรัฐ 120 วัน
– ห้ามผู้ลี้ภัยจากซีเรียเข้าประเทศสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง
– ห้ามการเดินทางเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วันของคนที่เดินทางมาจาก 7 ชาติมุสลิมในตะวันออกกลางและแอฟริกา ได้แก่ อิรัก ซีเรีย อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน
คำสั่งดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้ประวัติของสหรัฐฯ มัวหมองอย่างยิ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริงประเทศนี้ถูกก่อตั้งบนรากฐานของผู้อพยพลี้ภัยที่หนีภัยคุกคามเสรีภาพและชีวิตจากทั่วโลกมายาวนาน นับแต่เรือเมย์ฟลาวเวอร์จากอังกฤษพาผู้อพยพมาตั้งรกรากในดินแดนนี้เมื่อคริสต์ศรรษที่ 17 เป็นต้นมา
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรพบุรุษของคนอเมริกันจำนวนมาก ล้วนเคยเป็น “ของขวัญจากยุโรปและเอเชีย” ในการสร้างรากฐานวัฒนธรรมและความมั่งคั่งให้กับ “ความฝันแบบอเมริกัน” มาจนถึงล่าสุด แต่จากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิม
ที่น่าสนใจคือ คำสั่งนี้ มีการเลือกปฏิบัติชัดเจน เพราะในบรรดาชาติมุสลิมที่ไม่เข้าข่าย 7 ประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือนั้น ล้วนเป็นชาติที่มีสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับองค์กรธุรกิจที่โยงเข้ากับทรัมป์ทั้งสิ้น
การตัดสินใจของทรัมป์ทำให้เรื่องการเดินทางพบปะครั้งแรกที่ทำเนียบขาว ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นางเทเรซา เมย์ กลายเป็นข่าวเล็กที่ไร้ความหมายไป ในฐานะงานพบปะพิธีการทูตธรรมดา ไม่มีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะเป็นเรื่องความั่นคงและความสัมธ์ระหว่างประเทศมากกว่า เช่น เรื่องความมั่นคงและความร่วมมือด้านข่าวกรอง ตลอดจนอนาคตขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)
การตัดสินใจห้ามคนจากชาติมุสลิม 7 ประเทศเข้าสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากเหตุผลที่อ้างว่าเพื่อขจัดภัยจากนักก่อการร้ายให้สิ้นซาก เกิดขึ้นในยามที่มีรายงายตัวเลขว่าไตรมาสที่สี่นั้น อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของสหรัฐฯ อยู่ที่แค่ 1.9% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.2% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออก และการใช้จ่ายของผู้บริโภค
ผลของการเติบโตที่ย่ำแย่ในไตรมาสสี่ ทำให้อัตราการเติบโตตลอดทั้งปี 2016 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการขยายตัวเพียง 1.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2011 และลดลงจากระดับ 2.6% ในปี 2015
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ร่วงลง 0.4% ในเดือน ธ.ค. โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ดิ่งลงสำหรับเครื่องบิน
ข้อมูลที่ตอกย้ำว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มฟื้นตัวยุคหลังวิกฤตซับไพรม์ แต่ยังมีความเปราะบางแฝงอยู่ไม่น้อย คำสั่งของทรัมป์ แม้จะได้เกิดขึ้นกับชาติมุสลิมทั้งหมด แต่ก็ส่งสัญญาณเตือนประเภท “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพราะส่งให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับชาติมุสลิมทั่วโลกเปลี่ยนไปรุนแรง และที่สำคัญ ถือเป็นการตอกลิ่มให้โลกมุสลิมแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้ง่ายมาก จากการเลือกปฏิบัติ
แม้จะเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าผลของนโยบายต่างประเทศที่ทรัมป์นำมาใช้จะส่งผลดีหรือเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือตลาดหุ้นอย่างไร เพราะชาติทั้ง 7 ที่ถูกคำสั่งดังกล่าว ล้วนเป็นชาติที่มีธุรกรรมกับชาวโลกในด้านอื่น (ยกเว้นน้ำมัน) น้อยมาก แต่ก็ไม่ควรประมาทว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย
อย่างน้อยที่สุด มีนักวิเคราะห์ในหลายสำนักทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ต่างระบุว่า นโยบายสร้างศัตรูมากกว่ามิตรของทรัมป์ที่นำมาใช้อย่างต่อเนื่อง (โดยเฉพาะต่อจีนและเม็กซิโก) ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะก้าวพ้นจากภาวะถดถอยเต็มรูปเข้าสู่ดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อ เลื่อนออกไปอีกมากกว่า 2 ปีข้างหน้า จากที่คาดว่าจะเป็นกลางปีนี้
อย่างน้อยที่สุด ความหวือหวาของทรัมป์ จะทำให้ผู้บริหารของเฟดฯเกิดความกังวลในการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม เพราะสงครามการค้าและความสัมพันธ์ที่แปรเปลี่ยนไปของโลกที่เคยมีสหรัฐฯ เป็นแกนในการขับเคลื่อนจะไม่เหมือนเดิม
นโยบายของทรัมป์ในเรื่องห้ามคนชาติมุสลิม 7 ประเทศอาจจะเป็นสัญญาณเล็กๆ ที่ไม่มีความหมายในระยะสั้น นอกจากสะใจนักต่อต้านก่อการร้ายและนักต่อต้านโลกมุสลิมในกลุ่มนีโอคอนส์ของอเมริกา แต่สำหรับนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ระดับโลกอย่าง อิมมานูเอล วอลเลอร์สไตน์ มองว่านี่คือการ “รุกเพื่อถอย” ตามปกติ ที่สะท้อนความเสื่อมถอยของจักรวรรดิอเมริกันที่ถูกสั่นคลอนอย่างหนักหลายปีมานี้
วอลเลอร์สไตน์ระบุว่า สิ่งที่ทรัมป์กำลังคิดและลงมือคือ พยายามสร้างกำแพงแห่งความยิ่งใหญ่แบบที่ประธานาธิบดีรูสเวลท์ทำหลังสงครามโลกครั้งที่สองคือ ข้อตกลงยัลต้า ที่เปิดทางให้สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกมาจนถึงทุกวันนี้ แต่โลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่จีนยังอ่อนแอ กับปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างมาก จนทำให้ความฝันของโดนัลด์ ทรัมป์ ยากจะเป็นจริงได้
การสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดนเม็กซิโก และการประกาศคุกคามจีนหลายด้าน (รวมทั้งนโยบายจีนเดียว) คือ การพยายามที่สายตาสั้นอย่างมาก เพราะความแข็งแกร่งกับความหลากหลายของจีนในปัจจุบันนั้น สามารถทำให้ข้อตกลงยัลต้าใหม่ สามารถทะยานจีนขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งได้ หากว่าจีนยังคงเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับปัจจุบันต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 5 ปี
วอลเลอร์สไตน์สรุปว่าความพยายามของฝ่ายขวาในสหรัฐฯที่จะ “เตะตัดขา” หรือ “เจาะยาง” เพื่อบอนไซความแข็งแกร่งของจีน ด้วยท่าทีสร้างศัตรูทั่วโลก อาจจะประสบความสำเร็จในขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่จีนยังคงไม่สามารถแหวกจารีตทางประวัติศาสตร์เหนือเอเชียและแปซิฟิกได้ จากความขัดแย้งล้ำลึกกับญี่ปุ่น หรือ อินเดีย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สหรัฐฯ จะยังคงรักษาความยิ่งใหญ่เอาไว้ได้แบบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้คือรัสเซีย ที่ปัจจุบัน รื้อฟื้นความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางทหาร หลังยุคสหภาพโซเวียตได้อีกครั้ง
ข้อสรุปดังกล่าว น่าคิดอย่างมากกว่า นโยบายที่หวือหวาเต็มไปด้วยสีสันขวาจัดของทรัมป์ที่เพิ่งจะเริ่มต้นยามนี้ น่าจะมีผลต่อบรรยากาศการเคลื่อนย้ายทุนของโลกที่แปรผันยากต่อการคาดเดาไม่น้อย เพราะมันบ่งบอกถึงการปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งใหม่ของโลกที่ยังไม่ลงตัว และไม่รู้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน
สถานการณ์ของโลกเช่นนี้ ทำให้ใครที่คาดว่าเมื่อดาวโจนส์สามารถยืนเหนือ 20,000 จุดได้ เป้าหมายต่อไปคือแนวต้าน 25,000 จุด หรือเมื่อดัชนี SET ทะลุ 1,600 จุดได้ เป้าหมายต่อไปคือแนวต้าน 1,700 จุด ย่อมถือเป็นนักลงทุนที่ไร้เดียงสากับสถานการณ์ภายในและนอกตลาดหุ้นอย่างยิ่ง