อย่าบริหารแบบมโนขี่พายุ ทะลุฟ้า
รัฐบาลปฏิรูปใช้จ่ายเงินทองไปไม่ใช่น้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน หลายๆ เรื่องที่เคยว่ากล่าวรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ไว้ โดยเฉพาะเรื่องการโปรยเงินโปรยทอง ก็อย่าคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำ
ชาญชัย สงวนวงศ์
รัฐบาลปฏิรูปใช้จ่ายเงินทองไปไม่ใช่น้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน หลายๆ เรื่องที่เคยว่ากล่าวรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ไว้ โดยเฉพาะเรื่องการโปรยเงินโปรยทอง ก็อย่าคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ทำ
เพียงแต่เปลี่ยนแบรนด์สินค้าจาก “ประชานิยม” มาเป็น “ประชารัฐ” เท่านั้น
งบประมาณรายจ่ายปี 61 ที่จะใช้กันตั้งแต่ 1 ต.ค.ปีนี้ ปาเข้าไป 2.9 ล้านล้านบาทแล้ว และก็ยังใจกล้าตั้งงบขาดดุลต่อไปอีกถึง 4.5 แสนล้านบาท เพิ่มจากงบประมาณปี 60 ที่ตั้งขาดดุลเอาไว้ 3.9 แสนล้านบาท
การใช้จ่ายเยอะ ก็มิได้หมายความว่า เศรษฐกิจจะฟื้นเยอะตามไปด้วยเสมอไป หากใช้เงินแก้ปัญหาไม่ตรงจุด หรือใช้เงินละเลงไปกับนโยบายที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย
ยิ่งเป็นนโยบายที่เกิดจากการมโนเอาเองโดยปราศจากพื้นฐานข้อมูลความเป็นจริงรองรับ หรือไม่ก็ไปซื้อพ็อคเก็ตบุ๊คของจอมยุทธ์การตลาดมาผลิตเป็นนโยบายต่างๆ มันก็ยากจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้
เรื่องเศรษฐกิจ 4.0 ที่เน้นหนักจะไม่ใช้แรงงานคนเลย เอาไปเอามา มันก็ไม่ได้มาจากตำราเศรษฐศาสตร์เล่มใดเลย แต่เอามาจากนวัตกรรมความคิดของฟิลลิป คอสต์เลอร์ กูรูการตลาดชื่อก้องโลกเท่านั้น
พอคนหนึ่งจุดพลุ คนอื่นๆ ก็พูดตามๆ กันมา และระบาดเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย ตลอดจนกระทรวงทบวงกรมส่วนราชการ เหมือนกับเป็นการเห่อเหิมไปตามแฟชั่น โดยไม่มีองค์ความรู้ที่เป็นจริงอะไรเลย
ของปลอมที่ทำเหมือน มันจะไปสร้างสัมฤทธิผลอะไรที่เป็นจริงไหมเนี่ย!
นี่ก็นโยบายที่ “โคตรมโน” อีกเหมือนกันคือเศรษฐกิจชายแดน ปัญหาก็คือ รัฐจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอาทั้งน้ำ ไฟ ถนนหนทาง เครือข่ายคมนาคมเท่าไหร่ สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในเมืองชายแดนนั้น จะเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่
ตั้งคำถามกันเล่นๆ ว่า มันจำเป็นจะต้องไปลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไหม หากวัตถุดิบยังต้องขนส่งเข้าไปผลิต และหากผลิตเสร็จแล้ว จะระบายออกไปยังชายแดนไปทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออก หรือตะวันตกเลย
แต่หากยังต้องส่งกลับออกมากระจายสินค้าที่กรุงเทพฯ หรือแหลมฉบังกันอีก ก็เท่ากับเป็น “ดับเบิ้ล คอสต์” เป็นต้นทุนซ้ำซ้อนที่มากกว่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจปกติ
ทบทวนกันบ้างไหมหนอว่า จนบัดนี้แล้วมีเอกชนสักกี่รายที่ขานรับนโนบายเศรษฐกิจชายแดนของรัฐบ้าง นอกจากเอกชนที่เขาค้าขายกันดั้งเดิมอยู่แล้ว
นโยบายระเบียงเศรษฐกิจ ซึ่งวาดภาพจะปลุกเศรษฐกิจในแนวตะวันออก-ตะวันตกของประเทศนี่ก็ตลกดีนะ โปรโมทกันครึกโครม ที่แท้ก็จะขยายเศรษฐกิจจากอีสเทิร์นซีบอร์ดกันต่อไปอีก
โถ!พื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดปัจจุบันน่ะมันแน่นขนัดขนาดไหนแล้ว ไหนจะเรื่องการขัดขวางของเอ็นจีโออีก การจะลงทุนอะไรจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ซึ่งถึงจะเป็นรัฐบาลทหารก็เถอะ หาใช่จะกล้าขัดใจอะไรเอ็นจีโอง่ายๆ ดูเรื่องการเปิดประมูลแปลงสัมปทานรอบที่ 21 นั่นปะไร ทหารถอยแล้วถอยอีกอย่างไม่มีเหตุผล
การจะลงทุนอะไร ไม่ใช่เรื่องยากหรอก ขีดความสามารถประเทศไทยก็พ้นจากขีดระดับการขาดแคลนเงินทุนมาช้านานแล้ว
แต่ปัญหาก็คือลงทุนผลิตไปแล้วมีตลาดรองรับไหม
มันจะเป็นการเติบโตทางด้านอุปทาน (ซัพพลาย ไซด์) มากกว่าด้านอุปสงค์ (ดีมานด์ ไซด์) ไป ซึ่งก็จะก่อภาระให้แก่ทั้งเอกชนและภาครัฐเป็นระยะยาวในภายภาคหน้า
ปัญหาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างไร ดูจะเป็นเรื่องของนานาจิตตังไปแล้ว
ถ้าประชาชนทั่วไปก็ยังยืนยันถึงความเงียบเหงาที่สัมผัสได้ แต่ถ้าเป็นคนภาครัฐบาลและราชการก็จะบอกว่า เศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวแล้ว คงจะเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตายไม่ได้หรอก
เอากันแบบกลางๆ ถ้ารัฐบาลมโนน้อยสักหน่อย เศรษฐกิจก็จะฟื้นเร็ว แต่หากมโนมากเศรษฐกิจก็จะสลบยาว แล้วแต่ความพอใจเถอะ ################