เศรษฐกิจชะงักงันอย่างยั่งยืนพลวัต 2017
คำปราศรัยของนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสมัยบิล คลินตัน เมื่อปี ค.ศ.2013 หรือ 4 ปีก่อน ได้ถูกนำมาถกเถียงบนโต๊ะของบรรดานักคิดทางด้านเศรษฐกิจของโลกทุนนิยมกันอย่างแพร่หลายในระยะ 2 เดือนมานี้ ถึงขั้นมีการเริ่มเอาจริงเอาจัง เพื่อตั้งประเด็นกันใหม่ว่า โอกาสที่โลกจะเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันอย่างยั่งยืน หรือ secular stagflationทำนองเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าอยู่มาเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว และยังแก้ไม่ตกจนถึงปัจจุบัน มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก
วิษณุ โชลิตกุล
คำปราศรัยของนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสมัยบิล คลินตัน เมื่อปี ค.ศ.2013 หรือ 4 ปีก่อน ได้ถูกนำมาถกเถียงบนโต๊ะของบรรดานักคิดทางด้านเศรษฐกิจของโลกทุนนิยมกันอย่างแพร่หลายในระยะ 2 เดือนมานี้ ถึงขั้นมีการเริ่มเอาจริงเอาจัง เพื่อตั้งประเด็นกันใหม่ว่า โอกาสที่โลกจะเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันอย่างยั่งยืน หรือ secular stagflationทำนองเดียวกับที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้าอยู่มาเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว และยังแก้ไม่ตกจนถึงปัจจุบัน มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก
โจทย์ใหญ่มากในการถกหรือสร้างวาทกรรมในเรื่องนี้คือ ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจยั่งยืนดังกล่าว จะมีทางออกที่เป็นสูตรสำเร็จ หรือแบบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ
นักคิดในโลกตะวันตกที่มองโลกในแง่ร้ายหลายคนถึงกับตั้งคำถามว่า หากยังไม่สามารถหาคำตอบที่เป็นทางออกได้อย่างมีพลังเพียงพอ อาจจะทำให้พลังของข้อเสนอของคาร์ล มาร์กซ์ในอดีตที่โลกทุนนิยมรู้สึกรังเกียจ และไม่อยากพูดถึง กลับมามีอิทธิพลเหนือโลกครั้งใหม่ได้
ในอดีต นักคิดทางเศรษฐศาสตร์ มักจะมีมุมมองว่า ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เป็นช่วงเวลาส่วนหนึ่งของวงจรสั้นๆ ในระยะเปลี่ยนผ่านของวงจรใหญ่ทางเศรษฐกิจ ที่ประกอบด้วย 1) ภาวะเงินเฟ้อในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น 2) ช่วงภาวะพังทลายทางเศรษฐกิจเพราะฟองสบู่แตก จนโครงสร้างเก่าล่มสลาย 3) ภาวะเงินฝืดที่รัฐต้องทุ่มทรัพยากรเข้ามากระตุ้นทุกวิถีทาง เพราะภาคเอกชนลดการลงทุนและการจ้างงาน 4) ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเพราะเงินเฟ้อ และการลงทุนหดหายเนื่องจากการบริหารผิดพลาด เต็มไปด้วยความโกลาหล
ภาวะเงินฝืดเรื้อรังผสมหรือสลับกับภาวะชะงักงันในญี่ปุ่นที่ยาวนาน ตามมาด้วยวิกฤตต้มยำกุ้งในเอเชีย และระบาดไปยังรัสเซียและอาร์เจนตินา ก่อนจะมาถึงวิกฤตซับไพรม์ และเงินฝืดในยูโรโซน จนเป็นที่มาของการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรปจนมาถึงการเถลิงอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ และพวกที่กำลังเริ่มต้นปฏิบัติการ “เดินหน้าขวาจัด” อย่างเอาเป็นเอาตายตามที่ประกาศหาเสียงเอาไว้
ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ (เงินเฟ้อสูง แต่เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานมหาศาล) เป็นนิยามที่น่าสะพรึงกลัวโดยตัวของมันเอง เพราะเมื่อเกิดขึ้นครั้งใด จะแก้ไขยากที่สุด เนื่องจากแก้อย่างหนึ่งก็เสียอย่างหนึ่งเสมือน “ลิงแก้แห”
คำว่า เศรษฐกิจชะงักงัน ได้รับการค้นพบครั้งแรกใน สหรัฐอเมริกายุคทศวรรษ 1970อัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 12 อัตราว่างงานสูงเกือบร้อยละ 9ซึ่งสาเหตุของปัญหาดังกล่าวมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นไปกว่าร้อยละ 400 จากราคาเดิม (ประเทศไทยก็เผชิญกับภาวะเช่นเดียวกันในช่วงนั้น)
เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ทางเลือกในการแก้ปัญหาก็จะยุ่งยาก เพราะหากใช้นโยบายบริหารด้านอุปสงค์ซึ่งสามารถจัดการได้ผลรวดเร็วในระยะเฉพาะหน้าได้แต่มักมีข้อเสียเรื้อรังคือภาวะได้อย่างเสียอย่างระหว่างเป้าหมายด้านการเติบโตและเสถียรภาพ
ในทางตรงกันข้าม หากมุ่งแก้ปัญหาด้วยแนวนโยบายด้านอุปทานประกอบด้วยนโยบายการคลังเฉพาะที่เกี่ยวกับภาษีและกฎระเบียบต่างๆและการเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตทั้งแรงงานและทุน จะเห็นผลช้ามาก และอาจจะไม่สามารถจัดการปัญหาเร่งด่วนได้
เศรษฐกิจชะงักงัน เป็นภาวะที่ผิดปกติและไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ เพราะเป้าหมายการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ จึงมีความขัดแย้งกันเสมอผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวมักจะสูญเสียทั้งสองเป้าหมายไปพร้อมๆ กัน บางครั้งสูญเสียอำนาจในการจัดการไปด้วย
นับแต่วิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐเมื่อ 9 ปีก่อนเกิดขึ้น เวลาที่ผ่านไปเกือบ 1 ทศวรรษ ไม่ได้ทำให้ทางออกในการแก้ไขปัญหาภาวะเงินฝืดเรื้อรังดีขึ้นกี่มากน้อย และล่าสุดเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของดอกเบี้ยขาขึ้นระลอกใหม่ที่เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ คำถามว่า เศรษฐกิจที่มีการจ้างงานเปราะบาง จะสามารถกำกับภาวะเงินเฟ้อที่จะมาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกได้ดีเพียงใด
หากไม่สามารถแก้ไขได้ดีเพียงพอ จะเพราะ “เกาไม่ถูกที่คัน” หรือ “กินยาผิดซอง” โอกาสที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับภาวะที่ไม่มีใครอยากเผชิญ ย่อมเป็นไปได้
คำอธิบายที่ยากยิ่งคือ เหตุใด ดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์กจึงได้ทำนิวไฮครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐยังเต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะกำลังการผลิตต่ำกว่ามาตรฐานแท้จริงอย่างมากชนิดเรื้อรัง เป็นกระบวนทัศน์ที่ยากจะหาคำตอบจากทฤษฎีแบบเดิมๆ ที่เคยศึกษาค้นคว้ากันมา
ที่สำคัญ โจทย์ของการฟื้นตัวของโลกยามนี้ กลับยากกว่าเดิมในอดีตหลายเท่า หรือเทคโนโลยี 4.0 ของโลกปัจจุบันที่กำลังมุ่งไป จะยิ่งสร้างปัญหาการว่างงาน และความเหลื่อมล้ำให้กับผู้คนหลากหลายอาชีพและรายได้มหาศาล
ปรากฏการณ์หลากหลายที่กำลังมุ่งไปเช่นนี้ ทำให้ข้อถกเถียงเรื่องความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจชะงักงันอย่างยั่งยืน ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น อีกในอนาคต