พาราสาวะถี อรชุน

วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งหัวโต๊ะประชุมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์กช็อปเตรียมการปฏิรูปของ ป.ย.ป. โดยจะมีตัวแทนของแม่น้ำ 5 สายเข้าร่วมหารือ โดยคาดหมายว่าน่าจะเป็นพูดคุยถึงแผนการปฏิรูปของแต่ละฝ่ายที่อาจซ้ำซ้อนกัน เพื่อกลั่นกรองและนำไปสู่การดำเนินการในคราวเดียวผ่านโครงสร้างป.ย.ป. เพื่อให้ได้แผนการปฏิรูปชัดเจน ก่อนจะส่งไม้ต่อให้สนช.ดำเนินการออกเป็นกฎหมาย


วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งหัวโต๊ะประชุมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์กช็อปเตรียมการปฏิรูปของ ป.ย.ป. โดยจะมีตัวแทนของแม่น้ำ 5 สายเข้าร่วมหารือ โดยคาดหมายว่าน่าจะเป็นพูดคุยถึงแผนการปฏิรูปของแต่ละฝ่ายที่อาจซ้ำซ้อนกัน เพื่อกลั่นกรองและนำไปสู่การดำเนินการในคราวเดียวผ่านโครงสร้างป.ย.ป. เพื่อให้ได้แผนการปฏิรูปชัดเจน ก่อนจะส่งไม้ต่อให้สนช.ดำเนินการออกเป็นกฎหมาย

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันจันทร์บิ๊กตู่เป็นประธานการประชุมป.ย.ป.วงในหรือมินิคาบิเนต ครั้งที่ 2 ว่าด้วยคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งก็เป็นแอ็กชั่นของท่านผู้นำและชาวคณะในเวลานี้ จนถูกมองว่าทุกย่างก้าวที่เกี่ยวข้องกับป.ย.ป.ในช่วงนี้ เพื่อให้เกิดภาพของการขยับขับเคลื่อนงานปฏิรูปและปรองดองของรัฐบาลให้สังคมได้รับรู้ หลังจากที่ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรให้สัมผัสจับต้องได้

อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความปรองดอง ทำให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นอันต้องฟิวส์ขาด เพราะถูกวิจารณ์ว่าอีกด้านมีการหารือกับพรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งเจ้าตัวหงุดหงิด โมโหพร้อมกับท้าว่าใครมีหลักฐานให้นำมาแสดง ไม่ใช่มโน กล่าวหากันลอยๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพานจะไปถึงเรื่องการนำเสนอของสื่อ โดยกล่าวหาว่าไร้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ท่าทีที่ปรากฏคงไม่ต้องพูดถึงร่างกฎหมายควบคุมสื่อของสปท. ที่ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อยืนกระต่ายขาเดียวไม่แก้ไข ไม่ชะลอกระบวนการพิจารณาตามข้อเรียกร้องของ 30 องค์กรวิชาชีพสื่อ ก็อย่างที่บอกไปแล้ว ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับแป๊ะว่าเขาอยากได้แบบไหน อย่างไร

กล่าวสำหรับข้อวิจารณ์เรื่องรัฐบาลแห่งชาติที่มีบิ๊กป้อมเป็นตัวละครสำคัญในการเดินเกม แน่นอนว่า เมื่อเจ้าตัวปฏิเสธ ก็ย่อมมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ จะยืนยันไปทางหนึ่งทางใดคงไม่ได้ แต่หากพิจารณาจากบริบทของข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นทุกครั้งในห้วงของรัฐบาลคณะรัฐประหาร ข่าวคราวเรื่องรัฐบาลในลักษณะเช่นนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา

นั่นคงเป็นเพราะกระแสสังคมที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องการความขัดแย้งแตกแยก จะให้ไว้วางใจรัฐบาลรัฐประหารเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เนื่องจากภาพใหญ่คือการยอมรับของต่างประเทศที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น ภาพลักษณ์และการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ครั้นจะปล่อยให้รัฐบาลของนักการเมืองเหมือนที่ผ่านมา ก็กลัวว่าจะเข้าอีหรอบเดิม มีปัญหาขัดแย้งแตกแยกกันไม่รู้จบ

ดังนั้น การพบกันครึ่งทางด้วยรัฐบาลแห่งชาติจึงน่าจะเป็นคำตอบที่ตรงใจกับกลุ่มคนที่ไม่เลือกพวกแบ่งฝ่ายเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้เมื่อมีข่าวในลักษณะเช่นนี้ออกมา จึงมีความโน้มเอียงไปในทิศทางที่ค่อนข้างจะเชื่อว่ามันเป็นความจริง เพียงแต่ว่า หากมองจากสิ่งที่คณะรัฐประหารคสช.ได้ดำเนินการมาโดยตลอด จะเห็นว่ารัฐบาลประเภทนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น

มีเพียงแค่ 2 ทางคือ ปล่อยให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งไปจัดตั้งรัฐบาลกันเอง หรือให้พรรคเล็กพรรคน้อยรวมกับพรรคขนาดกลางและใหญ่ที่มีใจให้กับผู้มีอำนาจปัจจุบัน ไปเชิญคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นพี่ใหญ่หรือท่านผู้นำคนเดิม อันนี้ก็สุดแท้แต่ สุดท้ายเมื่อกลับเข้าสู่อำนาจก็จะได้ยินประโยคที่ว่า เพื่อสานต่องานสร้างความปรองดองให้สำเร็จ

ส่วนที่เกรงกันว่ามันจะย้อนรอยเหมือนกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬหรือไม่ คงไม่เลวร้ายถึงขนาดนั้น ประการหนึ่งเป็นผลมาจากการวางหมากกลที่แยบยลผ่านกระบวนการกฎหมายต่างๆ อีกประการที่สำคัญคือ วันนี้สังคมไม่ได้เป็นเอกภาพ ผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงหาได้ยาก ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่พวกปากอ้างสิทธิ เสรีภาพ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเบื้องหลังทั้งสิ้น

เมื่อไม่มีฝ่ายที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ลำพังเพียงเสียงของนักศึกษาจำนวนน้อย คงไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเฉื่อยชากับความสำคัญเรื่องประชาธิปไตยไปเสียฉิบ ด้วยเหตุนี้โอกาสที่จะเกิดการลุกฮือต้านการสืบทอดอำนาจจึงยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้

ขณะเดียวกันเมื่อเอ่ยถึงกระบวนการปรองดองผ่านการพูดคุย ถามว่ามีแค่ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย เสื้อแดงนปช.-กปปส.-เสื้อเหลือง เท่านั้นหรือ ถ้าคำตอบของผู้มีอำนาจบอกว่าใช่ ก็อย่าหวังว่านี่คือการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นก็ถือเป็นตัวสร้างปัญหาเหมือนกัน

กองทัพนับตั้งแต่ที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เรียกร้องให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯลาออกจากตำแหน่งเวลานั้น ก็ได้แสดงจุดยืนให้เห็นแล้วว่ากองทัพเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งหรือไม่ ส่วนองค์กรอิสระแทบจะต้องไม่เอ่ยชื่อว่ามีองค์กรใดบ้างที่เป็นตัวสร้างปัญหาและถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวการสร้างความขัดแย้ง

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น จุดนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะมีการเลือกปฏิบัติกันอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นน้ำจิ้ม กรณีคดีของแกนนำนปช.ที่แทบจะทุกคนถูกจับกุมคุมขังและเวลานี้อยู่ระหว่างการประกันตัวสู้คดีก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการสั่งคดีอันรวดเร็ว ส่วนม็อบนกหวีดมาจนถึงเวลานี้ทั้งๆที่คดีมีโทษรุนแรงกว่าฝั่งแกนนำเสื้อแดง แต่กลับพบว่าคดีอืดอาดผิดปกติ

นี่คือภาพที่ถูกฉายออกมาเป็นหนังตัวอย่าง ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนอย่างที่บอกไปแล้ว เวทีของการพูดคุยยังไม่เกิดขึ้น จึงยังคงสามารถมองภาพแห่งความหวังอันเรืองรองได้อยู่ แต่เมื่อเริ่มกระบวนการหารือแล้ว ตรงนั้นแหละที่จะเป็นจุดแตกหัก ยิ่งฝ่ายที่คุมเกม รักษากติกาหากไม่ใจกว้างมากพอแล้ว จะยอมรับความจริงที่สะท้อนผ่านกระบวนการพูดคุยไม่ได้ แค่เท่านี้ก็พอจะมองออกแล้วว่า มันจะเดินหน้ากันไปได้หรือวงแตกกันแน่

Back to top button