ดอลลาร์อ่อน เยนแข็งพลวัต 2016
การไม่ขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบล่าสุดสัปดาห์นี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต มีผลให้ค่าดอลลาร์ร่วงผล็อยลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน สมเจตนาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงานที่ต้องการให้ดอลลาร์อ่อนลงเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้าของสหรัฐที่กองสะสมท่วมมาเรื้อรังลงไป
วิษณุ โชลิตกุล
การไม่ขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบล่าสุดสัปดาห์นี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต มีผลให้ค่าดอลลาร์ร่วงผล็อยลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองเดือน สมเจตนาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงานที่ต้องการให้ดอลลาร์อ่อนลงเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้าของสหรัฐที่กองสะสมท่วมมาเรื้อรังลงไป
ผลข้างเคียงของดอลลาร์อ่อนคือ ดัชนีดาวโจนส์มีทิศทางเริ่มเข้าสู่ช่วงของการปรับฐานระลอกใหม่อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะมีนักลงทุนเกิดอาการลังเลและมองหาโอกาสในการลงทุนจากตลาดเก็งกำไรที่อื่นๆ นอกสหรัฐแทน
เมื่อวานนี้ หนึ่งในอดีตเจ้าของฉายา “มิสเตอร์เยน” นายฮิโรชิ วาตานาเบะ ที่เคยเป็นหัวหน้าทีมดูแลค่าเงินของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นยาวนาน ออกมาระบุว่า นโยบายดอลลาร์อ่อนเพื่อแก้ดุลการค้าของทรัมป์จะทำให้ยุทธสาสตร์บริหารค่าเงินของอเมริกาและของชาติอื่นทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการกลับขั้วจากนโยบายดอลลาร์แข็งที่เคยใช้มายาวนานหลายทศวรรษลงไป
ในอดีต สหรัฐยินยอมขาดดุลการค้าเรื้อรังด้วยเหตุผลหลักคือต้องการให้ทุนจากทั่วโลกไหลเข้ามาในสหรัฐ เพื่อลงทุนซ้ำหรือวนเวียนในตลาดสหรัฐฯให้ผลตอบแทนสูงกว่าในตลาดอื่นๆ การหลบเลี่ยงทำให้ดอลลาร์อ่อนอย่างที่เคยกระทำมา จะถูกยกเลิกอย่างเบ็ดเสร็จ
นายวาตานาเบะ วิเคราะห์น่าสนใจมากว่า ดอลลาร์ที่แข็งค่า แม้ทำให้เศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐแข็งแกร่ง เพราะดุลชำระเงินเป็นบวกตลอด แต่ในระดับจุลภาค ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงานของประชาชนระดับล่าง ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่การทำให้ยุทธศาสตร์เคลื่อนตัวสู่สมดุลใหม่นั้น มีต้นทุนแพงลิ่ว โดยเฉพาะต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ้
นายวาตานาเบะ ระบุว่า เป้าหมายยุทธศาสตร์ดอลลาร์อ่อนของทรัมป์ จะทำให้เกิดแรงเหวี่ยงที่คาดเดาได้ยากมากในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก เพราะเป้าหมายของทรัมป์จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินเยนที่ระดับต่ำกว่า 100 เยนต่อดอลลาร์ แต่ตลาดเงินทั่วไป จะออกมาต่อสู้ให้สามารถรักษาค่าดอลลาร์ไว้ที่ระดับ 107-115 เยนต่อดอลลาร์ในปีนี้
การต่อสู้ดังกล่าว ยากจะบอกได้ว่าใครจะแพ้หรือชนะ แต่จะทำให้ตลาดปั่นป่วนอย่างมากที่สุดอีกปีหนึ่ง และส่งผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นหรือตลาดเก็งกำไรอื่นๆ ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น นายวาตานาเบะยังคาดเดาว่า แรงผลักดันเพื่อให้การส่งออกดีขึ้นตามเป้าหมาย จะต้องถูกแรงกดดันจากการที่ต้องสั่งซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพงขึ้น หากค่าดอลลาร์อ่อนลง เป็นต้นทุนที่สหรัฐจะต้องจ่ายในราคาแพงเช่นกัน
คำพยากรณ์ที่หลายคนต้องเงี่ยหูและพิจารณาอย่างมากของนายวาตานาเบะคือ เขาคาดว่า ผลลัพธ์ของความพยายามทำให้ดอลลาร์อ่อน ที่ต่อสู้กับ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐจะรู้แน่ชัดภายในฤดูใบไม้ร่วงปลายปีนี้ ไม่ต้องรอกันเนิ่นนาน
นั่นหมายความว่า ข้อเท็จจริง และความเคลิบเคลิ้มของจินตนาการ จะมาถึงจุดชี้ขาดว่าฝ่ายไหนจะครอบงำนโยบายดอลลาร์ของสหรัฐ
ไม่มีใครในยามนี้ ที่สามารถวิเคราะห์อย่างแหลมคมถึงระดับ “ควักกล่องดวงใจ” ของยุทธศาสตร์เศรษฐกจิเรื่องดอลลาร์ของสหรัฐอย่างถึงรากเช่นนี้มาก่อนเลย
ดังที่ทราบกันดีมาช้านานว่า นโยบายเศรษฐกิจหลักของรัฐบาลสหรัฐ นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้ข้อตกลงเบรตตัน วูด ถือว่าดอลลาร์เป็นเสาหลักของสกุลเงินทั่วโลก หรือ Dollar Hegemony
เมื่อข้อตกลงเบรตตัน วูดถูกฉีกทิ้งในรัฐบาลนิกสัน ปี ค.ศ. 1972 ผู้นำสหรัฐต้องหาทางทำให้โลกยังคงต้องพึ่งพาดอลลาร์ต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องค่าดอลลาร์อ่อนหรือแข็งในเชิงเก็งกำไร แต่ทำให้โลกไม่สามารถเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐ
ความยิ่งใหญ่ของค่าดอลลาร์หลังข้อตกลงเบรตตัน วูดถูกยกเลิกไป เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ ปิโตรดอลลาร์ หรือดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก โดยมีกุญแจสำคัญอยู่ที่ ตลาดค้าน้ำมันโลก ซึ่งเป็นตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ขนาดใหญ่สุด ต้องยอมรับใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในการซื้อขาย
ปิโตรดอลลาร์ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 พร้อมกับการเสนอแนะนวัตกรรมใหม่จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว
ข้อตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจ U.S.-Saudi Arabian Joint Economic Commission และข้อตกลงลับเพิ่มเติมว่า ซาอุดีอาระเบียจะโน้มน้าวให้โอเปกยินยอมขายน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลาง และซาอุดีอาระเบียจะนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ล้นเกินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ช่วยรักษาดุลชำระเงินให้เป็นบวกตลอดเวลา (แม้ว่าจะมีภาวะ 3 ขาดดุล (ดุลการค้า ดุลบัญชีเงินสะพัด และดุลบัญชีงบประมาณ) ในบางช่วงที่รุนแรง)
เมื่อดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นเงินสากลสำหรับธุรกิจพลังงาน ผลข้างเคียงคือ ทุกชาติในโลกจำเป็นต้องถือเงินดอลลาร์เอาไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดทางให้เฟดเป็นผู้กำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกผ่านการควบคุมปริมาณดอลลาร์
เสาหลักทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่ทรัมป์และพวกกำลังหาทางสั่นคลอนนี้ เป็นกุญแจสำคัญที่นายวาตานาเบะชี้เตือนถึงอันตรายของนโยบายค่าดอลลาร์อ่อนของทรัมป์ แต่จะได้ผลหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ