พาราสาวะถีอรชุน

หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์นักข่าว เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนกฎอัยการศึก เนื่องจากอำนาจดังกล่าวนั้นถือว่ากว้างขวางไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญคือ ยิ่งใหญ่เหนือกว่าอำนาจ 3 ฝ่าย ทั้ง นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จึงมีทั้งคนเห็นดีเห็นงามและไม่เห็นด้วย


หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์อยู่แล้ว หลังจากที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์นักข่าว เตรียมใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนกฎอัยการศึก เนื่องจากอำนาจดังกล่าวนั้นถือว่ากว้างขวางไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญคือ ยิ่งใหญ่เหนือกว่าอำนาจ 3 ฝ่าย ทั้ง นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จึงมีทั้งคนเห็นดีเห็นงามและไม่เห็นด้วย

ฝ่ายที่ยกมือหนุนนั้นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายไม่ว่าจะเป็นสนช.หรือสปช. โดยทั้ง พีระศักดิ์ พอจิตต์ รองประธานสนช.และ วันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. ต่างเห็นว่าการใช้มาตรา 44 จะช่วยลดแรงกดดันจากต่างประเทศ สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติในแง่ของการท่องเที่ยวได้แน่นอน เพราะเชื่อว่าฝรั่งนั้นตกใจที่เห็นกฎอัยการศึก

ขณะที่ สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาลรีบออกมายืนยันทันที รัฐบาลไม่สนเสียงวิจารณ์ เพราะการใช้อำนาจดังกล่าวนั้นอยู่ที่ตัวหัวหน้าคสช.ใครก็ก้าวล่วงไม่ได้ แต่เชื่อว่าจะใช้ด้วยความระมัดระวัง ขณะที่กลุ่มซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเพียงแค่คนบางกลุ่มเท่านั้น คงไม่ต้องบอกว่าในความหมายของไก่อูนั้นสื่อถึงใคร

แต่กลายเป็นว่าแทนที่จะมีแต่สุ้มเสียงของแกนนำนปช.และคนพรรคเพื่อไทย ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านมาจากพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหมือนกันและดูเหมือนว่าจะหนักหน่วงยิ่งกว่าฝ่ายที่คนในคสช.และรัฐบาลตั้งขอกังขาเสียด้วยซ้ำ โดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคเก่าแก่มองว่า การใช้มาตราดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการใช้อำนาจในมาตรา 17 ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตผู้นำเผด็จการ

สิ่งที่นิพิฏฐ์ชี้ให้เห็นก็คือ อำนาจตามมาตรา 44 นั้น สามารถตัดสินจำคุก สั่งประหารชีวิตได้ มีผลเหมือนคำพิพากษาของศาล โดยไม่ต้องขึ้นศาล แตกต่างจากกฎอัยการศึกที่ผู้มีอำนาจตัดสินจำคุกใครไม่ได้ เพียงแต่ควบคุมตัวไว้ชั่วคราว โดยไม่ต้องมีหมายศาล เพียงแต่ว่ากฎอัยการศึกต่างชาติไม่เข้าใจและรังเกียจเท่านั้น บวกเข้ากับคนไทยผสมโรงเข้าไปด้วยเลยทำให้เกิดปัญหา

ด้วยเหตุนี้รองหัวหน้าพรรคเก่าแก่จึงยินดีที่จะขออยู่ภายใต้กฎอัยการศึกต่อไป ขณะที่อีกด้านนักวิชาการผู้ยืนบนหลักการและในฐานะอดีตกลุ่มเคลื่อนไหวในช่วงพฤษภาทมิฬ ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ยกมือค้านในมุมที่เห็นว่า การใช้มาตรา 44 เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่าให้กับผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการปกครองด้วยกฎหมายหรือหลักนิติรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งมวลคงจะวิพากษ์วิจารณ์ล่วงหน้าไม่ได้ คงต้องรอดูว่า การใช้อำนาจตามมาตรานี้ของหัวหน้าคสช.จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งบรรดาเนติบริกรทั้งหลายคงช่วยกันร่างวางแนวทางไว้เรียบร้อยแล้ว หากหวังว่าจะให้ต่างชาติยอมรับก็คงต้องทำให้ทุกอย่างกระจ่างชัด ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่จะไปกระทบกับสิทธิ เสรีภาพ ที่สำคัญคือไม่ทำให้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเสียหาย

สรุปกันไปเรียบร้อยสำหรับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. ซึ่งยกคณะไปประชุมกันที่เมืองพัทยา ผลที่ออกมาตรงกันเป๊ะกับช่วงจังหวะเวลาที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พูดในงานเสวนาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปมว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรี ในส่วนของคนนอก โดยตั้งต้นดอกเตอร์ปื๊ดยืนยันร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้เช่นนั้น

ไม่มีคำว่า นายกฯคนนอก ซึ่งก็เป็นเพียงแค่วาทกรรมสับขาหลอกประสานักกฎหมายใหญ่ เพราะท้ายที่สุด ก็ออกตัวว่า พร้อมที่จะเปิดทางให้แก้ไขปมเรื่องนี้จนถึงวินาทีสุดท้าย โดยถึงขั้นบอกว่า คนนอกจะมาได้ต่อเมื่อเกิดภาวะวิกฤติเท่านั้น โดยต้องใช้เสียงมากกว่าการเลือกนายกฯที่มาจากส.ส.คือ 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สอดคล้องกับบทสรุปของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ที่บอกว่าคนนอกจะต้องมาเฉพาะภาวะวิกฤติเท่านั้น รวมทั้งต้องวางเงื่อนไขว่าอยู่ในตำแหน่งแค่ช่วงสั้นๆ อาจจะ 1 ปีหรือตามที่สมาชิกสภาเห็นสมควร ทว่า สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯออกมาดักคอว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องระบุให้ชัดว่า ภาวะวิกฤติที่ว่านั้นเป็นวิกฤติแบบไหน

นอกจากนั้น ยังมีความเห็นเรื่องที่มาส.ว. ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองสรุปว่า จากจำนวนไม่เกิน 200 คนอยากให้มีการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนรวมเป็น 77 คนเพื่อให้เกิดภาพยึดโยงกับประชาชน ส่วนที่เหลือก็ให้ใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อมตามคำของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่ในสัดส่วนที่มาจากอดีตนายกฯ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรและอดีตประธานวุฒิสภา ยังขอแขวนไว้ก่อน

เรียกว่ายังไม่ตกผลึกเสียทีเดียวสำหรับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เหลืออีกบางประเด็นที่จะต้องเคาะกันอีกรอบ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะรอต่อสายคุยหรือนัดหารือกับฝ่ายยกร่างหรือเปล่า เนื่องจากหากไม่พบกันครึ่งทาง มีหวังระหว่างการอภิปรายในวันที่ 20-26 เมษายนนั้น ดอกเตอร์ปื๊ดและชาวคณะจะกลายเป็นตำบลกระสุนตกอย่างช่วยไม่ได้

ปัญหาค้ามนุษย์เป็นอีกปมที่รัฐบาลคสช.ต้องกุมขมับหลังจากที่ถูกสหรัฐฯลดระดับไปอยู่ในระดับเทียร์ 3 หลังการประชุมที่หัวหิน บี๊กตู่โยนเผือกร้อนว่าเป็นเพราะรัฐบาลก่อนหน้าไม่ได้ดำเนินการแก้ไข จน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดรนทนไม่ได้ต้องตอบโต้ผ่านเฟซบุ๊กแบบนิ่มๆ สงสัยท่านผู้นำจะมีภารกิจมากหรือเจ้าหน้าที่ไม่ได้รายงานให้รู้ข้อเท็จจริง

รัฐบาลที่ผ่านมามีการประสานความร่วมมือและส่งรายงานจนประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับไปอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ตรงนี้น่าจะสะท้อนนัยที่อดีตนายกฯหญิงต้องการสื่อบางประการว่า หลังรัฐบาลคสช.เข้ามาแล้วเหตุใดสหรัฐฯถึงลดระดับไทยทันที นี่ต่างหากคือสิ่งที่ทีมกุนซือของบิ๊กตู่จะต้องไปขบคิด

ไม่เพียงเฉพาะเรื่องของปัญหาการค้ามนุษย์เท่านั้น หลายเรื่องก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าท่านผู้มีอำนาจเริ่มที่จะใช้นิสัยนักการเมืองโยนให้เป็นความผิดของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าไม่ใช่วิสัยของคนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา เหมือนดังที่ยิ่งลักษณ์ทิ้งทวนว่า จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือ การยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยตอบหน่อยว่าองคาพยพแม่น้ำ 5 สายยึดหลักการนี้หรือเปล่า

 

Back to top button