พาราสาวะถี อรชุน
ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกับเด็กนักเรียนก่อนเข้าประชุมครม.เมื่อวันอังคารว่า “ส่วนคนไม่ดีก็คือไม่ดีก็ต้องแยกออกจากกัน อย่าไปว่าเหมารวมองค์กร เพราะเดี๋ยวองค์กรเขาเสียหาย ข้าราชการทำผิด ทุจริตก็ต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัย ส่วนคนดีเขาก็ทำงานกันเยอะแยะ ที่ชอบพูดว่าตำรวจมีไว้โกงแล้วทำไมไม่คิดถึงคนที่เขาจับคดีมามากมาย บ้านเมืองสงบสุขทำไมไม่มองตรงนั้นด้วย จะต้องมองทั้ง 2 อย่างแล้วชั่งน้ำหนัก”
ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกับเด็กนักเรียนก่อนเข้าประชุมครม.เมื่อวันอังคารว่า “ส่วนคนไม่ดีก็คือไม่ดีก็ต้องแยกออกจากกัน อย่าไปว่าเหมารวมองค์กร เพราะเดี๋ยวองค์กรเขาเสียหาย ข้าราชการทำผิด ทุจริตก็ต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัย ส่วนคนดีเขาก็ทำงานกันเยอะแยะ ที่ชอบพูดว่าตำรวจมีไว้โกงแล้วทำไมไม่คิดถึงคนที่เขาจับคดีมามากมาย บ้านเมืองสงบสุขทำไมไม่มองตรงนั้นด้วย จะต้องมองทั้ง 2 อย่างแล้วชั่งน้ำหนัก”
หากท่านปฏิบัติได้ตามอย่างที่พูด วันนี้คงไม่มีพวกเขาพวกเรา ฝ่ายเห็นต่างและกฎหมายพิเศษคงไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะทุกคนทุกฝ่ายต่างมองกันด้วยความเข้าใจ แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ภาพที่ปรากฏเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ดีอย่างเดียวคือความสงบเรียบร้อยภายใต้กฎหมายอันเด็ดขาด แต่ถามว่าคนไทยรักกันเหมือนในอดีตแล้วหรือยัง
คำตอบมันชัดเจนอยู่ในตัว ไม่ใช่เพราะขั้วความขัดแย้งไม่ยอมหันหน้ามาคุยกัน หากแต่ท่าทีของผู้มีอำนาจต่างหาก ที่เดิมทีประกาศชัดว่าจะเป็นกรรมการเข้ามาห้ามทัพแล้วชวนคนเห็นต่างมาจับมือกันสร้างบ้านเมืองให้เป็นปกติสุข แต่นานวันกลับมองเห็นว่ากรรมการทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ไม่ใช่เพราะกลุ่มต้านรัฐประหารท้าทายอำนาจเผด็จการ
ทว่าเป็นเรื่องของการเปิดใจกว้างต่างหาก หากปล่อยให้ทุกคนทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ มันไม่ใช่เรื่องสิทธิ เสรีภาพ เหมือนอย่างที่ท่านผู้นำว่า ถ้าบ้านเมืองท่องแต่ปรองดอง เลือกตั้งประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ มันเดินต่อไม่ได้ แต่ถามว่าแล้วสิ่งที่ท่านพร้อมชาวคณะกำลังทำอยู่ ที่นำไปอ้างกับนานาอารยประเทศ ไม่ใช่เพื่อก้าวไปสู่ทั้ง 3 สิ่งดังว่านี่หรือ
นี่คือความย้อนแย้งของคณะผู้มีอำนาจที่มีวาระชัดเจน ดังนั้น เมื่อมีใครที่เห็นต่างหรือเสนอหน้ามาวิพากษ์วิจารณ์ จึงต้องเป็นเดือดเป็นแค้น ใช้กฎหมายอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจัดการทันที ซึ่งหากท่านผู้นำยึดตามคำที่เฝ้าพร่ำบ่นอยู่ตลอดเวลา มองทุกคนทุกฝ่ายอย่างเข้าใจ รู้จักให้อภัย ปัญหาของการต่อต้านหรือจับกุมคุมขังด้วยกฎหมายพิเศษคงไม่เกิดขึ้นและถูกวิจารณ์จากองค์กรต่างประเทศเหมือนที่เป็นอยู่
ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่รักบ้านเมือง เพราะคงไม่มีคนในประเทศใดที่จะมองไม่เห็นชาติของตัวเองสำคัญ เพียงแต่ว่าบางเรื่องเมื่อคนหรือกลุ่มคนที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบขี้หน้า ออกมาแสดงความเห็นหรือเสนอแนะอะไรแล้ว หากใช้ใจฟังมันก็จะนำไปสู่การแก้ไขหรือชี้แจงอย่างมีเหตุผล แต่หากมีอคติเป็นกำแพงกั้น มันก็จะเห็นความหวังดีเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ขวางหูขวางตาไปเสียหมด
ปฐมบทว่าด้วยความปรองดอง สิ่งสำคัญที่ย้ำมาโดยตลอดคือท่าทีของผู้นำและคณะที่จะเข้ามาเป็นกรรมการเพื่อแสวงหาความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ตามที่เบื้องต้นระบุไว้ว่าเป็นพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอันเป็นขั้วความขัดแย้ง แต่เท่าที่ดูข้อเสนอของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ไม่รู้ว่านอกจากแยกเวทีกันคุยเพื่อให้เกิดการกระทบกระทั่งแล้ว ปลายทางจะสามารถแสวงหาจุดร่วมกันเจอหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นมันมีแต่ความแตกต่าง
พรรคประชาธิปัตย์ส่งข้อเสนอเบื้องต้นไปให้คณะอนุกรรมาธิการฯวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อสร้างความปรองดองของสปท. ที่มี สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน เรื่องให้ป.ย.ป.เป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียวตรงนี้ถือเป็นสูตรสำเร็จ แต่อีก 2 ประการที่ ราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคเก่าแก่แถลงหลังยื่นหนังสือ มันน่าจะเป็นข้อเรียกร้องที่นำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่าปรองดอง
การเรียกร้องให้คสช.อธิบายความจริงให้ประชาชนได้เข้าใจว่าก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดอะไรขึ้น โดยรัฐบาลชุดก่อนมีพฤติกรรมแบบไหน ถามว่าตรงนี้เพื่ออะไร เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับความจริงร่วมกันอย่างนั้นใช่หรือไม่ แล้วให้คสช.ในฐานะผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นผู้อธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลชุดนั้น ถามว่ามันจะเป็นธรรมและถูกต้องอย่างนั้นหรือ
ในขณะที่ประชาธิปัตย์มีทัศนคติเช่นนี้ ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่มีไปยังคณะอนุกรรมาธิการชุดเดียวกันก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักเริ่มต้นเมื่อมีพรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไม่สามารถต่อสู้ผ่านระบบรัฐสภาได้ จึงนำไปสู่การหาทางต่อสู้ทางการเมืองนอกระบบรัฐสภา จนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร
ส่งผลให้ขยายความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน มีการใช้กระบวนการทางกฎหมายที่เป็น 2 มาตรฐาน ขัดขวางการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับในหลักการประชาธิปไตย สร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชัง เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ส่งผลให้สังคมเกิดความเกลียดชัง เคียดแค้น ข้อเสนอที่ตรงข้ามกันเช่นนี้ ถามว่านี่คือจะเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสามัคคีเช่นนั้นหรือ
ทัศนะของ อลงกรณ์ พลบุตร ถือว่าตรงประเด็นมากที่สุด โดยอดีตสมาชิกพรรคเก่าแก่เห็นว่า ความปรองดองไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากทุกฝ่ายยังคงให้ความเห็นและจุดยืนผ่านสื่อและหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะแต่ละฝ่ายก็จะยืนยันท่าทีของตนเอง จนอาจเกิดประเด็นหรือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการหาทางออกร่วมกัน นี่แหละโจทย์ใหญ่สำหรับผู้มีอำนาจ
ข้อเสนอจากภาคส่วนของผู้แสดงตัวว่าเป็นกลาง มีคำถามหลายประการตามมาคือ เทคนิคการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งที่ใช้กันหลายประเทศจะสามารถนำมาใช้กับเวทีปรองดองในประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะแต่ละฝ่ายต่างก็ยืนกระต่ายขาเดียวบนความเชื่อและทัศนคติที่คิดว่าตัวเองถูกต้อง แม้กระทั่งบางฝ่ายที่ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองคือคู่ขัดแย้ง
เอาแค่ว่าคณะกรรมการที่จะเข้ามาดำเนินการซึ่งบิ๊กตู่ยังไม่ได้จรดปากกาเซ็นแต่งตั้ง กับข้อเรียกร้องควรมีความจริงใจและตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปรองดอง ควรมีองค์ประกอบจากผู้ที่มีความเป็นกลาง มีความเป็นอิสระ มีคุณธรรมและสังคมให้การยอมรับ จะทำได้ตามนี้หรือไม่ เพราะสังคมเวลานี้ก็อาจจะมีคำถามตามมาว่าเป็นสังคมของใคร