DTAC รักต้องรอแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ใครๆ ในแวดวงนักวิเคราะห์หุ้นไทย พากันบอกว่า ปีไก่ทองนี้ ไม่ใช่เวลาเปล่งประกายของหุ้นสื่อสาร .... พูดยังไงก็ไม่ผิด แต่ไม่ถูกทั้งหมด
ใครๆ ในแวดวงนักวิเคราะห์หุ้นไทย พากันบอกว่า ปีไก่ทองนี้ ไม่ใช่เวลาเปล่งประกายของหุ้นสื่อสาร …. พูดยังไงก็ไม่ผิด แต่ไม่ถูกทั้งหมด
เสน่ห์ของหุ้นสื่อสารที่เป็นหุ้นระดับโอเปอเรเตอร์ใหญ่ที่ตอนนี้ พูดกันตรงๆ อยู่ในกำมือ 3 ยักษ์ใหญ่ (เรียงตามลำดับใหญ่ ไม่ได้ตามกำไรขาดทุน) คือ 1) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC 2) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE 3) บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ล้วนหดหายไปอย่างมากนับแต่กลางปี 2559 เป็นต้นมา และจะยังเกิดขึ้นกับตลาดในปีนี้
ไม่หดหายก็เกินไปแล้ว เพราะงบบริษัท ที่ประกาศออกมาสิ้นงวดไตรมาสสี่ และสิ้นงวดปีรวม ออกมาแล้วขี้เหร่เหลือจะพรรณนาหรือบรรยาย
ADVANC รายงานตัวเลขกำไรสุทธิไตรมาสสี่ ลดจาก 8.5 พันล้านบาทของระยะเดียวกันปีก่อน เหลือ 6.2 พันล้านบาท ทำให้กำไรสุทธิทั้งปี หดหายจาก 3.92 หมื่นล้านบาทปีก่อน มาอยู่ที่ 3.07 หมื่นล้านบาท และ ต้องลดจ่ายปันผลงวดท้ายปีลงเหลือแค่หุ้นละ 4.29 บาท โดยลด dividend payout จากเดิม 100% มาเหลือแค่ 70% เพื่อประหยัดเงินสด
งานนี้ ส่งผลต่อ INTUCH อย่างช่วยไม่ได้ เลี่ยงไม่พ้น จ่ายปันผลลดฮวบฮาบแน่นอน
เมื่อหมายเลขหนึ่งในตลาดมีการเดินเซ หมายเลขสามอย่างดีแทคย่อมไม่ดีกว่ากัน คาดเดาไม่ยาก แต่อย่าคาดเดาเลย… กำไรลดต่ำสุดในรอบ 14 ปี ถือว่าเลวร้ายสุดๆ
แม้จะไม่ถึงขั้นเลวร้ายอย่าง TRUE ที่คาดล่วงหน้าได้เลยว่าขาดทุนแน่ แต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น… ราคาหุ้นที่ร่วงแบบซึมยาวมาอยู่ที่ 6.40 บาท ส่งสัญญาณมาแต่ไก่โห่ … แต่ที่ร้ายกว่านั้นสำหรับคนถือหุ้น DTAC อยู่ที่ บอร์ดบริษัทมีมติจะขอไม่จ่ายปันผล
แสดงว่า เงินสดเข้าสู่สภาพฝืดเคืองและ “ต้องเขียมสุดๆ” แม้ถึงไม่ถึงขั้นเลวร้าย แต่ขอปลอดภัยไว้ก่อน เพราะยามนี้ค่า ดี/อี อยู่ที่ 3.4 เท่าเข้าไปแล้ว
DTAC รายงานกำไรสุทธิของไตรมาสสี่ชนิดช็อกนักวิเคราะห์ และผู้ถือหุ้น เพราะกำไรสุทธิเหลือแค่เพียง 30 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน 97% และ 95% จากไตรมาสสาม (แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ 264 ล้านบาท)
ผลของไตรมาสสี่ ทำให้กำไรสุทธิทั้งปี 2559 อยู่ที่ 2,086 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 65% และเป็นกำไรที่ต่ำสุดในรอบ 14 ปี
เหตุผลในเรื่องการแข่งขันที่ทำให้ DTAC สูญเสียลูกค้าให้กับคู่แข่งต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้บริการหายไป 8 แสนราย เหลือแค่ 24.5 ล้านราย กดดันรายได้ให้บริการหดตัวในอัตราเร่ง เป็นแค่ข้ออ้างขอคะแนนสงสาร เพราะกำไรที่ลดลงเป็นแค่เจตนาตามปกติ
เหตุผลคือ กำไรที่ลดฮวบมาจากการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ภายใต้สัมปทาน ที่ใกล้จะหมดอายุในอีก 2 ปีเศษข้างหน้า เพิ่มในงบเดี่ยว -5,185 ล้านบาท เกิดผลขาดทุนสะสมในงบเดี่ยว -1,189 ล้านบาท แถมยังมีรายการพิเศษเพิ่มคือ รายจ่ายพิเศษปรับโครงสร้างองค์กร 146 ล้านบาท…(งบจ้างพนักงานออกจากงานน่ะแหละ พูดให้สวยเท่านั้น)
มองโลกในทางร้าย จะบอกว่าบอร์ดเจตนาไม่อยากจ่ายเงินปันผล… ก็เกินไป
คงไม่มีบอร์ดบริษัทไหนอยากทุบกำไรตัวเองหรอก ยกเว้น…จู่ๆ หนูก็เพี้ยน
แต่ที่แน่ๆ คือที่กำไรลดเพราะมีรายการพิเศษ มากกว่าปกติ แค่นั้น
ราคาหุ้นที่ร่วงแรงจากราคาสูงสุดครั้งสุดท้ายเหนือ 46.00 บาท หลังจากผิดคาด และนักวิเคราะห์ “ขาทุบ” บางสำนักถือโอกาส “แช่งซ้ำ” ด้วยการบอกว่าราคาเหมาะสมปีนี้คือ 31.00 บาท
ไม่อยากเชื่อ แต่เพื่อความปลอดภัย ก็ต้องขายตัดขาดทุนไปก่อน ทั้งที่ความจริงเบื้องหลัง ไม่ได้เลวร้ายเหมือนคาดกี่มากน้อย
งานนี้ มุมมองที่ต่างจากนักวิเคราะห์ก็ยังมี แถมยังมองดีมากอีก ก็น่ารับฟังไม่น้อย
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ในระยะสั้นการที่ DTAC งดจ่ายเงินปันผลนั้น เป็นสัญญาณว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะควบคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Financial Leverage) ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด และการลงทุนในคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเนื่องจาก DTAC สามารถเตรียมตัวสำหรับการลงทุนในคลื่นความถี่ที่น่าจะอยู่ในระดับสูงในปี 2561 ฟิทช์คาดว่าบริษัทจะมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เป็นบวกในปี 2560
ข้อดีที่สุดจากไม่จ่ายปันผล คิดในเชิงบวกคือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท จะเพียงพอสำหรับเงินลงทุนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7-2.0 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) น่าจะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.6 เท่าในปี 2560 จาก 1.9 เท่าในปี 2559 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถของบริษัทในการรองรับการลงทุนในโครงข่าย และคลื่นความถี่ใหม่ในปี 2561 ได้
เรียกว่าดีในระสั้น …. แต่ แรงกดดันระยะกลางกับยาวยังถาโถมเข้าใส่และอาจจะเป็นปัจจัยลบได้
แรงกดดันที่ว่าคือ DTAC มีความจำเป็นต้องมีคลื่นความถี่ใหม่ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเพื่อมาทดแทนคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทาน และรองรับการเติบโตของการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยยังคงรักษาคุณภาพการให้บริการ เพราะว่า… คลื่นความถี่ส่วนใหญ่ที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 35 MHz นั้นอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานซึ่งมีระยะเวลาเหลือสำหรับใช้งานที่สั้นและจะหมดอายุในปี 2561 ในขณะที่คลื่น 2.1 GHz จำนวน 15 MHz ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตนั้น ไม่น่าจะเพียงพอในการรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้าได้
บทสรุปคือ สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลงของ DTAC จากการที่ส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้ลดลงต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา น่าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตในระยะกลาง 1-2 ปีข้างหน้า
สำหรับอนาคตปี 2560 ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมรายได้จากค่าเชื่อมโยงเครือข่าย) ของ DTAC จะปรับตัวลดลง 1.0%-2.0% ในปี 2560 (ปี 2559 ปรับตัวลดลง 2.3%) เนื่องจากบริษัทน่าจะยังคงสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง
จะบอกว่า ปีนี้ไม่ใช่ปีของหุ้น DTAC … เพราะต้องการเวลาไปเสริมสาว หรือทำรีแพร์เสียก่อน
งานนี้ บรรดานักช้อนหุ้นที่ “ไม่อ่านงบ ไม่ดูกราฟ และไม่ทำการบ้าน” คงต้องเปลี่ยนนิสัยกันหน่อย โดยเฉพาะขาประจำหุ้นสื่อสารทั้งหลาย ที่ทำกำไรกันมานาน เพราะว่า… จากนี้ไปไม่เหมือนเดิม
แต่ไม่ใช่ว่าไปแล้วจะไปลับ … โอกาสกลับมาใสปิ๊งยังมีให้เห็น แต่ไม่ใช่ปีนี้
รักสิบล้อ ต้องรอสิบโมง ว่างั้นเถอะ
รอได้ อ๊ะป่าววววว